‘เอไอเอส’ ผนึก กรมควบคุมโรค พาคนไทยพ้นภัยไข้เลือดออก ผ่านแอปฯ ‘อสม. ออนไลน์’

ทุกวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็นวัน ‘ไข้เลือดออกอาเซียน’ (ASEAN Dengue Day) โดยโรคไข้เลือดออก เป็นปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากมีภูมิประเทศอยู่ในเขตร้อนชื้น สร้างโอกาสให้เชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว 

ด้วยเหตุนี้ ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จึงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญ เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง

ในไทยนั้น โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ระบาดต่อเนื่องมากว่า 70 ปี การระบาดเริ่มต้นในช่วงฤดูฝน หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของไทยในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-8 มิถุนายน พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 3,386 คน ซึ่งเมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับในปี 2564 พบว่ายอดผู้ป่วยสะสมลดลง 21% สาเหตุหลักมาจากยุงที่เป็นพาหะนำโรค และเพื่อป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว ทางที่ดีที่สุดจึงต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ทางเอไอเอส (AIS) ผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัลของไทย ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมมือกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครหมู่บ้าน หรือ อสม. นำ ‘ฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย’ ของ แอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ เข้ามาใช้เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรค รวมถึงการรณรงค์เรื่องการเฝ้าระวังและการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันโรคติดต่อดังกล่าว

‘ฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลาย’ สร้างการรับรู้ เพื่อความปลอดภัยจากไข้เลือดออก

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค เผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศว่า ธรรมชาติของโรคไข้เลือดออก จะมีวงจรการระบาด 1 ปี และจะสร้างภูมิคุ้มกัน 2-3 ปี ปีนี้มีการคาดการณ์ว่า โรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้ง เป็นสัญญาณสำคัญที่ต้องออกมาเตือนถึงความร้ายแรงของโรคนี้ และป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการไม่ปล่อยให้มีน้ำขังหรือน้ำนิ่ง หมั่นทำความสะอาดภาชนะ หรือจุดที่มีน้ำขังเป็นประจำ

นอกจากนั้น ควรสำรวจแหล่งเพาะเชื้อของโรคอยู่เสมอ เริ่มจากการสำรวจรอบบ้าน จากนั้นเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ ประชาชน และเอกชน ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จ ที่มีการดำเนินการเรื่อยมา คือ การได้รับแรงสนับสนุนจากเอไอเอส ที่นำแอปฯ อสม.ออนไลน์ เข้ามาใช้ เพื่อการสำรวจและควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย

“ก่อนหน้านี้ หลังจากลงพื้นที่สำรวจ อสม. จะต้องบันทึกข้อมูลบนกระดาษ ทำให้มีโอกาสที่ข้อมูลจะคลาดเคลื่อน แต่หลังจากมีฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำ บนแอปฯ อสม.ออนไลน์ ก็มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อสุขภาพมากขึ้น” 

“ทั้งยังทำให้ อสม. ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว สามารถเก็บข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ทั้งจำนวนบ้าน ลูกน้ำ ภาชนะ รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ที่พบในชุมชนและในบ้าน ส่งต่อไปยัง รพ.สต. เพื่อสรุปผลและติดตามการแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด”

ดร.พญ.ฉันทนา ย้ำว่า ฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลาย บนแอปฯ อสม.ออนไลน์ มีความสำคัญอย่างมากในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก ส่งผลให้สามารถรู้แหล่งเพาะเชื้อได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเตือนภัยได้ทันท่วงที และเตรียมมาตรการล่วงหน้าได้ 

เป็นการสร้างประโยชน์ต่อการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาดในพื้นที่ แบ่งพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ รวมถึงการนําไปใช้เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อนําโดยยุงลาย เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่และแจ้งเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

“หลังจากที่มีการใช้แอปฯ ทำให้สามารถกระจายข้อมูลไปตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกหน่วยงานมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น แนวโน้มที่กำลังจะมา และร่วมกันหาทางป้องกันได้อย่างทันท่วงที 

“ในอนาคต ทางกรมฯ วางแผนใช้ข้อมูลผลสํารวจลูกน้ำยุงลายจากแอปฯ อสม.ออนไลน์ ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ปริมาณน้ำฝน ความชื้น เป็นต้น เพื่อใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่แม่นยํามากขึ้น”

‘อสม. ออนไลน์’ แอปฯ บริการสุขภาพเพื่อคนไทย

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส

ด้าน นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวถึงเจตนารมณ์ของการนำแอปฯ อสม. ออนไลน์ มาใช้สำรวจลูกน้ำยุงลาย และการทำงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจของเอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่ต้องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข 

ความสำเร็จนี้ สามารถพิสูจน์ได้จากแอปฯ อสม.ออนไลน์ ที่กลายเป็นคลังความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่สำคัญที่ อสม. นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการให้ความรู้ในพื้นที่ และเก็บข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะฟังก์ชันที่สำคัญ อย่างรายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย เพื่อร่วมกันเฝ้าระวัง และช่วยลดการระบาดโรคไข้เลือดออก ที่ได้ผลมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี ซึ่งกรมควบคุมโรค เอไอเอส และทีม อสม. ได้เดินหน้าร่วมกันป้องกันการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“การทำงานร่วมกันระหว่างทีมเอไอเอส และ อสม. ทำให้มองเห็นภาพของโรคไข้เลือดออกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ไห โอ่ง ภาชนะรองน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อลูกน้ำยุงลายได้เป็นอย่างดี 

“สิ่งหนึ่งที่ย้ำกับทีมที่ทำงานเรื่องนี้ คือ การกำจัดแหล่งเหล่านี้ แค่เทน้ำออกอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องขัดตะไคร่น้ำและไข่ยุง ที่ติดอยู่ตามพื้นหรือขอบจนหมด แล้วใส่น้ำใหม่เข้าไป ไม่อย่างนั้นน้ำใหม่ที่ใส่เข้าไปก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเหมือนเดิม เพราะมีตะไคร่และไข่ยุงติดอยู่”

ทั้งนี้ ฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นบนแอปฯ อสม.ออนไลน์ ในปี 2562 ซึ่งที่ผ่านมา ทำการสำรวจลูกน้ำยุงลายไปแล้วกว่า 1 ร้อยล้านครั้ง มีครัวเรือนที่ได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน และมีการให้คำแนะนำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้านให้ถูกสุขลักษณะ ทำให้สุขอนามัยของประชาชนดีขึ้น และเมื่อสภาพแวดล้อมชุมชนดี ก็ทำให้สังคมดีไปด้วย 

หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเอไอเอส กับ อสม. เพิ่มเติมอีกว่า ยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการข้อมูล โดยเฉพาะการนำข้อมูลจากการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ในแอปฯ อสม.ออนไลน์ มาวิเคราะห์ร่วมกัน และจัดการการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะเห็นได้ว่า อัตราผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในท้องถิ่น เอไอเอสพร้อมทำงานกับบุคลากรทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ให้สามารถมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มาช่วยให้ภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยก้าวเดินต่อไปอย่างดีที่สุด 

“ในอนาคต เอไอเอสจะพัฒนาแพลตฟอร์มตัวนี้ ให้สามารถครอบคลุมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ครอบคลุมครบ ‘3 หมอ’ เพื่อนำคนไทยพ้นจากภัยไข้เลือดออก และลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องสาธารณสุขให้มากขึ้น” หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวปิดท้าย