เครียดสะสมกับเข้าถึงอาวุธง่าย ปัจจัยสู่เหตุสลดเหมือนกราดยิงในกรมยุทธศึกษาทหาร

หลังเกิดเหตุกราดยิงภายในกรมยุทธศึกษาทหารบก บริเวณถนนเทอดดำริ เมื่อเช้าวานนี้ (14 ก.ย.) จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ทางกองทัพบกออกมาชี้แจงว่าผู้ก่อเหตุมีความเครียดและมีประวัติอาการทางสมอง

เหตุดังกล่าวทำให้สังคมออกมาตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุรูปแบบนี้ขึ้นกับคนในแวดวงทหารและตำรวจอยู่บ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่เหตุความรุนแรงจากการทำร้ายผู้อื่นด้วยอาวุธปืนในประเทศไทยไม่ได้มากเท่าประเทศอื่น

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตเห็นว่า น่าจะเกิดจากส่วนผสมของความเครียดสะสมและการเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย แต่เราจะป้องกันเหตุเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตอย่างไรได้บ้าง

ทหาร

ที่มาของภาพ, Getty Images

อาชีพเสี่ยงต่อความเครียด

นพ.ดร. วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่อาจนำไปสู่เหตุทำร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ คือการอยู่ใกล้อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เหตุกราดยิงในไทยยังเกิดขึ้นน้อย ไม่เหมือนกับประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่มีการผ่อนปรนในเรื่องของการมีอาวุธในครอบครอง

เขาอธิบายว่าเหตุกราดยิงในไทย มักจะพบเจอได้ในกลุ่มอาชีพที่ใกล้อาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ

และแน่นอนว่า อาชีพที่ทำมีส่วนทำให้เกิดความเครียดจากการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น

อาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง เช่น หมอ อาชีพด้านกฎหมาย และอีกหลาย ๆ อาชีพที่มีความคาดหวังจากสังคมสูง ก็จะทำให้ความเครียดสูงตามไปด้วย

ตำรวจ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อาชีพที่มีกฎระเบียบสูงในองค์กร เช่น ทหาร ตำรวจ หรือนักกฎหมาย ถือเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงเช่นกัน เพราะว่าต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีคนในกลุ่มอาชีพที่มีชั่วโมงการทำงานมาก พักผ่อนน้อย เช่นนักร้อง ศิลปิน ดารา ที่ทำงานผิดเวลา ก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดสูง

“ถึงแม้จะมีความเครียดสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปทำร้ายคนอื่น แต่โอกาสที่จะไปทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นก็สูงกว่าในกลุ่มคนที่เครียดหนักกว่า และพอบวกกับความใกล้ชิดอาวุธ ก็เลยทำให้การทำร้ายตนเองหรือทำร้ายคนอื่น เป็นการกระทำด้วยอาวุธที่ตัวเองใกล้ชิด” นพ. วรตม์ กล่าว

“ยกตัวอย่างเช่นอาชีพตำรวจ ที่มีผลการศึกษาระบุว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 34 เท่า เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีความเครียดสูง และอยู่ใกล้ชิดกับอาวุธ จนเกิดการทำร้ายตัวเองและผู้อื่นมากกว่า”

ประเภทของความเครียด

นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และอดีตนายกสมาคมจิตแพทย์ไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า ความรุนแรงเป็นอาการแสดงของความเครียดในสังคมอยู่แล้ว โดยเพาะในช่วงที่ผู้คนมีความเครียดมากจากสังคม และเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้สังคมโดยภาพรวมมีความเครียดสูงขึ้น

ความเครียดสามารถแสดงออกมาได้ในรูปแบบของความรุนแรง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ความรุนแรงทางวาจา มาจนถึงความรุนแรงในรูปแบบกายภาพ รวมถึงการใช้อาวุธปืน

“เพราะฉะนั้นถ้ามองในภาพใหญ่จะเห็นว่าสังคมไทยในตอนนี้ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในที่ทำงาน และความรุนแรงในชุมชนที่กระทำกับคนที่เรารู้จัก หรือความรุนแรงบนท้องถนนที่ทำกับคนที่ไม่รู้จัก ล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงออกที่มาจากความเครียด” นพ. ยงยุทธ อธิบาย

Military

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นพ. ยงยุทธ อธิบายถึงความเครียดว่ามีอยู่สามกลุ่มได้แก่

  • อาการทางกาย เช่น ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร
  • อาการทางด้านจิตใจ เช่น รู้สึกว้าวุ่นใจ คับข้องใจ ขาดความจดจ่อต่อสิ่งที่ทำ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น โกรธง่าย และความยับยั้งชั่งใจลดลง ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรง

นพ. ยงยุทธ อธิบายว่าความรุนแรงสามารถเกิดได้กับตัวเอง เช่น การฆ่าตัวตาย หรือความรุนแรงต่อผู้อื่นอย่างเช่นที่ปรากฏในข่าว ถ้าเรามีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเพิ่มเติม เช่น เรามีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วเช่นติดยาเสพติด มีภาวะทางสมอง มันก็จะทำให้มีโอกาสเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

“จากการศึกษาทั่วโลก การก่อความรุนแรงต่อบุคคลส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากคนป่วย เหตุรุนแรงที่ก่อโดยผู้ป่วยทางจิตมีแค่ 4% เท่านั้น และกว่า 95% มาจากกลุ่มคนที่เครียด แต่ไม่ได้มีอาการป่วยทางจิต” นพ.ยงยุทธ กล่าว

“ผู้คนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพในองค์กรความมั่นคงคือทหาร ตำรวจ ที่อยู่ใกล้อาวุธ จะมีโอกาสในการเข้าถึงอาวุธ และนำมาสู่ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธปืน ซึ่งเป็นรูปแบบอันสูงสุดของความรุนแรงทางกายภาพจะเป็นไปได้ง่ายกว่าอาชีพอื่น”

นพ. ยงยุทธ ให้ความเห็นว่าในวงการทหาร ตำรวจทั่วโลก จะต้องมีบริการสุขภาพจิตที่ดี หากมีใครมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ต้องได้เข้ารับการปรึกษา และได้รับการดูแล “ต้องมีช่วงที่ไม่ให้มีการถืออาวุธ จะเป็นการช่วยได้ดี แต่ถ้าให้ดีที่สุดคือการอยู่ในสังคมที่ปลอดอาวุธ”

Military

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี

ก่อนที่คนใกล้ตัวจะเริ่มมีอาการเครียดสะสมจนอาจก่อความรุนแรงต่อตนเองและคนรอบข้างได้ นพ. ยงยุทธ ให้คำแนะนำว่าความเครียดที่เราสังเกตได้ง่ายจากคนใกล้ตัวคือการที่คนใกล้ตัวเริ่มเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ให้ฟัง และสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้คือการรับฟังโดยไม่รีบตัดบท

หลังจากนั้น หากอาการเริ่มมีอาการมาก ควรติดต่อเชื่อมโยงให้คนเหล่านั้นเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลและวินิจฉัยว่าจะต้องดูแลอย่างไร

“ยิ่งไปกว่านั้น เราควรมีระบบในที่ทำงานที่ผู้บังคับบัญชาควรมีทักษะในการดูแลคนด้วย หัวหน้างานจะเป็นคนที่ใกล้ชิดลูกทีมมากที่สุด หัวหน้าควรจะมีทักษะในการรับฟังที่ดีที่จะสามารถรู้ได้ว่าคนไหนกำลังมีปัญหา เพื่อเชื่อมโยงเข้าระบบบริการสุขภาพได้” นพ. ยงยุทธ กล่าว

ด้าน นพ. วรตม์ เห็นว่าด้วยขนาดองค์กรที่ใหญ่ อาจทำให้การดูแลไม่ทั่งถึง

“เพราะฉะนั้นเราต้องใส่ใจว่าการที่เราสูญเสียใครซักคนไป อาจจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราหันมาให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิตของคนในองค์กรมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพกายอย่างเดียวว่าเขาทำงานไหวหรือไม่ ถ้าเรารับฟังปัญหากันมากขึ้น ผมคิดว่าการสูญเสียก็จะลดลง”

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว