ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สถานการณ์น้ำในประเทศไทยในหลายพื้นที่จะเข้าสู่จุด “พีกที่สุด” และ “เปราะบางที่สุด” ตามการคาดการณ์ของรัฐบาล และผู้บริหาร กทม. แต่ถึงกระนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างยืนยันว่า สถานการณ์ในปีนี้ไม่รุนแรงเท่าปี 2554
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย คาดการณ์ว่ามวลน้ำจะมาถึง จ.อุบลราชธานี วันที่ 8 ต.ค. ซึ่งจะเป็น “วันที่พีกสุด” อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่ง ฉะนั้นจะเร่งระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบของ จ.อุบลราชธานี ให้ได้มากที่สุด ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา การระบายน้ำของเขื่อนชัยนาทและเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อบวกกับแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำยังไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร หากไม่มีฝนเติมเข้ามาอีก
รมว.มหาดไทยยังแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ หลังผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมจะไม่ซ้ำรอยกับปี 2554 ใช่หรือไม่ ทว่าคำกล่าวดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่าไม่มีพายุหมุนฤดูร้อนเข้ามาอีก หรือมีร่องมรสุมพาดผ่าน
“ปี 2554 มีพายุหมุนฤดูร้อน 3 ลูก และมีร่องมรสุมพาดผ่านติดต่อกัน 3 ครั้ง จึงทำให้มีฝนมาก และระบายน้ำไม่ทัน แต่ปีนี้จะหนักในบริเวณน้ำไหลผ่าน ถ้าไม่มีมรสุมหรือร่องมรสุมเข้ามาอีก จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้” รมว.มหาดไทยกล่าวเมื่อ 5 ต.ค.
ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) โดยให้เหตุผลว่า ต้องบริหารจัดการน้ำฝนที่อาจตกเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 5-7 ต.ค. เพราะเกรงว่าหากยังไม่รีบพร่องน้ำที่มีอยู่ออกไป เมื่อน้ำเหนือเข้ามาแทรกก็อาจทำให้รับมือได้ไม่ทันการ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยอมรับว่า สถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ “กำลังอยู่ในจุดเปราะบางที่สุด” จากน้ำเหนือไหลลงมา ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนเพิ่มเติม จากการคาดการณ์น่าจะสูงสุดในช่วง 7-10 ต.ค. นี้
ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลเชิงเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำระหว่างปี 2554 กับ 2565 เพื่อยืนยันว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน “ไม่รุนแรงเท่าปี 2554”
เช่นเดียวกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า ที่ออกมาแสดงภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า พื้นที่น้ำท่วมขังทั่วไทยในเดือน ก.ย. 2565 ยังห่างจากเมื่อ 11 ปีก่อน ถึง 3 เท่าตัว
บีบีซีไทยขอนำข้อเท็จจริงของมหาอุทกภัยปี 2554 เป็นตัวตั้ง และเอาข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 มาวางเทียบเคียง โดยเน้นที่ปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็น น้ำเหนือ-น้ำนอง-น้ำหนุน
1. ฝนสะสม
ปี 2554 ฝนมาเร็วกว่าปกติคือมาตั้งแต่เดือน มี.ค. และมีปริมาณมากกว่าปกติทุกเดือน จากปรากฏการณ์ลานิญา ทำให้ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35%
เฉพาะพื้นที่ กทม. มีปริมาณฝนสะสมทั้งปี (ข้อมูล ณ 1 ธ.ค. 2554) อยู่ที่ 2,257.5 มิลลิเมตร ขณะที่ปริมาณฝนรายเดือนสะสมเฉลี่ยคาบ 20 ปี ของสำนักการระบายน้ำ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2554) อยู่ที่ 1,654.4 มิลลิเมตร และปริมาณฝนรายเดือนสะสมเฉลี่ยคาบ 30 ปี ของกรมอุตุนิยมวิทยา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2554) อยู่ที่ 1,973.5 มิลลิเมตร ทั้งนี้ เดือน ต.ค.เป็นเดือนที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุดของปีที่ 388 มิลลิเมตร
ปี 2565 ฤดูฝนเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ เพราะปรากฏการณ์ลานิญาเช่นกัน ส่งผลให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงขึ้น แต่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยืนยันว่า “ไม่รุนแรงเท่าปี 2554” โดยปริมาณฝนทั้งประเทศในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ประมาณ 205 มิลลิเมตร คิดเป็น 16% แต่ยังต่ำกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 ประมาณ 92 มิลลิเมตร หรือคิดเป็น 6%
เฉพาะพื้นที่ กทม. มีปริมาณฝนสะสม ณ วันที่ 5 ต.ค. 2565 อยู่ที่ 2,040 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าย้อนไปดูปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 ก.ย. 2565 อยู่ที่ 1,979.5 มิลลิเมตร เปรียบเทียบกับปี 2564 ในช่วงเดียวกันมีปริมาณ 1,556 มิลลิเมตร และมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ถึง 46.7% โดยปริมาณฝนเฉลี่ยคาบ 30 ปี (2534-2563) อยู่ที่ 1,348.9 มิลลิเมตร
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม.ระบุว่า เฉพาะ ก.ย. เดือนเดียวมีปริมาณน้ำฝน 801.6 มิลลิเมตร โดยฝนตกทั้งหมด 38 ครั้งใน 28 วัน แบ่งเป็น ฝนที่ก่อตัวในกรุงเทพฯ 63.79% และก่อตัวนอกพื้นที่แต่มาตกในกรุงเทพฯ 36.21%
2. พายุ
ปี 2554 ไทยได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ รวมทั้งหมด 5 ลูก ทว่ามี “นกเต็น” ลูกเดียวที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนอีก 4 ลูกมีอิทธิพลให้เกิดฝนตกชุก เริ่มจากพายุ “ไหหม่า” พัดถล่มพื้นที่ภาคเหนือเมื่อ มิ.ย. ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก น้ำยังระบายไม่ทันหมด พายุ “นกเต็น” ก็ถล่มซ้ำพื้นที่เดิมในช่วงปลายเดือน ก.ค. ส่งผลให้ปริมาณน้ำยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ในเวลาไล่เลี่ยกันมีพายุ “ไห่ถ่าง” เข้าปกคลุมพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนืออีก ต่อมาในเดือน ก.ย. ภาคอีสานและภาคเหนือถูกพายุ “เนสาด” เล่นงานต่อ และปิดท้ายด้วยพายุ “นาลแก” ที่ทำให้มีฝนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ช่วงเดือน ต.ค.
ปี 2565 มีพายุ 3 ลูก ได้แก่ พายุ “มู่หลาน” และพายุ “หมาอ๊อน” ที่เคลื่อนตัวมาแล้วอ่อนกำลังลงก่อนถึงไทยเมื่อ ส.ค. จึงส่งผลกะทบรไม่มาก แต่ล่าสุดพายุ “โนรู” พัดเข้าไทยโดยตรงเมื่อปลายเดือน ก.ย. ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากแทบทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
3. ปริมาณน้ำในอ่าง
ปี 2554 ปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เป็นตัวแปรหนึ่งที่ส่งให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำสะสมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การระบายน้ำทำไม่ได้เพราะพื้นที่ท้ายเขื่อนมีน้ำท่วม
ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ตามรายงาน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2554 พบว่า น้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำเต็มความจุ และเกินปริมาณกักเก็บทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถเก็บกักหรือชะลอน้ำไว้ได้อีกหากฝนตกลงมา
- เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำกักเก็บ 99% (13,390 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร)
- เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ น้ำกักเก็บเต็มความจุ 100% (9,495 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร)
- เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก น้ำกักเก็บเต็มความจุ 100% (942 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร)
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ปริมาณน้ำเกินความจุไปอยู่ที่ 130% (1,021 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร)
นอกจาก 4 เขื่อนนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำกักเก็บทะลุ 100% อีกหลายแห่งในช่วงนั้น ประกอบด้วย เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง, เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา, เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา, เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ, เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา, เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา, เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี, เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง
ปี 2565 ปริมาณน้ำกักเก็บใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 4 ต.ค. 2565 ยังไม่เต็มความจุกักเก็บปกติ
- เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำกักเก็บ 77% (10,298.99 ล้านลูกบาศก์เมตร)
- เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำกักเก็บ 67% (6,362.61 ล้านลูกบาศก์เมตร)
- เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีน้ำกักเก็บ 93% (870.2 ล้านลูกบาศก์เมตร)
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีน้ำกักเก็บ 99% (946 ล้านลูกบาศก์เมตร)
ถึงขณะนี้มีเขื่อน 4 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเกิน 100% แล้ว ได้แก่ เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา และเขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง
กอนช.ออกประกาศลงวันที่ 3 ต.ค. เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา แจ้งการประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำว่า จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วง 3-9 ต.ค. 2565 ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจำเป็นต้องดำเนินการปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน จากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ผลที่ตามมาคือ พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อย ทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก จ.ชัยนาท ถึง จ.สมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ผลที่ตามมาคือระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมืองชัยนาท, อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร
4. ปริมาณน้ำท่า
ข้อมูลของ กอนช. เมื่อ 25 ก.ย. 2565 ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของปีนี้ยังน้อยกว่าเมื่อ 11 ปีก่อนราวครึ่งหนึ่ง
ปี 2554 ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีจำนวนมหาศาลราว 3,000-4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
- สถานี C.2 ค่ายจิรประวัติ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ประมาณ 4,236 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (สูงสุดอยู่ที่ 4,686 ลูกบากศ์เมตร/วินาที ณ 13 ต.ค. 2554)
- สถานี C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ประมาณ 3,703 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (สูงสุดอยู่ที่ 3,721 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ณ 21 ก.ย. 2554)
ปี 2565 ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีจำนวนไม่ถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
- สถานี C.2 ค่ายจิรประวัติ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ประมาณ 1,968 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
- สถานี C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ประมาณ 1,989 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
5. น้ำทะเลหนุน
ปี 2554 ช่วงปลายเดือน ต.ค. ถึงกลางเดือน พ.ย. เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทย ส่งผลให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้ายิ่งขึ้น ทั้งนี้จากการตรวจวัดระดับน้ำของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่สถานีกองบัญชาการกองทัพเรือ พบว่า ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 2.53 เมตร ในวันที่ 30 ต.ค.
ปี 2565 กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ออกประกาศเมื่อ 3 ต.ค. แจ้งว่า วันที่ 5-13 ต.ค. 2565 ระหว่างเวลาประมาณ 06.00-19.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย รวมทั้งมีการระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยคาดหมายว่าจะมีความสูงประมาณ 1.70-2.00 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
จากการตรวจวัดระดับน้ำสถานีกองบัญชาการกองทัพเรือ พบว่า วันที่ 5 ต.ค. 2565 ระดับน้ำขึ้นเต็มที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.86 เมตร
6. พื้นที่น้ำท่วม
ใน “บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554” จัดทำโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า ไทยมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมในครั้งนั้นมากถึง 69.02 ล้านไร่ โดยเดือนที่มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุดคือเดือน ต.ค. มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 18.49 ล้านไร่ รองลงมาคือเดือน พ.ย. มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 16.67 ล้านไร่ และเดือน ก.ย. มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 15.38 ล้านไร่
ล่าสุดเมื่อ 3 ต.ค. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า (GISTDA) เปิดเผยข้อมูลภาพจากดาวเทียมโดยเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมขังทั่วไทยในเดือน ก.ย. ของ 3 ปี คือ ปี 2554, 2564 และ 2565 พบว่า พื้นที่น้ำท่วมขังในปัจจุบันยังห่างจากเมื่อ 11 ปีก่อน ถึง 3 เท่าตัว
ก.ย. 2554 มีพื้นที่น้ำท่วมขังทั่วประเทศ 15,996,150 ไร่ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 350,015 ไร่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,412,704 ไร่, ภาคกลาง 9,702,429 ไร่, ภาคตะวันออก 1,207,294 ไร่, ภาคตะวันตก 258,127 ไร่ และภาคใต้ 65,581 ไร่
ก.ย. 2565 มีพื้นที่น้ำท่วมขังทั่วประเทศ 5,331,739 ไร่ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 154,456 ไร่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,955,311 ไร่, ภาคกลาง 2,814,646 ไร่, ภาคตะวันออก 147,844 ไร่, ภาคตะวันตก 259,481 ไร่ และภาคใต้ 0 ไร่
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเมื่อ 5 ต.ค. 2565 ว่า ในช่วง 28 ก.ย.-5 ต.ค. เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 30 จังหวัด รวม 139 อำเภอ 471 ตำบล 2,060 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 41,324 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิจิตร ตาก นครสวรรค์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ลพบุรี สระแก้ว และปราจีนบุรี รวม 89 อำเภอ 376 ตำบล 1,970 หมู่บ้าน
ขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีน้ำล้นตลิ่งใน 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี และชัยนาท รวม 20 อำเภอ 161 ตำบล 776 หมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัจจัยทางธรรมชาติที่กล่าวไว้ข้างต้น ยังมีอีก 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยคือ ปัจจัยทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ป่าไม้, โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดการน้ำ, โครงสร้างป้องกันน้ำท่วม, ระบบระบายน้ำ และสิ่งกีดขวางทางน้ำต่าง ๆ และอีกปัจจัยคือการบริหารจัดการน้ำของรัฐ ทั้งการหน่วงน้ำ ผันน้ำ และระบายน้ำ
ที่มาข้อมูล : 1) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ 2) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ 3) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า 4) กรมอุตุนิยมวิทยา 5) กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ 6) กรุงเทพมหานคร 7) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
…..
ข่าว BBC ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว