4 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ สำเนียงภาษา

สำเนียงหมายถึงวิธีที่ภาษาถูกออกเสียงและเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของภาษาถิ่นที่เราพูดกันทุกวันนี้

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ประเมินว่า มีประชากรมากถึง 1,500 ล้านคน ที่พูดภาษาอังกฤษอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งนี่หมายถึงมีสำเนียงภาษาอังกฤษอีกมากมาย! ทว่าจริง ๆ แล้วสำเนียงมีต้นกำเนิดมาจากไหน และอะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาษา

นี่คือปัจจัย 4 ข้อ ที่สามารถส่งอิทธิพลต่อวิธีการพูดของเรา

อาจเริ่มต้นขึ้นก่อนเราเกิดด้วยซ้ำ

มนุษย์เราเข้าใจสำเนียงตั้งแต่ตอนที่อายุน้อยกว่าที่หลายคนคาดคิด ที่จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิในฟินแลนด์พบว่าเด็กทารก สามารถจดจำเสียงที่พวกเขาได้ยินตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่

การส่งเสียงร้องของเด็กเล็กยังแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับภาษาแม่ของพวกเขา ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 นักวิจัยวิเคราะห์เสียงร้องของเด็กแรกเกิดจำนวน 60 คน โดย 30 คน เป็นชาวฝรั่งเศส ขณะที่อีก 30 คน เป็นชาวเยอรมัน พวกเขาพบว่าเด็กทารกชาวฝรั่งเศสร้องไห้ด้วยเสียงสูง ขณะที่เด็กทารกเยอรมันร้องไห้ด้วยโทนเสียงที่ต่ำกว่า สิ่งนี้สอดคล้องกับจังหวะการพูดของทั้งสองภาษา

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจเป็นไปได้ว่าเด็กทารกเหล่านี้พยายามสร้างสายสัมพันธ์ด้วยการเลียนแบบแม่ของตัวเอง

กราฟฟิค

 

สถานะทางสังคมส่งผลต่อวิธีการพูดของกลุ่มคน

การเปลี่ยนฐานะทางสังคมหมายถึงการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงของประชาชนไปตามบันไดชนชั้นทางสังคม ตามประวัติศาสตร์นั้น สำเนียงถูกพัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างตัดขาดจากคนอื่น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใช้แอปพลิเคชัน English Dialects หรืออาจแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวว่า ‘ภาษาถิ่นอังกฤษ’ ในการรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานกว่า 30,000 คน จากพื้นที่ 4,000 แห่ง ทั่วสหราชอาณาจักร เพื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์จากการสำรวจช่วงทศวรรษ 1950

พวกเขาพพบว่าสำเนียงของภูมิภาคต่าง ๆ ค่อยจางหายและไปผสานรวมกับวิธีการพูดแบบ “ใต้” ขณะที่การพูดแบบทางเหนือขยายลงมาทางตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนกลางและตะวันตกของประเทศ นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่วิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวเชื่อว่า “การปรับระดับ” ของสำเนียงภาษาอังกฤษอาจเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายถิ่นของประชากร

กราฟฟิค

มลพิษอาจส่งอิทธิพลกับสำเนียง

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศทั้งระยะสั้นและระยะยาวส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายมิติ

แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงมนุษย์อย่าง ดร.โรเบิร์ต ซาตาลอฟฟ์ เชื่อว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ อาจมีผลกับภาวะเสียงแหบ คุณภาพของเสียงที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการควบคุมเสียงและความล้าของเสียง

หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของมลพิษทางอากาศคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 และ 19

ตามข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอน พบว่าสามารถแยกแยะผู้ที่เกิดในเมืองหลวงของอังกฤษระหว่างทศวรรษ1880-1990 ได้จากศัพท์แสงที่โดดเด่นของพวกเขา รูปร่างบอบบางดูอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เสียงก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน และสำเนียงของชาวลอนดอนก็ได้รับผลกระทบจากภาวะที่พวกเขาต้องหายใจแรง ๆ ผ่านช่องปากเนื่องจากอาการคัดจมูก

อัตลักษณ์ทางสังคมอาจส่งผลกับการพูดจา

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยกำเนิด สำเนียงช่วยทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและสามารถส่งเสริมอัตลักษณ์และการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือองค์กรได้

ไม่เพียงแค่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถชั้นเลิศในการเลียนแบบผู้อื่น แม้ว่าเสียงจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ จากเด็กเล็ก ไปสู่ช่วงวัยรุ่น จนไปสู่ช่วงวัยชรา แต่สำเนียงของคนเราอาจไม่ได้เปลี่ยนแค่เฉพาะตามช่วงเวลาเหล่านี้เท่านั้น

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในปี 2010 พบว่ามนุษย์เราเลียนแบบเสียงของบุคคลที่เราสนทนาด้วยเพื่อเพิ่มระดับความเข้าใจซึ่งกันและกัน นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Chameleon Effect ซึ่งเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวเพื่อแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจ

………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว