รัสเซีย ยูเครน : ขีปนาวุธไฮมาร์สคืออะไร และช่วยพลิกโฉมหน้าสงครามนี้อย่างไรบ้าง

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนระบุว่า ขีปนาวุธ “ไฮมาร์ส” (HIMARS) ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย

ระบบขีปนาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ นี้ถูกใช้โจมตีเป้าหมายฝ่ายรัสเซียหลายจุดด้วยกัน เช่น กองบัญชาการ และคลังแสง

นอกจากนี้ ยังใช้ทำลายสะพาน โดยเฉพาะตามเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ภูมิภาคแคร์ซอนที่กำลังตกอยู่ใต้การยึดครองของรัสเซีย และยูเครนพยายามช่วงชิงกลับคืนมา

ไฮมาร์ส คืออะไร

ไฮมาร์ส หรือ ระบบยิงจรวดด้วยปืนใหญ่เคลื่อนที่คล่องตัวสูง M142 เป็นเครื่องยิงขีปนาวุธที่ติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกหนัก 5 ตัน โดยสามารถยิงขีปนาวุธนำวิถีได้ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว 6 ลูก

ระบบยิงจรวดไฮมาร์ส (HIMARS)

ขีปนาวุธที่สหรัฐฯ ส่งให้ยูเครนใช้มีพิสัยการยิงไกลถึง 80 กม. ซึ่งไกลกว่าปืนใหญ่วิถีโค้ง (Howitzer) ซึ่งสหรัฐฯ จัดส่งให้ยูเครนใช้ก่อนหน้านี้กว่า 2 เท่า

ไฮมาร์ส ยังสามารถยิงจรวดในระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (Army Tactical Missile System missile) ที่มีพิสัยการยิง 300 กม. ได้คราวละ 1 ลูกด้วย แต่สหรัฐฯ ไม่ได้จัดส่งอาวุธชนิดนี้ให้ยูเครนใช้

พิสัยการยิง 80 กม. เป็นระยะยิงใกล้เคียงกับขีปนาวุธ “เสมิร์ช” (Smerch) ของรัสเซีย แต่ไฮมาร์สสามารถยิงขีปนาวุธนำวิถีด้วยระบบจีพีเอส ซึ่งสามารถโจมจีเป้าหมายได้แม่นยำกว่า

พิสัยยิงของเครื่องกระสุนแบบต่าง ๆ

ยูเครนใช้ไฮมาร์สอย่างไร

ศาสตราจารย์ ฟิลลิปส์ โอไบรอัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษายุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส ในสกอตแลนด์ ระบุว่า ยูเครนเริ่มใช้ไฮมาร์สช่วงปลายเดือน มิ.ย. หรือต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

เขากล่าวว่า ในช่วงแรกมีการใช้ระบบนี้ในการโจมตีเป้านิ่ง และศูนย์บัญชาการต่าง ๆ มากกว่าเป้าหมายเคลื่อนที่ “มีการใช้ตามแนวสู้รบทางภาคตะวันออกของยูเครน เพื่อโจมตีคลังแสงที่อยู่หลังแนวรบของรัสเซียออกไปราว 30 ไมล์ (48.28 กม.)”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ โอไบรอัน คาดว่า ปัจจุบันยูเครนอาจเริ่มใช้ไฮมาร์สถล่มจุดที่มีทหารรัสเซียกระจุกตัวอยู่หนาแน่น ตามค่ายทหาร และศูนย์บัญชาการต่าง ๆ

ยูเครนอ้างว่าขีปนาวุธลูกหนึ่งที่ยิงโจมตีฝ่ายรัสเซียที่เมืองลิซิชานสก์ ในภูมิภาคลูฮันสก์ ได้คร่าชีวิตข้าศึกไปถึง 100 คน และการโจมตีกองบัญชาการใหญ่ของกลุ่มแวกเนอร์ที่เมืองโพพาสนา ในภูมิภาคเดียวกันก็สามารถปลิดชีพสมาชิกกลุ่มไปได้ราว 100 คน

ศาสตราจารย์ โอไบรอัน ชี้ว่า การโจมตีทั้ง 2 ครั้งน่าจะเป็นการใช้เครื่องยิงขีปนาวุธไฮมาร์ส

Footage of the attack in Nova Kakhovka was shared on social media

ที่มาของภาพ, EyePress News/REX/Shutterstock

สหรัฐฯ ระบุว่า ได้จัดส่งระบบไฮมาร์สให้แก่ยูเครน 16 เครื่อง ตามแผนการช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังรับปากจะส่งระบบยิงขีปนาวุธ M270 ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบไฮมาร์สและสามารถยิงขีปนาวุธชนิดเดียวกันให้แก่ยูเครนด้วย โดยขณะนี้มีการส่งมอบให้แล้ว 3 เครื่อง และจะจัดส่งให้เพิ่มเติมอีก 3 เครื่อง

เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กองทัพยูเครนได้เริ่มใช้ไฮมาร์สเพื่อตัดเส้นทางการเข้าถึงเมืองแคร์ซอน ทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ตกอยู่ใต้การยึดครองของรัสเซียแล้ว

ยูเครนใช้ไฮมาร์สทำลายสะพานข้ามแม่น้ำนีเปอร์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมืองแคร์ซอนกับดินแดนไครเมียที่รัสเซียยึดไปจากยูเครน

ศาสตราจารย์ โอไบรอัน กล่าวว่า “รัสเซียทุ่มสรรพกำลังไปยังแคร์ซอน และพยายามรักษาเมืองนี้เอาไว้”

“การโจมตีด้วยไฮมาร์สได้สร้างปัญหาในการเติมกําลังบํารุงทหารของรัสเซีย” เขาอธิบาย

แผนที่

ไฮมาร์สจะช่วยให้ยูเครนชนะสงครามได้ไหม

ประธานาธิบดี เซเลนสกี ยืนยันว่าไฮมาร์สสำคัญยิ่งต่อการทำสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย โดยเขาระบุในเฟซบุ๊กว่า “ไฮมาร์สและอาวุธโจมตีเป้าหมายแม่นยำชนิดอื่น ๆ กำลังพลิกเกมการรบให้ยูเครนเป็นฝ่ายได้เปรียบ”

ข้อมูลจากกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า จนถึงช่วงกลางเดือน ส.ค. กองทัพยูเครนสามารถทำลายเป้าหมายสำคัญของฝ่ายรัสเซียไปได้กว่า 100 จุด

“ไฮมาร์สช่วยตัดเส้นทางการส่งกำลังบำรุงทหาร และนี่ทำให้มันเป็นอาวุธที่มีความสำคัญมาก” ศาสตราจารย์ โอไบรอัน กล่าว

เขาอธิบายว่า ระบบยิงขีปนาวุธชนิดนี้ช่วยให้กองทัพยูเครนมียุทธวิธีใหม่ในการทำให้กองทัพรัสเซียอ่อนแอลง ด้วยการตัดเส้นทางการลำเลียงเสบียง และยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ดร. มารีนา มิรอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสงครามที่คิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน เชื่อว่า คำกล่าวอ้างถึงอานุภาพของไฮมาร์สอาจเป็นการกล่าวเกินจริง

“ไฮมาร์สมีความแม่นยำสูงเมื่อใช้ต่อเป้านิ่ง เมื่อคุณรู้พิกัดที่ชัดเจน แต่มันไม่มีประสิทธิภาพมากนักเมื่อใช้โจมตีเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น กองทหาร ดังนั้นมันจึงไม่สามารถสกัดการรุกคืบของข้าศึกได้” เธออธิบาย

เธอชี้ว่าไฮมาร์สทำให้รัสเซียไม่ทันตั้งตัว แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในสงครามครั้งนี้ไปมากนัก

Two Himars missiles being launched during US army exercises

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายโอเลกซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครนระบุว่า การจะสกัดการรุกคืบของรัสเซียได้นั้น ยูเครนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนระบบไฮมาร์สเพิ่มอีก 50 เครื่อง และอีก 100 เครื่องจึงจะสามารถดำเนินเกมรบโต้กลับรัสเซียได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ โอไบรอัน ชี้ว่า การจัดส่งขีปนาวุธที่ใช้ยิงด้วยระบบนี้มีความสำคัญกว่า

“การมีเครื่องยิงไฮมาร์ส 16 เครื่องนั้นเป็นเรื่องดี ตราบใดที่มีกระสุนที่จะใช้ยิง…” เขากล่าว

Getty Images

รัสเซียโต้กลับอย่างไร

ดร. มิรอน ระบุว่า “ตอนนี้รัสเซียมุ่งเป้าทำลายเครื่องยิงและขีปนาวุธไฮมาร์สในขณะที่ยุทธภัณฑ์เหล่านี้กำลังถูกลำเลียงไปให้กองทัพยูเครน”

รัสเซียอ้างว่าได้ทำลายเครื่องยิงและขีปนาวุธไปหลายร้อยลูก แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้าง

ศาสตราจารย์ โอไบรอัน บอกว่า “ดูเหมือนรัสเซียจะต่อสู้กับไฮมาร์สด้วยการมุ่งเป้าทำลายอาวุธเหล่านี้ได้ไม่ดีนัก”

“เพราะรัสเซียไม่สามารถส่งเครื่องบินไปเหนือเขตสู้รบได้ พวกเขาจึงไม่เห็นตำแหน่งของอาวุธชนิดนี้ได้จากทางอากาศ”

“และมันยากที่จะสู้กลับไฮมาร์ส เมื่อมันยิงใส่คุณแล้ว เพราะมันสามารถเคลื่อนที่ได้แทบจะทันที” เขาอธิบาย

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว