ปตท. พร้อมเข้าสู่ตลาดการค้า ‘คาร์บอนเครดิต’ ตามเป้าหมาย Net Zero Emission

หากมีคำถามเกิดขึ้นว่ามีเหตุการณ์การตื่นตัวในการดูแลชั้นบรรยากาศโลกของนานาประเทศเริ่มต้นจากจุดใด อาจต้องย้อนไปถึงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง (Greenhouse Gases : GHG) ให้ได้ 5% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1990 ต่อมาในการประชุมที่กรุงปารีส (COP 21) ค.ศ. 2015 มีการเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ (Paris Agreement) เป็นการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ มีการคาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) หรือก็คือการพยายามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดภายในปี ค.ศ. 2050

ดังนั้น นานาประเทศจึงประกาศเป้าหมาย Net Zero ของตนเอง โดยประเทศที่มีการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่น้อย เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ตั้งเป้าหมาย Net Zero ไว้ในช่วงปี ค.ศ. 2030-2045 ส่วนในประเทศจีน ประกาศลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2060 ประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ประกาศลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาและยังไม่มีข้อสรุป 

รายชื่อประเทศที่ประกาศ Net Zero (Source: https://eciu.net/netzerotracker)

เพื่อให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปถึงเป้าหมาย หลายประเทศต่างออกกฎเพื่อรองรับและเป็นเครื่องมือบังคับใช้ เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพิ่มเติมจากผู้ที่ปล่อยคาร์บอนเกินกำหนด หรือการเก็บภาษีเพิ่มเติมในธุรกิจที่ใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และในบางประเทศนั้นใช้ระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System : ETS) ซึ่งเป็นระบบ Cap and Trade โดยอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย (Cap) สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ ก๊าซเรือนกระจกที่ทำการ ซื้อ-ขาย (Trade) นี้ เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” หลักการนี้ เป็นที่มาของการประเมินมูลค่าคาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 1 ตัน เป็นตัวเงินเพื่อซื้อขายระหว่างบริษัทที่อยู่ในภาคบังคับด้วยกัน การเปิดให้มีการซื้อขายหรือมีตลาดคาร์บอนเครดิตนี้ ช่วยทำให้ต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมลดลงได้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้ระบบ ETS เป็นเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแต่ละตลาดก็มีกฎระเบียบ ข้อบังคับแตกต่างกันไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศ แต่ตลาดที่ใหญ่และมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดที่สุดคือ สหภาพยุโรป ซึ่งมีทั้งหมด 27 ประเทศ ครอบคลุมบริษัทมากกว่า 10,000 แห่ง มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เรียกว่า EU Allowance (EUA) โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา มีการซื้อขาย EUA สูงถึง 8,090 ล้านตันเทียบเท่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และล่าสุดราคา 1 EUA มีมูลค่าถึง 52.86 ยูโรต่อตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค. 64) 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Market) เพื่อจูงใจให้ประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลง Net Zero มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปิดโอกาสให้โครงการที่ช่วยลดหรือช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) การดูแลและฟื้นฟูสภาพป่าและการใช้พื้นที่ (Agriculture, Forestry and Other Land Use – AFOLU) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานในระดับสากล เช่น Verra (Verified Carbon Standard), Gold Standard เข้าตรวจสอบ ประเมิน และออกใบรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปใช้ในการซื้อขาย โดยตลาดหลัก คือ ตลาด Over The Counter ผู้ซื้อส่วนใหญ่ คือ องค์กรหรือบริษัทที่มีนโยบายมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ Environmental, Social, and Governance (ESG) เช่น Microsoft, Apple และ Google ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท S&P Global Platts ผู้ประกาศราคาอ้างอิงการซื้อขายน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้เริ่มประกาศราคาเพื่อใช้อ้างอิงในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสำหรับโครงการ Carbon Offsetting & Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Platts ได้ประกาศราคาคาร์บอนเครดิตอีกสองประเภท คือ ราคาจากโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Nature-Based Carbon Credits) และคาร์บอนเครดิตสำหรับการซื้อขายเที่ยวเรือ LNG แบบไร้คาร์บอน (Carbon Neutral LNG) 

การประกาศดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มเป็นที่นิยมและอาจมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต 

สำหรับประเทศไทย มีเป้าหมายท้าทายที่จะต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี ค.ศ.2030 ตามข้อตกลงปารีส (COP21) ซึ่งหน่วยงานด้านพลังงานของไทยตื่นตัวมากขึ้น ทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของประเทศอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT โดยฝ่ายการค้าอนุพันธ์ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ทำการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการ ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เช่นกัน

 นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความพร้อมดังกล่าวว่า หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้ทำการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต ทั้งการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าผ่านตลาดอนุพันธ์ ICE ซึ่งเป็นตลาดที่ ปตท. มีบัญชีสำหรับการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าอยู่แล้ว และยังมี บริษัท PTT International Trading London Ltd. (PTTT LDN) ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อันเป็นศูนย์กลางการค้าอนุพันธ์ในทวีปยุโรป ที่สามารถช่วยสนับสนุนและรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ทันทีที่มีความต้องการ รวมทั้งการซื้อขายผ่านตลาด Over The Counter ที่ ปตท. มีเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่เริ่มเตรียมความพร้อมในด้านนี้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการพัฒนาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมากที่สุด อยู่ที่การประชุม COP 26 ณ กรุงกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่จะมีการพิจารณารายละเอียดของ Paris Agreement, Article 6 ที่มีสาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์และโครงสร้างการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายทำได้เฉพาะภายในประเทศ หรือในกลุ่มพื้นที่อยู่ภายในภาคบังคับร่วมกันเท่านั้น ดังนั้น หากที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ ก็จะเป็นตัวเร่งให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป