เปิดใจตำรวจเกาหลีใต้ที่พยายามยับยั้งโศกนาฎกรรมอิแทวอน

“ผมเห็นคนจำนวนมากนอนอยู่บนพื้น ผู้คนกรีดร้อง คุณรู้สึกได้ถึงความกดดันที่เพิ่มขึ้นจากด้านบนซอยนั้น”

ผู้ช่วยสายตรวจ คิม แบค-เกียม ยังสั่นเทาด้วยความหวาดหวั่นจากสิ่งที่เขาได้เห็นในย่านอิแทวอน เมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา

“เราได้รับรายงานว่าเกิดสิ่งผิดปกติในพื้นที่ ผมจึงเข้าไปยังจุดแจ้งเหตุประมาณเวลา 22.10 น. และ 22.15 น.” เขาบอกกับบีบีซี ที่สถานีตำรวจในย่านอิแทวอน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดโศกนาฏกรรมเพียงไม่กี่เมตร

“ผมพยายามทำหน้าที่ ช่วยเหลือผู้คน แต่ผมกลับทำไม่ได้”

ผู้ช่วยสายตรวจ คิม แบค-เกียม

วิดีโอที่เผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นผู้ช่วยสายตรวจ คิม แบค-เกียม พยายามอย่างเต็มที่ที่จะยับยั้งไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้าไปยังซอยที่เกิดเหตุ ซึ่งทำให้ชาวเกาหลีใต้ออกมาแสดงความชื่นชมถึงการทำหน้าที่ของเขา ท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า ทางการส่งตำรวจเข้ารักษาความปลอดภัยน้อยกว่าที่ควร

คลิปวิดีโอนี้ แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเพียงคนเดียว ด้วยสีหน้าที่วิตกกังวล พยายามห้ามไม่ให้ฝูงชนจำนวนมากเข้าไปยังซอยแคบ ๆ ซึ่งเป็นจุดเกิดการเบียดเสียดกันเสียชีวิตกว่า 150 คน

“คนกำลังตายนะ” เขาตะโกนอย่างสุดเสียง “ทุกคนไปทางนี้ ได้โปรดให้ความร่วมมือด้วย”

อันที่จริง ผู้ช่วยสายตรวจคิม ไม่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เพราะแม้เขาจะสังกัดอยู่ใจกลางย่านอิแทวอน แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ส่งเขาไปยังถนนเส้นนั้นในคืนวันเกิดเหตุ ซึ่งมีประชาชนกว่า 100,000 คน เดินทางไปสังสรรค์เทศกาลฮาโลวีน

ซอยลาดชัน จุดเกิดเหตุ

“ผมอยู่ที่สถานี รอรับแจ้งเหตุเพื่อไปรับมืออาชญากรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอิแทวอนตอนกลางคืน” เขากล่าว แต่คืนนั้น เขาไม่ได้รับแจ้งถึงการเข้าควบคุมฝูงชนเลย รวมถึงในช่วงหลายวันก่อนการจัดเทศกาลฮาโลวีนด้วย

“เราได้รับรายงานว่าเกิดสิ่งผิดปกติใกล้กับซอยดังกล่าว ผมเลยรีบไปยังจุดเกิดเหตุ”

เมื่อไปถึง ผู้ช่วยสายตรวจคิมได้เห็นฝูงชนแออัดยัดเยียดอย่างน่ากลัว ผู้คนล้มทับซ้อนกันบริเวณต้นซอยซึ่งเป็นทางลาดชัน เชื่อมต่อกับถนนใหญ่ที่เต็มไปด้วยสถานบันเทิงยามค่ำคืน

เขาจึงตัดสินใจว่าต้องยับยั้งไม่ให้ผู้คนทะลักเข้าไปในซอยมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเบียดเสียดกันไปมากกว่านี้

“อย่างที่คุณเห็นในวิดีโอ ผมเริ่มตะโกน และขอให้ประชาชนย้ายไปที่อื่น” เขากล่าว

ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ รวมถึงบางคนมาช่วยเขาในการเตือนประชาชนให้เดินทางไปที่อื่นด้วย ต่อจากนั้นไม่นาน ประชาชนหลายสิบคนได้เข้าช่วยเหลือเหยื่อ ด้วยการปั๊มหัวใจ เพื่อฟื้นสัญญาณชีพคนที่หมดสติไปจากการเบียดเสียด

ผู้ช่วยสายตรวจคิมยอมรับว่า เขาไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นในพื้นที่ แต่ได้รับแจ้งในภายหลังว่า ตำรวจหลายนายได้เข้าช่วยเหลือในปฏิบัติการช่วยชีวิตประชาชนด้วย

แต่แม้เขาจะต้องทำงานเพียงคนเดียว โดยไม่มีเครื่องกระจายเสียงหรือโทรโข่ง และต้องเผชิญกับภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพื่อยับยั้งโศกนาฏกรรมที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า

จนถึงวันนี้ การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก สร้างความรู้สึกผิดกับเขาอย่างมาก

“ผมรู้สึกเหมือนพยายามไม่มากพอ ผมไม่ได้ทำหน้าที่ของตำรวจเกาหลีใต้ และผมเสียใจ” เขากล่าว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 พ.ย.) แม่ของผู้เสียชีวิตคนหนึ่งได้ติดต่อผู้ช่วยสายตรวจคิม เพื่อขอบคุณต่อการกระทำของเขาในคืนวันนั้น

“ผมเสียใจจนพูดขอบคุณเธอไม่ได้” เขากล่าว

“ผมทำหน้าที่ไม่สำเร็จในคืนวันนั้น ถ้าผมได้พบกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ผมจะขอโทษและคุยกับพวกเขา ผมอยากทำเช่นนั้น”

ผู้เสียชีวิตตอนนี้อยู่ที่ 156 คน

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่ตอนนี้ ครอบครัวเหล่าผู้เสียชีวิต ต้องการคำตอบจากทางการว่า ทำไมถึงไม่เตรียมการที่เพียงพอ เพื่อยับยั้งโศกนาฏกรรมเช่นนี้

เมื่อวันพุธ (2 พ.ย.) หน่วยสอบสวนพิเศษได้บุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ 8 แห่งทั่วกรุงโซล เพื่อรวบรวมหลักฐาน สำหรับตรวจสอบว่าเกิดการเบียดเสียดกันเสียชีวิตได้อย่างไร

จนถึงตอนนี้ หลักฐานถึงความล้มเหลวของทางการเพื่อยับยั้งโศกนาฏกรรมนี้ เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุตั้งแต่ต้น ไปจนถึงพฤติการณ์หลังได้รับแจ้งเหตุถึงฝูงชนที่แออัดกันมากจนเสี่ยงเกิดอันตราย ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุหลายชั่วโมง

ในช่วงหลายวันก่อนเกิดเหตุ สภาชุมชนท้องถิ่น ได้จัดการประชุม 2 ครั้ง เพื่อหาแนวทางรับมือกับการเตรียมจัดกิจกรรมฮาโลวีน โดยพูดถึงเรื่องมาตรการรับมือโควิด การเก็บขยะ และจอดรถผิดกฎหมาย แต่กลับไม่มีการพูดถึงการควบคุมฝูงชนเลย แม้ว่าผู้บริหารสำนักงานเขตจะยอมรับว่า การจัดกิจกรรมปีนี้ จะเป็นปีแรกในรอบ 3 ปี ที่ไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

เมื่อวันอังคาร (1 พ.ย.) ผู้บัญชาการตำรวจเกาหลีใต้ยอมรับว่า การรับมือกับการแจ้งเหตุฉุกเฉินของตำรวจนั้น “ไม่เพียงพอ” และเขารู้สึกถึง “ความรับผิดชอบใหญ่หลวง” ต่อเหล่าผู้เสียชีวิต

สำหรับความพยายามของผู้ช่วยสายตรวจคิม สาธารณชนให้การชื่นชมอย่างมาก แต่ตัวเขาเอง อยากให้สังคมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตมากกว่า

“คนจำนวนมากติดต่อมาหาผม ถามผมว่าโอเคไหม” เขาระบุ

“แต่แทนที่จะเป็นห่วงผม ผมอยากให้คิดถึงครอบครัวผู้เสียชีวิต ที่ทุกข์ทรมานมากที่สุด และสวดภาวนาให้พวกเขา”

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว