เปิดปรากฏการณ์เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นดั่งลูก

ในขณะที่คนยุคปัจจุบันมีลูกน้อยลง แต่ปริมาณสัตว์เลี้ยงกลับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนใช้เวลาอยู่กับบ้าน การรับสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อนแก้เหงาจึงกลายเป็นตัวเลือกยอดนิยม

ผนวกกับแนวโน้มของคนยุคใหม่ที่มักใช้ชีวิตโสด คู่แต่งงานชะลอการมีลูกเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การมีสัตว์เลี้ยงในบ้านจึงเป็นสิ่งชดเชยคุณค่าทางใจที่มีความหมายมากกว่าแค่สัตว์ แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว

Pet Humanisation คือพฤติกรรมที่เจ้าของมองว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ของสัตว์เลี้ยงหรือ Pet Parent และเอาใจใส่ไม่ต่างจากเลี้ยงดูลูกคนหนึ่ง โดยพร้อมมอบความรักและทุ่มเทกำลังทรัพย์ไปกับอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ และการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงอย่างดีที่สุด

บีบีซีขอชวนร่วมพิสูจน์รักอย่างไม่มีเงื่อนไขที่ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงมอบให้ แต่รวมถึงความรักจากใจเจ้าของที่มีต่อ ‘ลูก’ สี่ขาของพวกเขา

สุนัขกับเจ้าของ

ที่มาของภาพ, Getty Images

สัตว์เลี้ยงคือสมาชิกในครอบครัว

ผิง ปริษา พจนธรรมและสามี รับเลี้ยง ‘บับเบิ้ล’ สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนมาเป็นเวลา 10 ปีตั้งแต่สมัยยังเป็นคนรักจนกระทั่งทั้งคู่แต่งงานกันในปี 2561

“ตั้งแต่ได้มาก็เลี้ยงเขาเหมือนลูกคนหนึ่ง”

ผิงขยายความ ‘การเลี้ยงเหมือนลูก’ ของเธอคือต้องปรับเปลี่ยนกิจวัตรหลายอย่างเช่น การหัดทำอาหารและปรับเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ เพื่อให้ถูกปากบับเบิ้ล เลิกเที่ยวกลางคืนและการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์แทนเครื่องบินเพราะสุนัขต้องแยกไปอยู่ใต้ท้องเครื่อง รวมถึงการเลี้ยงดูไม่ต่างจากเด็กคนหนึ่งเช่นการคัดสรรวิตามินบำรุงขน บำรุงผิว และสุขภาพ, ดูแลตัดขนโดยช่างจากญี่ปุ่น, พาไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การว่ายน้ำ, เข้ากลุ่มกับสุนัขตัวอื่น ๆ และจัดงานวันเกิดให้ทุกปี

ปริษา พจนธรรม ครอบครัว และสุนัข

ที่มาของภาพ, ปริษา พจนธรรม

“หวีสุนัขที่เขาว่าดีอันละ 2,000-3,000 บาท ต้องซื้อสามอัน เราก็ยอมซื้อทั้งๆ ที่หวีของเราราคายังไม่ขนาดนั้นเลย”

นี่เป็นแค่บางส่วนของค่าใช้จ่ายจิปาถะในการดูแลบับเบิ้ลยังไม่ของใช้อื่นๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เสื้อผ้า รถเข็น แม้กระทั่งรองเท้าที่เธอฝึกให้ใส่รองเท้าตั้งแต่เด็ก

“ราคาของเสื้อผ้าก็แพงกว่าที่ซื้อให้สามี เรียกว่าราคาไม่ต่างจากเสื้อผ้าเด็กเลย”

เธอลองประเมินค่าใช้จ่ายต่อเดือนในการดูแลสุนัขขั้นต่ำอยู่ที่ 3,000 บาท ทั้งค่าอาหารและค่าหมอที่ต้องไปหาทุกเดือน

ผิงเคยตั้งใจจะมีลูกและเลี้ยงควบคู่ไปกับบับเบิ้ล แต่หลังจากแต่งงานมา 4 ปี เธอและสามีก็ตัดสินใจล้มเลิกความคิดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะยังต้องดูแลพ่อและแม่ของทั้งคู่

ผิงยอมรับว่าการเลี้ยงสุนัขก็มีค่าใช้จายแต่ยังน้อยกว่าการเลี้ยงเด็กสักคนให้มีคุณภาพทั้งค่าเทอม ค่าครองชีพและที่สำคัญคือเรื่องสังคมทุกวันนี้ที่ทุกอย่างรวดเร็วจนกลัวว่าจะตามไม่ทันลูก

ปริษา พจนธรรม ครอบครัว และสุนัข

ที่มาของภาพ, ปริษา พจนธรรม

“เราเลี้ยงตัวเองยังต้องเอาชีวิตรอดอยู่เลย ทำไมจะต้องมีลูกให้เขามาลำบาก มีสัตว์เลี้ยงก็ช่วยคลายเหงาได้ มันมีค่าใช้จ่ายก็จริง แต่มันก็ช่วยด้านจิตใจได้เยอะมาก เป็นกิจกรรมที่สร้างความรักให้ครอบครัวได้”

ไม่ใช่เจ้าของ แต่เป็นพ่อแม่ของสัตว์เลี้ยง

 วันดี วัฒนาคม และสุนัข

ที่มาของภาพ, วันดี วัฒนาคม

“พ่อแม่เลี้ยงหมากับเราเลี้ยงมันต่างกัน เขาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเฝ้าบ้านที่เขารักแต่ไม่ได้เลี้ยงเป็นลูกแบบเรา” วันดี วัฒนาคม เล่าถึงรูปแบบการเลี้ยงสุนัขที่แตกต่างกับรุ่นพ่อแม่

เธอเกิดในครอบครัวที่รักสุนัขมาตลอด แต่ก็มีช่วงที่ต้องหยุดเลี้ยงสุนัขไปเพราะต้องทำงานนอกบ้าน จนกระทั่งเมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้ว วันดีและสามีรับเลี้ยงมิกกี้สุนัขพันธ์ปอมเมอเรเนียนตัวแรกเข้ามาอยู่ในครอบครัว

หลังจากนั้น 3 ปีมิกกี้ก็เสียชีวิตลงกระทันหันเป็นเหตุการณ์ ‘โลกถล่ม’ เพราะกิจวัตรประจำวันของเธอคือการไปรับไปส่งสุนัขที่สถานรับเลี้ยงทุกวันไม่ต่างจากส่งลูกที่โรงเรียน

วันดีเคยถอดใจที่จะไม่เลี้ยงสุนัขอีกต่อไป กระทั่งพบกับแมกกี้สุนัขพันธ์ปอมเมอเรเนียนตัวใหม่ หลังจากนั้นไม่นานก็รับมาร์ตินี่มาอยู่เป็นเพื่อนกันอีกหนึ่งตัว

เธอทุ่มเทความรักทั้งหมดให้กับสมาชิกสี่ขาทั้งเรื่องอาหารพรีเมียมควบคุมไขมัน เสริมด้วยผักและปลาต้ม วิตามินและคอลลาเจนฉีดยาบำรุงข้อทุกเดือน และตรวจเลือดเช็คสุขภาพทุกๆ 3 เดือน ค่าใช้จ่ายขึ้นต่ำอยู่ที่ราว ๆ 1  หมื่นบาท ยังไม่นับรวมเสื้อผ้าและของใช้นำเข้าจากต่างประเทศ

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะเลี้ยงแบบนี้แต่พอเลี้ยงก็ยิ่งผูกพัน ค่าใช้จ่ายจริงๆ ก็พอๆ กับการมีลูก ถ้าเจ็บปวยเราถึงไหนถึงกัน ขอยาดีที่สุดเพื่อรักษาชีวิตเขาไว้”

วันดีและสามีแต่งงานมาหลายปี แต่ไม่มีลูก การเลี้ยงสุนัขจึงเป็นสิ่งมาช่วยเติมเต็มชีวิตครอบครัวที่มีข้อดีคือไม่ต้องกังวลถึงอนาคตของลูก

“ทุกวันนี้ทำงานเพื่อตัวเองเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ ไม่ต้องสะสมหลักทรัพย์ไว้ให้ใคร ซึ่งการเลี้ยงสุนัขก็มาช่วยชดเชยการไม่มีลูกของเราได้ระยะหนึ่งเพราะวงจรชีวิตเขาสั้น  เราก็อยากทุ่มเทให้เขามากที่สุดในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่กับเรา”

สุนัขกับแบรนด์เนม

ลูน่า สุนัขสวมเสื้อกุชชี่

ที่มาของภาพ, บอล

“การที่ให้เขาใส่แบรนด์เนมคงเป็นความสุขของเรามากกว่า เขาเป็นสุนัขเขาไม่รู้หรอกว่าเขาใส่อะไร” บอล (นามสมมุติ) พูดถึงลูน่า สุนัขพันธ์ุเชาเชาวัย 1 ขวบ 3 เดือน ที่สวมชุดของ กุชชี่ แบรนด์หรูจากอิตาลี เขาและคนรักรับเลี้ยงสุนัขทั้งหมด  7 ตัวโดยลูกน่าเป็นสมาชิกใหม่อายุน้อยที่สุดในครอบครัว

“แฟนผมเป็นคนซื้อให้ เขาเห็นว่ามันน่ารักดี วิธีคิดของเขาก็เหมือนการซื้อของให้น้อง ให้ลูก และใช้เวลาตัดสินใจนานพอๆ กับซื้อกระเป๋าให้ตัวเอง”

ปัจจุบันธุรกิจแฟชั่นเริ่มหันมาสนใจเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง แบรนด์หรูอย่างกุชชี่ พราด้า หลุยส์ วิตตอง แอร์เมส ฯลฯ มีผลิตภัณฑ์สำหรับเพื่อนสี่ขาเพื่อสนองความต้องการของเจ้าของ

โดยในปี 2564 มินเทล บริษัทวิเคราะห์การตลาดคาดว่ามูลค่าการซื้อของใช้สัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ สูงถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7.2 แสนล้านบาท)

บอลเล่าว่าเขาไม่ได้ซื้อแบรนด์เนมให้กับสุนัขทุกตัว แต่ดูแลทั้งหมดไม่ต่างกัน ทั้งกิจกรรมอย่างการพาไปว่าย และอาบน้ำ ตัดขนที่เขากับคนรักช่วยกันทำเอง แต่ลูน่าจะพิเศษกว่าตัวอื่นคือต้องส่งเข้าโรงเรียนเพราะตื่นคน และมักจะต้องพาไปด้วยทุกๆ ที่ เพื่อให้ชินกับสภาพแวดล้อมที่มีคนเยอะๆ

“ตอนนี้ Pet Friendly  กลายเป็นประเด็นหลัก ถ้าอยากจะไปร้านกาแฟหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด ก็จะทำการบ้านก่อนว่าที่ไหน พาหมาไปได้บ้างก็จะเลือกไปเฉพาะร้านที่นั้น”

ธุรกิจเพื่อคนรักสัตว์

คอมมูนิตี้สำหรับคนรักสัตว์

ที่มาของภาพ, Trail and Tai

จากรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ราว 10% ต่อปี โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2561- 2563 มีการเจริญเติบโตแตะหมื่นล้านบาทต่อปี

ในปีนี้มูลค่าของตลาดสัตว์เลี้ยงก็สูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจปรับตัวให้เป็นมิตรกับสัตว์ (Pet Friendly) ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งบริการสำหรับสมาชิก 4 ขาโดยเฉพาะ อย่างเช่นที่ Trail and Tail คอมมูนิตี้สำหรับคนและสัตว์เลี้ยงครบวงจรแห่งแรกในเมืองไทย ที่คนและสัตว์ได้ใช้ชีวิตร่วมกันเต็มพื้นที่

ติ๊ก พิมพ์สุรีย์ สุขพันธ์โพธาราม หนึ่งในผู้ก่อตั้งTrail and Tail เผยกับบีบีซีว่าได้แรงบันดาลใจจากการทำงานเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในต่างประเทศและได้เห็นว่าคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์เลี้ยงที่ดีเป็นอย่างไร

จากนั้นใช้เวลาศึกษาอีก 2  ปี เพื่อนำมาออกแบบให้ตอบโจทย์ทั้งคนและสัตว์ เช่นการใช้สี พื้นที่ส่วนกลาง และการกั้นรั้วเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงโดย Trail and Tail มีสนามหญ้ากว้างให้สัตว์ได้วิ่งเล่น และสวนสมุนไพรสำหรับสัตว์ รวมทั้งบริการต่างเช่น สระว่ายน้ำ สนามวิ่งเล่นในร่ม ศูนย์สุขภาพองค์รวมสำหรับ (Pet Wellness Center )

“ในเมืองไทยมีโรงแรม และสระว่ายน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง แต่ไม่มีค่อยมีพื้นที่ที่เจ้าของและสัตว์จะใช้ชีวิตร่วมกันได้ทั้งหมด ที่นี่จึงมีทั้งคาเฟ่ คลินิคความงาม ร้านขายของแต่งบ้าน ร้านอาหาร ที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้”

เธอให้ความเห็นว่าก่อนหน้านี้เมืองไทยก็มีสัตว์เลี้ยงเยอะอยู่แล้ว แต่เป็นรูปแบบเลี้ยงเฝ้าบ้าน ส่วนที่เติบโตขึ้นในยุคหลังๆ คือการเลี้ยงให้เป็นสมาชิกในครอบครัว เจ้าของจึงอยากใช้เวลาและดูแลเป็นพิเศษ ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตสวนกระแสธุรกิจอื่นๆในช่วงที่ผ่านมา

โคลนนิ่งสุนัข รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

สุนัขกับเงาสะท้อน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ปัจจุบันมีบริการใหม่ๆ สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ครอบคลุมทุกช่วงชีวิตของสัตว์เลี้ยงแม้กระทั่งตอนตาย เช่นการฌาปณกิจพร้อมสวดบังสกุลไม่ต่างจากคน, การนำอัฐิมาผ่านวิธีทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นพลอยเนื้ออ่อนทำเครื่องประดับแทนความทรงจำสำหรับเจ้าของ, การนำขนของสัตว์ตัวเดิมไปทำตุ๊กตาเสมือนจริง หรือแม้กระทั่งการโคลนนิ่งคืนชีวิตให้สัตว์ตัวเดิมกลับคืนมา

สัตวแพทย์ศุภเสกข์ ศรจิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์คริสตัล เพ็ทประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งสุนัขตัวแรกร่วมกับสัตวแพทย์ชาวเกาหลีใต้เมื่อเดือนมีนาคมปี 2562 และเปิดให้บริการคนไทยที่ต้องการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงโดยทำได้ทั้งในสัตว์ที่ยังมีชีวิตและตายแล้วไม่เกิน 5 วัน จากนั้นใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนถึงจะได้สัตว์เลี้ยงที่เหมือนตัวเดิมถึง 99% ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ 3.6 ล้านบาท

“ความจริงแล้วมีความต้องการสูงมาก แต่เมื่อติดที่ราคาแพง” อย่างไรก็ดีมีคนรักสัตว์ที่ยอมควักกระเป๋าจ่าย ซึ่งปัจจุบันเขาทำโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงไปมากกว่า 10 ตัว เฉลี่ยปีละ  2-3 เคส

เขามองว่าปัจจุบันคนทุ่มเทกับสัตว์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และการพัฒนาเรื่องการรักษาต่าง ๆ ดีขึ้นเช่นการใช้เซลล์ในการรักษามะเร็ง หรือพัฒนาการทำคีโมให้มีผลข้างเคียงน้อยลงและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดย Morgan Stanley คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมดูแลสัตว์เลี้ยง จะมีมูลค่าแตะ 275,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ (ราวๆ 10 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573

“เมื่อ 20 ปีที่แล้วโรงพยาบาลสัตว์มีน้อยมาก เข็มสมัยนั้นต้องเอามาฝนกับกำแพงเพื่อให้คม  แต่ตอนนี้การรักษามีความใกล้เคียงกับคนมากขึ้น และราคาก็สูงขึ้นด้วย มีแค่คนบางกลุ่มที่ยอมจ่ายหลักแสนหลักล้านได้”

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว