ชายญี่ปุ่นให้เช่าตัวเองไป “ไม่ทำอะไรเลย” สร้างรายได้หลักล้าน หวังเปลี่ยนมายาคติสังคม

โชจิ โมริโมโตะ ชายให้เช่าเพื่อ "ไม่ต้องทำอะไร"

ที่มาของภาพ, Reuters

หากคุณรู้สึกว่าต้องการใครสักคนอยู่เป็นเพื่อน นั่งเป็นเพื่อน กินข้าวเป็นเพื่อน แต่ “ไม่ต้องทำอะไร” เป็นพิเศษ หากคุณสนใจคนที่จะมาอยู่เคียงข้าง แต่ไม่ต้องทำอะไรมากนัก ที่ญี่ปุ่นมีอาชีพ “ชายให้เช่าไปไม่ต้องทำอะไร” หรือ Rental-Do-Nothing-Man ให้บริการ

โชจิ โมริโมโตะ อายุ 38 ปี เป็นผู้ให้บริการให้เช่าตัวเอง เพื่อ “ไม่ต้องทำอะไร” บริการของเขาก็ตามชื่อ คือลูกค้าสามารถเช่าตัวเขาไปใช้เวลาอยู่ด้วยกัน แต่เขาแค่อยู่ข้าง ๆ ตอบคำถามง่าย ๆ ไม่ต้องทำหรือพูดอะไรมาก แค่อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร

“ผมทำอาชีพ ‘ชายให้เช่าเพื่อไม่ต้องทำอะไร’ ผมให้บริการให้เช่าตัวเอง เพื่อไม่ต้องไปทำอะไรเลย …ผมไปตามที่ต่าง ๆ ที่คนร้องขอ ไปถึงแล้วผมก็ไม่ต้องทำอะไร” โมริโมโตะ อธิบายถึงบริการชายให้เช่าที่ค่อนข้างแปลกประหลาดของเขา

อันที่จริง มีบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นที่ให้บริการให้เช่านักแสดง หรือผู้ชายผู้หญิง ไปอยู่เป็นเพื่อน หรือเช่าเป็นหมู่คณะไปเป็นครอบครัวชั่วคราวให้ลูกค้า

บริการของโมริโมโตะ แม้จะเป็นชายให้เช่าเหมือนกัน แต่มีจุดขาย (หรือเปล่า) ที่ต่างออกไป เพราะเมื่อเช่าเขาไปแล้ว เขาไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องสวมบทบาทเป็นเพื่อน เป็นคนรัก หรือเป็นครอบครัว และแทบไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ

“การไม่ทำอะไรหมายความว่า ผมดื่มกินอาการกับลูกค้า ผมตอบคำถามง่าย ๆ ด้วยคำตอบง่าย ๆ”

อยู่ข้าง ๆ แต่ไม่ต้องทำอะไรก็พอ

ที่มาของภาพ, Reuters

ประสบความสำเร็จแค่ไหน ?

โมริโมโตะ เริ่มบริการชายให้เช่าไปไม่ทำอะไร ผ่านทวิตเตอร์เมื่อปี 2018 นับแต่นั้น เขาเปิดเผยว่า ให้บริการให้เช่าลักษณะนี้มาแล้วกว่า 4,000 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการไปนั่งทานอาหารกับลูกค้า ร่วมกิจกรรม และเป็นผู้รับฟังที่ดี

ตอนนี้ เขามีผู้ติดตามในทวิตเตอร์กว่า 250,000 คนแล้ว และลูกค้ากว่า 1 ใน 4 ของเขาตอนนี้ เป็นลูกค้าประจำที่ติดใจในบริการ โดยมีหญิงคนหนึ่งจ้างเขามากกว่า 270 ครั้งแล้ว

ค่าบริการเช่าโมริโมโตะไปไม่ต้องทำอะไร อยู่ที่ 10,000 เยนต่อครั้ง หรือ 2,500 บาทต่อหนึ่งการนัดหมาย ไม่นับค่าเดินทางและค่าอาหารที่ลูกค้าจะต้องจ่าย หากเป็นการจ้างไปกินข้าวด้วยกัน

ถ้าคูณค่าเช่า กับการให้บริการ 4,000 ครั้งนับแต่เปิดให้บริการ หมายความว่า โมริโมโตะมีรายได้จากการทำงานนี้กว่า 10 ล้านบาทแล้ว ส่วนความนิยมนั้น บางวัน โมริโมโตะรับลูกค้าถึง 3 คนใน 1 วัน

ลูกค้าพอใจแค่ไหน ?

