
- โดย อเล็กซานเดอร์ วาสเควซ
- บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวันเบาหวานโลก (14 พ.ย.) ชี้ว่า 1 ใน 4 ของคนที่เป็นเบาหวานไม่ได้รับการช่วยเหลือที่จำเป็นต่อการรักษาโรคนี้
สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation – IDF) บอกว่า คนราว 26% ไม่ได้รับข้อมูลและความรู้เพียงพอเกี่ยวกับอาการของตัวเองตอนฟังคำวินิจฉัยจากแพทย์ นี่ทำให้พวกเขารับมือกับโรคไม่ได้ดี เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก, ไตวาย, ตาบอด, ต้องตัดขา, รวมถึงมีปัญหาด้านสุขภาพจิตด้วย
งานวิจัยนี้อ้างอิงข้อมูลจากแบบสำรวจออนไลน์คน 3,208 คน ที่เป็นเบาหวานหรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานด้านนี้ จากหลายประเทศ อาทิ บราซิล อินเดีย และไนจีเรีย
สำหรับตัวผมเองที่เป็นเบาหวาน น่าเศร้าที่ผลจากแบบสำรวจนี้ไม่ได้ทำให้แปลกใจเลย

ที่มาของภาพ, Alexander Vasquez
ได้รับคำวินิจฉัยแต่ไม่มีข้อมูลเพียงพอ
หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ตอนอายุ 7 ขวบขณะอาศัยอยู่ประเทศคอสตาริกา ผมเข้าใจดีว่าคนเป็นเบาหวานเครียดและวิตกกังวลแค่ไหนที่ต้องเติบโตมาโดยไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับโรคที่ตัวเองเป็น แพทย์วินิจฉัยว่าผมเป็นเบาหวานโดยเป็นผลข้างเคียงจากยารักษาโรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์ (Brittle Bone Disease) ตอนนี้ผมต้องใช้รถเข็นด้วย
ย้อนไปตอนวัยรุ่น ผมไม่ได้มีอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (glucose sensor) ผมเลยมักวิตกกังวลตลอดว่าวันนั้นได้ฉีดอินซูลินไปหรือยัง หรือฉีดไปแล้วสองทีเพราะกลัวว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำจนอยู่ในระดับเสี่ยง
ผมเพิ่งมาเรียนรู้เกี่ยวกับโรคประจำตัวนี้มากขึ้นหลังจากย้ายมาสหราชอาณาจักรตอนอายุ 25 ปี ตอนนี้ผมได้ความรู้และเครื่องมือจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service หรือ NHS) เลยมั่นใจขึ้นเวลาต้องตัดสินใจทำอะไรหลายอย่างในแต่ละวัน

ที่มาของภาพ, Clementina
ผมลองติดต่อหาคนที่เป็นโรคเบาหวานคนอื่น และได้คุยกับแอนนา ลูเซีย จากเม็กซิโก เธอได้รับการวินิจฉัยตอนอายุ 8 ขวบ แอนนา ลูเซีย เล่าว่า รู้สึกเสียกำลังใจมากเพราะเพียงแค่ชั่วข้ามคืน เธอกลายเป็นเด็กที่ไม่สามารถกินขนมหวานได้
การไม่ได้รับการสนับสนุนและการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ส่งผลกระทบต่อทั้งแอนนา ลูเซีย และคลีเมนทีนา แม่ของเธอ
คลีเมนทีนาบอกว่า ที่โรงเรียนควรจะมีการสอนพิเศษเรื่องนี้ และมีแผนการว่าจะทำอย่างไรหากมีนักเรียนเป็นโรคนี้
………………..
เบาหวานคืออะไร
- เบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
- เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนอินซูลิน
- เบาหวานมี 2 ชนิด คือชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2
………………..
ทุกวันนี้ แอนนา ลูเซีย อายุ 17 ปี แล้ว เธอสามารถควบคุมอาการได้แต่ส่วนใหญ่ต้องช่วยเหลือตัวเอง
อย่างไรก็ดี เธอบอกว่าบางทีก็เหนื่อยมาก “ฉันนอนได้น้อยเพราะต้องคอยวัดระดับน้ำตาล หรือไม่ก็รอหลายชั่วโมงเพื่อฉีดอินซูลิน”
ตอนนี้เธอเริ่มใส่อุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดตัวหนึ่งที่ขายกันตามท้องตลาดซึ่งมีชื่อว่า Freestyle Libre แล้ว เธอบอกว่าคงจะดีหากมีเทคโนโลยีนี้ช่วยตั้งแต่แรก แม้เพื่อน ๆ และครอบครัว จะให้การช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มที่ เธอบอกว่าบางทีก็ยากลำบากเมื่อต้องจัดการกับความเครียดจากการบ้านและการสอบที่โรงเรียนด้วย
ผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ที่มาของภาพ, Getty Images
ศาสตราจารย์แอนดรูว์ โบลตัน ประธานสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ บอกว่า หากคนที่เป็นเบาหวาน “ไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง นี่จะทำให้เกิดความวิตกกังวล และแน่นอน ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้”
งานวิจัยชี้ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องมีความรู้เรื่องนี้มากขึ้น จากแบบสำรวจ เจ้าหน้าที่ไม่ถึงครึ่งบอกว่าสามารถสังเกตเห็นได้ว่าคนไข้มีอาการซึมเศร้าโดยเป็นผลมาจากการเป็นเบาหวาน
จากผลสำรวจ 1 ใน 5 หรือ 20% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เคยมีอาการซึมเศร้าโดยเป็นผลมาจากการเป็นเบาหวาน
จะทำอย่างไรได้

ที่มาของภาพ, Getty Images
ศ.โบลตัน บอกว่า คนที่เป็นเบาหวานต้องได้รับข้อมูลเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่โซเชียลมีเดีย แบบสำรวจชี้ว่า “คนที่เป็นเบาหวานดูแลตัวเองคิดเป็น 99% ของเวลาทั้งหมด” โดยโดยเฉลี่ยแล้ว คนเป็นโรคนี้ใช้เวลาปรึกษาเรื่องนี้กับผู้เชี่ยวชาญแค่ปีละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ บอกว่า พวกเขาพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ โดยตอนนี้มีองค์กรที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ถึง 240 แห่ง ทำงานช่วยเหลือคนเป็นเบาหวานในกว่า 160 ประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันและรักษาโรคด้วยการให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์
“เบาหวานเป็นปัญหาระดับโลก ตอนนี้เราน่าจะมีคนเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นเบาหวาน” ศ.โบลตัน กล่าว “ทุกคนควรจะได้รับการรักษาและได้รับความรู้เรื่องนี้ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม”
………..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว