พายุเนสาท : กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนกลายเป็นไต้ฝุ่นจ่อถล่มเวียดนาม ทำไทย “มีเมฆมาก”

กรมอุตุนิยมวิทยา

ที่มาของภาพ, กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนอิทธิพลพายุเนสาท ที่จ่อเคลื่อนเข้าเวียดนาม 20-21 ต.ค. นี้ อาจส่งอิทธิพลถึงสถานการณ์ฝนในไทย ขณะที่ ฤทธิ์พายุเซินกา ทำภูเก็ตฝนตกหนักในรอบหลายสิบปี

วันนี้ (17 ต.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยาเผยแพร่ข้อมูลอัพเดทถึงเส้นทางพายุเนสารท (NESAT) ระบุว่า ตอนนี้ มีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนที่ “รุนแรง” มีศูนย์กลางอยู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ความเร็วลมสูงสุดประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม.

“พายุมีแนวโน้มจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ในวันนี้” กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุ พร้อมชี้ว่า พายุจะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามตอนบนวันที่ 20-21 ต.ค.

อย่างไรก็ดี พายุเข้าเวียดนามในช่วงที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ “จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว” และ “คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยมีเมฆเพิ่มขึ้น”

เนสาทเป็นพายุลูกที่ 20 ในปีนี้ มีความหมายว่า การประมง ตั้งชื่อโดยประเทศกัมพูชา

ก่อนหน้านี้ ประกาศกรุมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุเนสารท เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ระบุว่า ช่วงวันที่ 17-21 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร จึงขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

กรมอุตุนิยมวิทยา

ที่มาของภาพ, กรมอุตุนิยมวิทยา

สำหรับชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 17-21 ตุลาคม 2565

ภูเก็ตท่วมหนักในรอบหลายสิบปี

ประชาชนใน จ.ภูเก็ต เผยแพร่ภาพน้ำท่วมในหลายพื้นที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ตลอดวานนี้ (16 ต.ค.) รวมถึงภาพน้ำท่วมสูงในพื้นที่เมืองเก่า พร้อมระบุว่า เป็นน้ำท่วมครั้งรุนแรงสุดของภูเก็ตในรอบ 50 ปี

ก่อนที่ระดับน้ำในย่านเมืองเก่าจะเริ่มลดลงจนเป็นปกติในช่วงเย็น แต่ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูเก็ต เป็นผลจากอิทธิพลของพายุเซินกา ที่กระทบหนักหลายพื้นที่ทางภาคใต้และภาคอีสาน

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต รายงานสถานการณ์ประจำวันนี้ (17 ต.ค.) ว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังเส้นทางจราจรและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู และถลาง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบรวม 19 ชุมชน/หมู่บ้าน แต่ไม่ม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แบ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบ อำเภอถลาง 8 ชุมชน/หมู่บ้าน อำเภอกะทู้ 5 ชุมชน/หมู่บ้าน และอำเภอเมืองภูเก็ต 6 ชุมชน/หมู่บ้าน

พยากรณ์อากาศวันนี้ ยังเตือนว่ามีเมฆมากกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีความห่วงใยนักท่องเที่ยวและประชาชนในการเดินทางสัญจรในช่วงวันหยุดยาวประกอบกับ จ.ภูเก็ต โดยสั่งการให้ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกการจราจรบริเวณจุดที่มีน้ำท่วมขัง รวมถึงบริเวณย่านการค้าและเศรษฐกิจ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ สำรวจเครื่องหมายจราจร ระบบไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนในพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

ตลอดจนเตรียมแผนเผชิญเหตุ และชุดเคลื่อนที่เร็วไว้แก้ไขปัญหากรณีมีรถจอดเสียหรือเกิดอุบัติเหตุกีดขวางการจราจร ให้เตรียมแผนการเคลื่อนย้ายรถ และการเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ เพื่ออำนวยการจราจรที่จุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว

น้ำท่วมอุบลราชธานียังหนัก

สถานการณ์น้ำใน จ.อุบลราชธานี ยังคงน่าวิตก ซ้ำเติมด้วยอากาศที่หนาว ทำให้ประชาชนออกมาร้องขอเครื่องนุ่มห่มผานทางสังคมออนไลน์

“น้ำท่วมหนักกว่าปี 62 แต่การช่วยเหลือดูแลน้อยกว่าปี 62 ชาวบ้านและเอกชนต้องช่วยเหลือกันเอง” ผู้ใช้สังคมออนไลน์คนหนึ่ง ระบุ

ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี อัพเดทข้อมูลวันที่ 16 ต.ค. ว่า แม่น้ำมูล ที่สถานีวัดระดับน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ระดับตลิ่งอยู่ที่ 112.0 ม.รทก. (7ม.) ระดับน้ำ วันนี้ 116.47 ม.รทก. (11.47 ม.) อัตราการไหล 5,705.00 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวาน -0.02 ม. สูงกว่าระดับน้ำสูงสุดปี 2564 อยู่ 4.86 ม.

ขณะที่เส้นทางคมนาคมหลักในการสัญจรหลายเส้นทางของประชาชน ได้รับผลกระทบ รวมถึงเส้นทางจากอำเภอเมืองอุบลราชธานี ไปอำเภอวารินชำราบ และเส้นทางสะพานเสรีประชาธิปไตย 200 ปี ที่มีน้ำท่วมสูงกว่าผิวจราจร ไม่สามารถสัญจรข้ามฟากด้วยทางรถได้ ต้องสัญจรข้ามฟากทางเรือ

เบื้องต้น ทางการได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ อาทิ เรือบริการประชาชนจาก อ.เมือง ไป อ.วารินชำราบ รวมถึงรถบริการทางบกตามจุดต่าง ๆ