เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยิงขีปนาวุธตกใกล้ชายฝั่งของอีกฝ่ายเป็นครั้งแรก

เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ยิงขีปนาวุธโต้ตอบกัน และพุ่งตกลงใกล้กับชายฝั่งของสองประเทศเป็นครั้งแรก

วันนี้ (2 พ.ย.) เมื่อเวลา 9:00 ตามเวลาท้องถิ่น เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธอย่างน้อย 10 ลูก ข้ามเส้นแบ่งเขตระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เข้าไปยังน่านน้ำใกล้ชายฝั่งเกาหลีใต้

ขีปนาวุธอย่างน้อย 1 ลูกของเกาหลีเหนือ ตกลงใต้เส้นแบ่งเขตแดนทางของฝั่งเกาหลีใต้เพียง 26 กิโลเมตร และตกลงห่างจากเมืองซกโช ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาหลีใต้ เพียง 56 กิโลเมตร

การยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ส่งผลให้ทางการบนเกาะอุลลึงโด ทางตะวันออกของเกาหลีใต้ ต้องเปิดสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนอพยพเข้าไปยังหลุมหลบภัย เพราะขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ มีลักษณะการยิงพุ่งไปยังเกาะอุลลึงโดอย่างมีนัยสำคัญ โดยลูกหนึ่งตกห่างจากเกาะ 167 กิโลเมตร

Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ต่างตรวจจับการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้ พร้อมออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรง

ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ ระบุว่า การยิงขีปนาวุธครั้งนี้ของเกาหลีเหนือถือเป็น “การรุกรานอาณาเขตอย่างเห็นได้ชัด” แม้ว่าขีปนาวุธจะตกนอกน่านน้ำอาณาเขตของเกาหลีใต้ก็ตาม โดยผู้นำเกาหลีใต้ยังประกาศจะตอบโต้อย่างรวดเร็วและแข็งกร้าว

ภายหลังจากนั้น 3 ชั่วโมง เกาหลีใต้ได้ยิงขีปนาวุธแบบอากาศสู่พื้นดิน 3 ลูก ข้ามเส้นแนวจำกัดตอนเหนือ โดยขีปนาวุธตกลงไปยังอีกฝั่งของแนวจำกัดตอนเหนือ ใกล้กับชายฝั่งเกาหลีเหนือ

BBC

ภายใต้กฎหมายสากล ประเทศต่าง ๆ สามารถอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำในอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลนอกชายฝั่งได้ แต่ครั้งนี้ ถือว่าเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธตกลงใกล้ชายฝั่งเกาหลีใต้มากที่สุด และทั้งปีนี้ เกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงขีปนาวุธมาแล้วกว่า 50 ลูก และมีครั้งหนึ่งเป็นการยิงขีปนาวุธพาดผ่านน่านฟ้าทางตอนเหนือของญี่ปุ่นด้วย

เมื่อวันอังคาร (1 พ.ย.) เกาหลีเหนือเตือนว่า เกาหลีใต้และสหรัฐฯ จะต้องชดใช้อย่างสาสม หากยังเดินหน้าซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่ ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อรับมือการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ โดยเมื่อวันจันทร์ (31 ต.ค.) เรือดำน้ำขับเคลื่อนพลังนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้เคลื่อนเข้ามาถึงนอกชายฝั่งเกาหลีใต้ เพื่อร่วมการซ้อมรบที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ส.ค.

รัฐบาลสหรัฐฯ และเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า เกาหลีใต้ใกล้จะกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังหยุดทดสอบมานาน 5 ปี โดยหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ระบุว่า ตอนนี้ เกาหลีเหนือเตรียมความพร้อมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว

การยิงขีปนาวุธโต้ตอบกันไปมา แม้จะตกลงนอกน่านน้ำอาณาเขตของทั้งสองประเทศ เกิดขึ้นในช่วงที่เกาหลีใต้กำลังไว้อาลัยทั่วประเทศ ต่อโศกนาฏกรรมเบียดเสียดกันเสียชีวิตในย่านอิแทวอน เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 156 คน

คิม จอง-อึนกำลังทำอะไรอยู่

มีเหตุผลสามประการที่เกาหลีเหนือจะยิงขีปนาวุธ นั่นคือ หนึ่ง เพื่อทดสอบและปรับปรุงเทคโนโลยีอาวุธของตน สอง เพื่อส่งข้อความทางการเมืองไปทั่วโลก (โดยหลักคือสหรัฐฯ) และสาม เพื่อสร้างความประทับใจให้ประชากรเกาหลีเหนือและสนับสนุนความจงรักภักดีต่อระบอบการปกครอง

อาจเป็นเรื่องยากที่จะถอดรหัสว่าการกระทำต่าง ๆ ของเปียงยางนั้นมีเป้าหมายอะไรกันแน่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในคราวนี้ นายคิมแสดงความประสงค์ที่ชัดเจน

สื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือรายงานหลายครั้งว่า การยิงขีปนาวุธและการซ้อมรบระลอกครั้งล่าสุดเป็นการตอบโต้การซ้อมรบใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เกาหลีเหนือตำหนิศัตรูที่เพิ่มความตึงเครียด และการปล่อยขีปนาวุธเหล่านี้ ถือเป็นคำเตือนที่ชัดเจนว่าพวกเขาควรหยุดสหรัฐฯ

เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จัดซ้อมรบขนาดใหญ่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ที่มีทั้งแบบแยกกันและร่วมกัน เพื่อแสดงความพร้อมรับมือการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไม่ต้องสงสัยเลยว่า การกระทำของมหาอำนาจเหล่านี้ ยิ่งสร้างความโกรธเคืองให้คิม จอง-อึน ที่มองว่าการซ้อมรบลักษณะนี้ เป็นการซ้อมรบเพื่อเตรียมรุกรานเกาหลีเหนือ และเหตุผลที่เกาหลีเหนือต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก็เพื่อป้องกันการรุกรานนั่นเอง

อีกเหตุผลที่ยังไม่ชัดเจนนัก ถึงการเพิ่มความตึงเครียดในครั้งนี้ของผู้นำเกาหลีเหนือ คือ บางคนเชื่อว่าเขาอาจกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการทดสอบที่ทวีความยั่วยุมากขึ้น อาทิ การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือการบุกโจมตีเกาหลีใต้ในขนาดย่อม

ปีที่แล้ว คิม จอง-อึน ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีต่อจากนี้ ลงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธใหม่ทั้งหมดที่เขาวางแผนจะพัฒนา รวมถึงระเบิดนิวเคลียร์ในสนามรบที่มีขนาดเล็กลง จากนั้นเขาก็สัญญาว่าจะเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศด้วย “ความเร็วสูงสุด” และการทดสอบล่าสุดเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเขากำลังดำเนินการตามสิ่งที่ต้องการทำ

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว