จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเมื่อค่ายรถจากจีนเริ่มรุกหนัก เอ็มจีขึ้นแท่นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้า รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อร่วมหยุดยั้งวิกฤตโลกร้อน จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เพื่อกำหนดโรดแมปสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย คลอดนโยบาย “30@30″ ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) : ปี 2564-2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน ระยะที่ 2 : ปี 2566-2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 3 : ปี 2569-2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30  

MG ชิงธงผู้นำยานยนต์ไฟฟ้า

ต้องยอมรับว่า ค่ายรถยนต์ที่ขานรับและตอบสนองนโยบายผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทยได้อย่างรวดเร็ว คงไม่มีใครเกินค่ายเอ็มจี บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ MG ในประเทศไทย

ถือเป็นผู้บุกเบิกรถยนต์พลังงานทางเลือกในประเทศไทยอย่างจริงจัง ผู้บริหารของเอ็มจียืนยันว่า ต้องการร่วมผลักดันประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตามแนวทางของรัฐที่มุ่งเดินหน้าวางรากฐานการใช้งานรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน เพื่อกระตุ้นคนไทยให้เห็นความสำคัญและผลลัพธ์ของการใช้พลังงานสะอาด MG เปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นเจ้าแรก ด้วยเอสยูวี MG ZS (EV) แล้วตามออกมาอีก 2 รุ่น MG HS PHEV แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด และล่าสุด MG EP รถยนต์ไฟฟ้า 100% ราคาต่ำกว่าล้านบาท ส่วนปี 2565 MG ยังเตรียมเปิดตัวรถยนต์พลังงานทางเลือกสู่ตลาดเมืองไทยอีกอย่างน้อย 3 รุ่น พร้อมเดินหน้าแผนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สะท้อนความมุ่งมั่น และความเอาจริงเอาจังในการสร้างสังคมยานยนต์ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในประเทศไทย    

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า MG ในฐานะผู้ริเริ่มการสร้างสังคมรถยนต์พลังงานทางเลือก และครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดกว่า 90% ของกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ได้สะท้อนแนวทางร่วมผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยให้ความสำคัญ และเอาจริงเอาจังด้วยการสนับสนุนให้คนไทยรู้จัก และเข้าใจในประโยชน์ระยะยาวของการใช้พลังงานสะอาด เพื่อเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปูพรมสถานีชาร์จทั่วไทย

การรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ MG นอกจากจะเน้นความรวดเร็วด้วยการส่งโปรดักต์ใหม่ลงตลาดอย่างต่อเนื่อง MG ยังพยายามสร้างอีวีอีโคซิสเต็ม (EV Ecosystem) ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เน้นบทบาทสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดและเป็นที่นิยมในบ้านเรา ปัจจุบันมีผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ MG ในยุโรปมากกว่า 20,000 คัน เฉพาะประเทศไทยมากกว่า 3,000 คัน ครองมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 90% MG ยังให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานของสังคมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งสร้างความแข็งแกร่งและเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์แบบ สามารถรองรับการเติบโตของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการลงนามความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อยกระดับระบบการรับรองและมาตรฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ MG ยังได้สร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า MG Super Charge ที่ให้บริการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charge) โดยตั้งเป้าให้มีสถานีชาร์จในทุก ๆ 150 กิโลเมตร ซึ่งได้ติดตั้งแล้วกว่า 115 แห่ง รวมไปถึงการลงนามความร่วมมือกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า MG Super Charge ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ครอบคลุมทั้งในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 50 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของผู้บริโภค ปัจจุบันมีผู้ให้บริการสถานีชาร์จหลายราย คาดการณ์ว่าน่าจะมีการลงทุนสถานีชาร์จในอนาคตไม่ต่ำกว่า 2,000 สถานี โดย MG วางเป้าหมายตั้งสถานีชาร์จไว้ถึง 500 สถานี

จีนรุกหนัก ญี่ปุ่นจ้องขยับตาม

สำหรับบ้านเรา เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันเริ่มชัดเจนมากขึ้น นั่นเป็นเพราะการรุกตลาดอย่างต่อเนื่องของค่ายรถยนต์จากจีน โดยมี MG เป็นผู้บุกเบิก ล่าสุดมีค่ายรถจีนอีกหลายแบรนด์พร้อมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นซึ่งอยู่มาก่อนหลายสิบปีต้องดิ้นหาทางออกให้กับตัวเอง เราจึงได้เห็นรถยนต์หลายแบรนด์ที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าใช้ร่วมกับเครื่องยนต์สันดาป โดยมีการเคลื่อนไหวของรถจีนเป็นตัวเร่ง อาทิ MG ZS EV รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของ MG ซึ่งคลอดในปี พ.ศ. 2562 ปีถัดมา (2563) MG ได้เพิ่มทางเลือก แนะนำ MG HS PHEV ที่โดดเด่นด้วยระบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่มีระยะทางการขับขี่ด้วยไฟฟ้า หรือ EV Range สูงถึง 67 กิโลเมตร ก่อนที่จะเปิดตัว MG EP รถยนต์สเตชั่นแวกอนพลังงานไฟฟ้า ราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท ที่มีทุกอย่างครบที่สุดในตลาด

 การรุกตลาดของ MG ที่ “เร็ว-แรง-ครบวงจร” ทำให้ค่ายคู่แข่งทั้งจีน และญี่ปุ่น ไม่กล้ากะพริบตา