เปิดอก 4 ด่านหน้า “ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์-คำรณวิทย์-หมอฉัตรชัย-หมอสุภัทร” ในวันปัญหาโควิดรุมเร้า

ในวันโควิดระบาดอย่างหนัก ยังมี 4 คนด่านหน้า ที่กล้าชนกับความอุ้ยอ้ายของระบบราชการ ทุ่มเทแรงกายลงพื้นที่ฝ่าฟันปัญหา ออกมาพูดสะท้อนภาพความจริงจากสิ่งที่เห็นและเป็นปากเสียงให้กับประชาชน ผู้ว่าวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี พ่อเมืองสมุทรสาคร ที่พูดแทนใจชาวบ้านอย่างเราว่า “ในภาวะสงครามโควิด แม้แต่หมอยังทะเลาะกัน คนที่เป็นประชาชนอย่างผมจะเชื่อใคร” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ลุยช่วยโควิดตั้งแต่เป็นผู้สมัคร อบจ.ปทุมธานี ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ก็แก้ปัญหาเชิงรุกลุยหมู่บ้าน พ่นยาฆ่าเชื้อ ส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อ จนตัวเลขของปทุมธานีลดลงอย่างรวดเร็ว, ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.รพ.สนามธรรมศาสตร์ ผู้ยืนหยัดทำงานหนักกับโควิดทุกระลอก และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้กล้าบอกความจริงเรื่องระบบสาธารณสุขไทย และอยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเห็นความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ ที่สุดแสนเศร้า

เปิดใจ ‘ผู้ว่า ปู’ ในวันที่สมุทรสาครยังสาหัส

“บางสิ่งบางอย่างต้องยอมรับให้ได้ก่อน ต้องช่วยกันก้าวข้ามระเบียบขั้นตอนไปก่อน ต้องเข้าใจว่าโควิดมันไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ อะไรที่แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ต้องมาก่อน ระเบียบเอาไว้ที่หลัง ความเป็นความตายของประชาชนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ใช้ระบบอนาล็อกมันไม่ทันการณ์”

เป็นประโยคเปิดใจที่ได้ยินจาก “ผู้ว่าฯ ปู” นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในงาน “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน มหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งใหญ่แห่งปี ที่ “เครือมติชน” ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ จัดเวทีทอล์ก “เรื่องเล่าคนด่านหน้า : เมื่อเสี้ยววินาทีคือชีวิต” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ดีที่สุดของเครือมติชน

“ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์” ประเดิมฉายภาพให้เห็นปัญหาการแก้โควิดในตอนนี้ว่า ระเบียบขั้นตอนทำให้การแก้ไขปัญหาช้า ไม่ใช่แค่ช้าไป 1 ก้าว แต่ช้าไปหลายก้าว โดยหากไม่มีการดำเนินการที่เร่งรัด จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว อย่างชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) กว่าจะเป็นที่ยอมรับได้ ยุ่งยากมาก ตอนนี้ไม่ใช่ยอมรับเรื่องประสิทธิภาพ แต่กลายเป็นยอมรับเพราะว่าไม่มีทางออก ในฐานะผู้ว่าฯ ผมต้องทำให้ดีที่สุด แต่ผมไม่ใช่ผู้วิเศษ ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงาน และชาวสมุทรสาครทุกคน

ย้อนไทม์ไลน์ตั้งแต่เกิดการระบาดในสมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ “ตลาดกลางกุ้ง” ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อใหญ่ ตัวผู้ว่าฯ ได้ลงพื้นที่หลายที่ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหน้าบ้านพัก ก่อนจะติดโควิดจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ต้องอยู่ รพ.ศิริราช 82 วัน แถมยังมีเอฟเฟคที่ติดตัวตามมาคือ สุขภาพที่แย่มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอาการเกร็งด้านขวา ผู้ว่าฯ ปู บอกว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือ การตอบสนองหรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่ทันการณ์ วัคซีนได้มาไม่ตรงตามที่เราอยากจะได้ จึงออกคำสั่งให้ทำโรงพยาบาลสนามในโรงงานเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากสมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อรายวันแตะระดับเกือบ 2,000 คน ปัจจุบันจึงทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้นเกือบ 50,000 เตียง จากโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 200 แห่ง แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยอมเลือกที่จะช่วยกันทำเรื่อง รพ.สนามในโรงงาน ถ้าไม่เลือกทางนี้ ต้องปิดโรงงาน เป็นคำตอบเดียวของผู้ประกอบการในตอนนี้ ซึ่งทำให้ตนเริ่มเห็นแสงในอุโมงค์ ยังพอมีความหวังอยู่บ้างในสถานการณ์ที่เลวร้ายในปัจจุบัน

“ถ้าพร้อมใจกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน น่าจะก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้ แต่วันนี้หมอทะเลาะกัน แล้วทีนี้คนที่เป็นประชาชนอย่างผมจะเชื่อใคร ในภาวะนี้มันเป็นสงคราม ระเบียบทำให้เรารับมือกับสงครามได้ล่าช้า ATK ต้องระวังการใช้ให้ดี ควรใช้ในกลุ่มเสี่ยงได้หรือ วันนี้เรารอระเบียบ รอการดำเนินงานที่ตรงตามขั้นตอนไม่ได้ โปรดจงมองข้ามไป”

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ปู ยังให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการลาออก ที่ก่อนหน้านี้ท่านได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการได้ตัดสินใจจะยื่นหนังสือลาออกจากราชการ และมีประโยคที่เขียนว่า “สู้ไม่ไหวแล้วจริงๆ พอแล้ว จบแล้ว” ทำเอาหลายคนใจหายและรู้สึกเสียดายในความสามารถ เพราะเป็นนักปกครองที่ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งประเด็นนี้ผู้ว่าฯ ปู ก็ได้ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า 

“เกี่ยวกับสุขภาพเป็นหลัก คนที่ทำงานรับราชการ จุดหมายปลายทางก็อยากอยู่จนเกษียณ แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์สมุทรสาครตอนนี้ เป็นนัมเบอร์วัน คนที่จะทำงานตรงนี้ได้ต้องคล่องแคล้วกว่าผม สุขภาพดีกว่าผม ถ้าสามารถตอบสนองได้รวดเร็วได้มากยิ่งขึ้น น่าจะแก้ปัญหาได้เร็ว ประโยชน์ส่วนรวมของจังหวัดต้องมาก่อน ถ้าผมยังอยู่ จะเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ ผมไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยลำพัง ต้องอาศัยหลายส่วนร่วมกัน”

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ปู ก็ได้ย้ำชัดอีกครั้งว่า การแก้ปัญหาโควิดในตอนนี้ว่า “การกระจายอำนาจ” คือคำตอบ ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของประเทศอย่างยิ่งในอนาคต

‘ปทุมธานีโมเดล’ สู้ไวรัสต้องไม่มีวันหยุด และเอาเรื่องจริงมาพูดกัน

“พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้มีบทบาทในการเดินหน้าจองและจัดซื้อวัคซีนทางเลือกให้ชาวปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดที่ติดกรุงเทพฯ มีนิคมอุตสาหกรรม มีตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง มีชุมชนตามคลองต่างๆ เยอะมาก ช่วงที่มีคลัสเตอร์ตลาดพรพัฒน์ ตนในฐานะที่ กกต. ยังไม่รับรองช่วงนั้น ก็หารือตั้งกองทุน ซื้อน้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิด-19 ไปก่อน พยายามทำทุกอย่าง

“ด่านหน้าอย่างผม หารือ และเร่งหา Rapid Antigen Test เริ่มแรกยืมมา 10,000 เทสต์ รู้ผลภายใน 3-5นาที แม่นยำ 98.2% ถ้าผลเป็นบวก ส่งสวอบซ้ำ ระหว่างรอผลก็ขอร้องให้อยู่บ้าน ผมไปฉีดพ่นยาให้ที่บ้าน ส่งอาหารให้ ผมตรวจเชิงรุก อันนี้คือสิ่งที่ทำ มาถึงวันนี้ เข้าโหมดการฉีดวัคซีน ตรวจ Rapid Antigen Test ผลเป็นบวก ผมให้ยาสมุนไพรไปกิน และส่งอาหาร 5 วัน ก็ให้กลับมาตรวจซ้ำ หลายรายผลเป็นลบ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเดินหน้าหาวัคซีน ผมกล้าจองวัคซีน 50,000 โดส ซึ่งคำนวณจากยอดประชาชกรแล้วว่าถ้าคนปทุมฯ ฉีดได้ 60-70% จะรอด ตอนนี้ได้มาแล้ว 55,500 โดส กำลังเร่งฉีดที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค วันละ 1 หมื่นคน แรงงานต่างด้าวก็ฉีดให้ คนที่มาทำงานที่ปทุมก็ฉีดให้”

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวอีกว่า วันนี้ที่ทุกอย่างล่าช้า เพราะการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้วิธีเดิมๆ ร่างกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) มีกรรมการตรวจรับ โควิดไม่มีวันหยุด ทำไมรัฐซึ่งมีอำนาจ มี พรก.ฉุกเฉิน ถึงไม่รีบจัดซื้อจัดจ้างมาให้ทันสงครามไวรัส ภาพรวมของประเทศวันนี้ พี่น้องประชาชนติดเชื้อมากกว่า 20,000 คน เสียชีวิตเคยแตะถึง 300 คน มันหนักหนาแค่ไหน วันนี้ผมไปเพิ่มเตาเผา ต้องขอโลงศพ เอาศพไปทิ้งไว้ศาลา เผาเสร็จเอากระดูกเก็บไว้ก่อน ดังนั้นการแก้ปัญหาโควิดได้ กระบวนการ ระเบียบต่างๆ ต้องใช้กับสถานการณ์ไวรัสได้ ฉีดวัคซีนให้เยอะที่สุด และเร่งตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ด้วย

“ผมไม่เคยมีวันหยุด ทำงานกันทุกวัน เพราะไวรัสไม่หยุดระบาด การที่ผมตั้งชุดฉีดพ่นยา ผมมาถูกทางแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เอาปทุมฯ เป็นจังหวัดแรก ที่เราจะปูพรมเชิงรุก ตรวจ และให้ยาฟาวิพิราเวียร์ และที่ผมแก้ปัญหาก่อนหน้านี้ ให้ยาสมุนไพร ตอนนี้เกือบมั่นใจแล้วว่าใช้ได้ เชื่อว่าปทุมฯ ต้องรอด ผมเป็นนักการเมือง และผมต้องเอาประชาชนเป็นหลัก”

‘โรงพยาบาลสนาม’ ยังคอย! วัคซีนคุณภาพมาตรงเวลา

ด้าน “ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ “ประชาชนช่วยประชาชน” ระบบราชการไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ในฐานะเป็นบุคลากรที่อยู่ด่านหน้า พวกเราทุกคนยังเต็มที่กับการทำงาน ยินดีที่จะทำงานหนัก และทำอย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยคนไทยทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้

“ทุกอย่างมันต้องเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ตั้ง รพ.สนาม จะจบในตัวเอง คนไข้โควิดสีเขียวแย่ ก็ต้องย้ายมา รพ.สนาม ในแง่การดูแลถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว ติดใหม่เยอะ คนไข้เสียชีวิตเยอะ ที่ต้องการได้รับการดูแลใน รพ. ก็อีกเยอะ บางทีเราต้องตัดสินใจ เลือกคนไข้ที่อยู่ ICU ที่เราหมดหวัง พูดคุยกับญาติให้ดูแลประคับประคองและย้ายออกจาก ICU พอมีการเสียชีวิต ก็มีการเกิดปัญหาคือ ญาติไม่สามารถเอาคนไข้กลับบ้านได้ ต้องฝากไว้ ทำให้ล้น รพ. และอีกปัญหาคือ ตอนนี้บุคลากรเริ่มมีการติดเชื้อจากที่ทำงานมากขึ้นแล้ว”

ขณะที่การจัดสรรวัคซีน ผศ.นพ.ฉัตรชัย ได้เผยว่า ไม่ได้มีความชัดเจนมากขึ้น ถึงเวลาจริงไม่ได้ หรือได้ช้า ซึ่งมองว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่มีการใช้ระบบราชการ เป็นปัญหาอย่างมาก แม้จะบอกว่าใช้เร่งด่วนได้ แต่ก็ติดตรวจสอบ ส่วนตัวคิดว่าที่ทำให้มองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์คือ การรับบริจาค เช่น เตียงสนาม บริจาคมาก็ทำให้เราเปิดรับได้เร็ว ถ้ารอจัดซื้อจัดจ้าง 1 เดือนก็ยังไม่ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ หากใช้ระเบียบราชการเดิมในการแก้ปัญหา คงจะถูกแก้เป็นท่อนๆ หรือจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น คนเข้าสู่กระบวนการตรวจไม่ได้ ตรวจแล้วเข้า รพ.สนามไม่ได้ เข้า รพ.หลักไม่ได้ ท้ายที่สุดก็จะเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา ดังนั้น ต้องเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ 

“การบูรณาการของข้อมูล จำนวนวัคซีนที่บอกว่ามีเท่าไร ไม่รู้มีจริงหรือไม่ ถึงเวลาจริงไม่มา หน้างานก็มานั่งแก้ปัญหา ตอนนี้ก็กำลังทำเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ แทบทุกโรงพยาบาล หน้างานต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ครุภัณฑ์ ยา เครื่องช่วยหายใจต่างๆ ต้องใช้อยู่ตลอดเวลา ถ้าใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้าง ก็ยากลำบาก งบประมาณช้า 3 เดือนกว่าจะมา ทั้งที่เราใช้หมดทุกวัน จึงอยากให้จัดตั้งศูนย์ที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะ ที่เราสามารถระบุสิ่งของที่ต้องการ ไม่ต้องไปนั่งทำจัดซื้อจัดจ้าง มีคนดำเนินการให้เรา ตรงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก”

“หมอชนบท” เศร้าใจ! ฉายภาพคนจนเมืองกรุง ‘โคตรอึดและอดทนสูง’

เมื่อหมอชนบทเข้ากรุง จึงเห็นว่าความเหลื่อมล้ำของระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังสูง “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกที่กรุงเทพฯ ยกเคสการรักษาสุดเศร้าในหมู่บ้านเอื้ออาทร จ.นครปฐม ที่ทั้งบ้านแออัดและพบผู้สูงอายุที่ป่วยโควิด วัย 84 ปี ต้องทำ Home Isolation ที่บ้าน เพราะเตียงเต็ม จะไปถึงมือหมอก็ต่อเมื่ออาการหนักเท่านั้น และสุดท้ายก็ได้รับข่าวร้ายว่าคุณยายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

ความเหลื่อมล้ำที่สองที่พบคือ การเข้าถึงวัคซีนของคนในชุมชนแออัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้ ตนและทีมงานหมอชนบท ได้รับวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขมาจำนวนหนึ่ง และลงพื้นที่ชุมชนริมคลองสามเสน ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่ไม่ไกลจากจุดฉีดวัคซีนบางซื่อซึ่งผู้สูงอายุฉีดได้ฟรี แต่กลับมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยในชุมชนแออัดยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่อำนวยให้เดินทางออกนอกพื้นที่เนื่องจากเป็นผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียง

และความเหลื่อมล้ำที่สามที่พบคือ การเข้าไม่ถึงบริการที่ควรได้รับ ยกตัวอย่างการตั้งจุดตรวจเชิงรุกให้กับชุมชนในเขตลาดกระบัง มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่เขาตรวจด้วยตนเองจาก ATK แล้วผลเป็นบวก และมาขอ ตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพื่อขอคำยืนยัน และขอยาฟาวิพิราเวียร์จากเรา ในวันนั้นเราตรวจประมาณ 1,300 เคส และพบว่าติดโควิดประมาณ 200 คน และมีคนถือผลที่ตรวจด้วยตัวเองมาขอยาอีก 20-30 คน

ทั้งหมดเป็นความเหลื่อมล้ำที่แม้จะมาเยือนกรุงเทพฯ เพียง 3 ครั้ง และเจอกับตัวเองจังๆ

ส่วนข้อเสนอที่แม้จะคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังต้องบอกความจริง เพราะระบบราชการที่อุ้ยอ้ายเชื่องช้า ขณะที่การระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสทำงานเร็วและไม่มีวันหยุด โรงพยาบาลต้องการงบประมาณที่เป็นเงินสด เพราะรายจ่ายในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้สับสนและยุ่งเหยิง การเบิกจ่ายตามระบบและต้องเขียนโครงการทำไม่ได้ เช่น พัดลม ห้องน้ำมีไม่เพียงพอ เมื่อไม่มีงบเงินสด ก็ต้องขอบริจาคจากประชาชนหรือพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น ซึ่งประชาชนก็ช่วยบริจาคเพราะอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น ทุกวันนี้ต้องขอบคุณคนไทยที่ช่วยกันบริจาค เพราะไม่อย่างนั้น สถานการณ์ต่างๆ คงจะแย่ไปกว่านี้

สุดท้าย ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า “ต้องกระจายอำนาจสุดโต่ง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันสู้ภัยสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้ คนไทยต้องได้วัคซีนที่มีคุณภาพอย่างเร็วที่สุด และชุด ATK ก็ต้องได้คุณภาพ ศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม ก็ยังต้องมีและขยายกันต่อไป เพราะสถานการณ์คาดเดาไม่ได้”

สิ่งสำคัญที่สุดในการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ คือพลังที่อยู่ข้างในของคนไทยทุกคน พลังที่อยากจะเห็นสังคมไทยดีขึ้น หลายคนทำจิตอาสาช่วยงานโรงพยาบาล คนมีกำลังช่วยบริจาค และสุดท้ายไม่อยากให้ลืมปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับความเดือดร้อนและทุกข์แสนสาหัสเช่นกัน รวมถึงอยากเห็นคนไทยช่วยกัน “ช่วงนี้นายจ้างก็ต้องดูแลพนักงานให้ดีที่สุด อย่าปล่อยให้เขาตกงานจนต้องไม่มีข้าวกิน หรือเพื่อนบ้านติดกัน ช่วยดูแลใส่ใจ ในช่วงกักตัวหรือช่วงที่เขาป่วยและต้องการความช่วยเหลือ”

ทั้งหมดก็เพื่อช่วยชีวิตผู้คนให้ได้มากที่สุด ทุกเสี้ยววินาทีคือ “ชีวิต” และการยื้อลมหายใจของผู้ป่วยโควิด จึงเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในตอนนี้

โควิดยังไม่หายจากสังคมไทยไปง่ายๆ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ในเครือ “มติชน” จึงจัดเต็ม! “Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน มหกรรมสุขภาพออนไลน์ครั้งสำคัญแห่งปี ที่ชวนทุกคนค้นพบทุกคำตอบ หาทางออกยุคโควิดแบบเข้าเป้าทุกประเด็นที่นี่ที่เดียว 18 – 22 สิงหาคมนี้

 

#เครือมติชน #ประเทศไทยไปต่อ #มติชน #ข่าวสด #ประชาชาติธุรกิจ #Healthcare2021 #วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน