ไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยแห่งแรก เข้าเป็นสมาชิก Equator Principles ยกระดับการเงินที่ยั่งยืน 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประกาศความสำเร็จในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ หรือ Equator Principles (EP) Association พร้อมนำหลักการ EP มาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของทุกภาคส่วนสู่อนาคตที่ยั่งยืน นับเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกในสถาบันการเงิน 129 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมรับหลักการ EP พร้อมเดินหน้าเป็นสะพานเชื่อมให้แก่ทุกภาคส่วนสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์เชื่อว่าภาคการเงินการธนาคารมีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จึงมุ่งมั่นขับเคลื่อนความยั่งยืนภายใต้พันธกิจ ‘การดำรงอยู่ของเราเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทุกคน’ และกรอบยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก ‘SCB’ ประกอบด้วย การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) สังคมแห่งคุณค่า (Creating Social Impact) และสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต (Better Environmental Future) บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการดูแลบุคลากรมาอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับความคิดริเริ่มในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการผลักดัน ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สู่ ‘การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน’ ซึ่งธนาคารขอให้คำมั่นที่จะนำหลักการอีเควเตอร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาใช้ในการกำหนดนโยบายและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับการพิจารณาสินเชื่อโครงการของธนาคาร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การนำหลักการอีเควเตอร์มาใช้จะช่วยบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธนาคารและลูกค้าร่วมกันประเมินและกำหนดแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีการติดตามอย่างชัดเจนภายใต้มาตรฐานและแนวปฏิบัติระดับโลก ซึ่งถือเป็นการร่วมยกระดับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารไทย ตลอดจนผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดธุรกิจสีเขียวในภูมิภาคอาเซียน โดยธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเติบโตของทุกภาคส่วนและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างคุณค่าร่วมและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและโลกใบนี้”

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติให้นำธนาคารเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ในเดือนเมษายน 2564 ธนาคารได้ประกาศความมุ่งมั่นภายในองค์กรในการนำหลักการอีเควเตอร์มาประยุกต์ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการพิจารณาให้สินเชื่อโครงการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาปรับปรุงนโยบายและกระบวนการให้สินเชื่อที่สอดคล้องตามหลักการอีเควเตอร์ จัดทำคู่มือและเครื่องมือในการทำงาน พร้อมฝึกอบรมให้ผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความสามารถในการนำหลักการอีเควเตอร์ไปสู่การทำงานจริง 

หลักการอีเควเตอร์เป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงินที่ได้ชี้แนะแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ รวมถึงเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการตรวจประเมินและติดตามเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยง ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินนำหลักการอีเควเตอร์มาประยุกต์ใช้แล้วทั้งสิ้น 129 แห่ง ใน 39 ประเทศทั่วโลก

เกี่ยวกับหลักการอีเควเตอร์ (The Equator Principles)

หลักการอีเควเตอร์เป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงินที่ได้ชี้แนะแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเป็นระบบสำหรับการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ 

เปิดตัวในเดือนมิถุนายน ปี 2546 โดยความร่วมมือระหว่างบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) และธนาคารชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้ หลักการอีเควเตอร์ได้มีการปรับปรุงครั้งแรกในปี 2549 หรือ EP2 เพื่อให้สอดคล้องกับ IFC Performance Standard ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2556 ได้พัฒนาสู่ EP3 ซึ่งสอดคล้องกับ IFC Performance Standards ที่ได้มีการปรับปรุงในปี 2555 รวมถึงยกระดับความเข้มข้นในเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ก่อนเปิดตัวเวอร์ชั่นล่าสุด ‘EP4’ ในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งขยายขอบเขตธุรกรรมทางการเงินที่ต้องประยุกต์ใช้หลักการอีเควเตอร์ และกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน 

ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินนำหลักการอีเควเตอร์มาประยุกต์ใช้แล้วทั้งสิ้น 129 แห่ง ใน 39 ประเทศทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารศึกษาได้ที่ https://equator-principles.com/about-the-equator-principles/