ลูกค้าคนหนึ่งของโมริโมโตะ คือ อะรุนา ชิดะ นักวิเคราะห์ข้อมูลวัย 27 ปี ที่พบบริการของโมริโมโตะผ่านสังคมออนไลน์ เธอเคยอาศัยอยู่ที่นครมุมไบของอินเดีย ซื้อชุดส่าหรีมา และอยากใส่ในที่สาธารณะ แต่เธอกลัวว่าเพื่อน ๆ จะอาย จึงจ้างโมริโมโตะมาอยู่เป็นเพื่อน ระหว่างร่วมกิจกรรมจิบชา

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ชิดะเช่าโมริโมโตะ “เวลาฉันอยู่กับเพื่อน ๆ ฉันรู้สึกเหมือนต้องสร้างความบันเทิงให้เขา แต่กับ ‘นายให้เช่า’ ฉันไม่ต้องพูดอะไรมาก และเงียบได้นานเท่าที่ต้องการ”

"ผมดื่มกินอาการกับลูกค้า ผมตอบคำถามง่าย ๆ ด้วยคำตอบง่าย ๆ"

ที่มาของภาพ, Reuters

ลูกค้าอีกคน ใช้ชื่อสมมติว่า “คุสะ” ข้าราชการวัย 33 ปี เธอบอกว่าเวลาเหนื่อยกับงาน และต้องการทำอะไรที่สังคมมองว่าผิดปกติ เพื่อผ่อนคลาย เธอจะเช่าโมริโมโตะไปเป็นเพื่อน

“มันลำบากใจที่จะขอให้เพื่อน ๆ แต่งตัวเป็นปิกาจูแล้วไปทานแกงกะหรี่กับผม มันพูดยากนะ”

แม้จะเป็นชายให้เช่าไปไม่ทำอะไร แต่โมริโมโตะก็มีเงื่อนไขการรับงาน คือ หากเป็นการเช่าไปเพื่อกิจกรรมทางเพศ หรือผู้เช่าอยากพาเขาไปต่างประเทศไกล ๆ อย่าง ตรินิแดดและโตเบโก เป็นต้น รวมถึงหากเช่าเขาไปใช้แรงงานหนัก อย่างการยกตู้เย็น เพราะผิดเงื่อนไข “ไม่ทำอะไร” ของเขา

ทำไมต้องทำอะไร เพื่อให้ตัวเองมีคุณค่า

ก่อนจะมาเริ่มอาชีพนี้ โมริโมโตะเคยทำงานในบริษัทสิ่งพิมพ์ แต่หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานมักวิจารณ์เขาว่า ไม่ทำอะไรเลย ทำให้รู้สึกต่ำต้อยในที่ทำงาน

“ผู้คนมักพูดกับผมว่า ผมไม่ทำอะไรเลย และผมรู้สึกด้อยค่า การที่ต้องไปทำงานแบบนั้น โดนพูดแบบนั้น ผมมีความรู้สึกด้านลบ รู้สึกว่าผมไม่เหมาะกับการทำอะไร แต่ผมเหมาะกับการไม่ทำอะไร”

“ผมเริ่มสงสัยว่า ‘จะเกิดอะไรถ้าผมเอาด้านที่ไม่ทำอะไรมาใช้’ เปลี่ยนมันเป็นจุดขาย และให้บริการกับผู้คน ผมจึงเริ่มบริการชายให้เช่าไปไม่ทำอะไร” และโมริโมโตะ ก็พลิกจุดด้อยเป็นจุดขายได้จริง ๆ

"มันโอเคจริง ๆ ที่จะไม่ต้องทำอะไร"

ที่มาของภาพ, Reuters

เมื่อถามว่าทำไมบริการของเขาถึงได้รับความนิยมนัก โมริโมโตะอธิบายว่า ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายกับ “มิตรภาพชั่วคราว” เวลาอยู่กับเขา เพราะเวลาอยู่กับเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือคนรู้จัก คนจะไม่กล้าร้องขออะไรมากนัก และรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อแลกกับความสัมพันธ์

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าตัวเงินในฐานะ “ชายให้เช่าไปไม่ทำอะไร” คือการเปลี่ยนทัศนคติของสังคมว่า มนุษย์เราต้องทำอะไรอยู่เสมอ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ทั้งที่บางครั้ง การไปอยู่ข้าง ๆ คนอื่น โดยไม่ต้องทำอะไร ก็เป็นคุณค่าในตัวมันเองเหมือนกัน

“ผมให้เช่าตัวเอง ผู้คนไม่ได้ขอให้ผมทำอะไรเป็นพิเศษ สำหรับหลายคนการไม่ทำอะไร มันมีค่านะ และเป็นประโยชน์ คนที่ใช้บริการผมบอกแบบนั้น”

“ผมคิดว่าน่าสนใจนะ แต่ก็ยิ่งคิดว่า มันโอเคจริง ๆ ที่จะไม่ต้องทำอะไร แต่คุณไม่จำเป็นต้องปล่อยตัวเองให้คนอื่นเช่าเหมือนผม หรือทำตัวเป็นประโยชน์เป็นพิเศษก็ได้”

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว