การระบาดโควิดระลอกใหม่น่ากังวลแค่ไหน

แม้ว่าโควิด-19 จะถูกประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. และปรับให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ดูเหมือนสถานการณ์การระบาดกลับน่าเป็นห่วงขึ้นมาอีกครั้งนับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ตอนนี้ ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายวัน เพิ่มเป็น 15 คนแล้ว

covid icons

Getty Images

ข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยยังเพิ่มสูง โดยผู้เสียชีวิตทุกรายยังอยู่ในกลุ่ม 608 และเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ดูเหมือนจะเริ่มชะลอตัวลง และระบบสาธารณสุขยังรองรับได้

ฐานข้อมูลย้อนหลังของกระทรวงสาธารณสุขนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 46 (13-19 พ.ย.) ตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยทยอยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า จาก 452 คน เป็น 565 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเฉลี่ยก็เพิ่มจาก 6 คน เป็น 9 คน

ในสัปดาห์ที่ 47 (20-26 พ.ย.) ผู้ติดเชื้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 702 คน และสัปดาห์ที่ 48 (27 พ.ย.-3 ธ.ค.) ปรับลดลงเป็น 612 คน และสัปดาห์ล่าสุด (4-10 ธ.ค.) ลดลงมาเป็น 566 คน

แต่ในแง่ของจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 46 จาก 9 คน เพิ่มขึ้นเป็น 10 คน และ 15 คน ตามลำดับ จนตัวเลขชะลอตัวในสัปดาห์ล่าสุดยังคงอยู่ที่ตัวเลขเฉลี่ย 15 คน

สถานการณ์ตอนนี้เป็นเช่นไร

แพทย์ชื่อดังหลายคนได้ให้ความเห็นต่อสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันว่า ยังคงน่าจับตาเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันยังใกล้กับช่วงเทศกาลที่มีคนเดินทางและจัดงานรื่นเริง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้การระบาดเพิ่มสูงขึ้นอีก

รศ.นพ. ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยประเมินว่า ตอนนี้ สถานการณ์ถือว่า “พีคสูงกว่าระลอกสามในปีที่แล้วของอัลฟาและเดลตา และ… พีคสูสีกับระลอกช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น จึงย้ำเสมอว่าไม่ใช่เวฟเล็ก รอบตัวมีการติดกันรัว”

นอกจากนี้ รศ.นพ. ธีระ ยังให้ความเห็นว่า ยังถือว่าตอบได้ยาก ว่าความผันผวนจะทวีความรุนแรงมากกว่าปัจจุบันหรือไม่ และจะลงช้าเร็วเพียงใด จากการใช้ชีวิตเสรีในหน้าเทศกาล หากไม่ป้องกันตัว

สถานการณ์โควิด “ศึก” นี้ จะยืดเยื้อไปกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และมีโอกาสยืดไปจนเกิดปะทุซ้ำเติมจากสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ เช่น BQ.1.1, XBB, CH.1.1 ได้ ก็จะทำให้คล้ายกับระลอกสามที่อัลฟานำมาก่อน และยังไม่ทันลงก็มีเดลตาเข้ามาซ้ำ

การตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ และช่วยกันป้องกันตัวจึงสำคัญมาก

จับตาสายพันธุ์ใหม่จากอินเดีย

ท่ามกลางความกังวลของการระบาดในระลอกปัจจุบัน มีคำเตือนจากนายแพทย์จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธถึงความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากอินเดียจะเข้ามาระบาดในไทย เช่นเดียวกันกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2563 ที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งในไทยเมื่อกลางปี พ.ศ.2564

กราฟิก

BBC

นพ. มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศไทยต้องจับตาเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย เพราะหลายครั้งที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ในประเทศอินเดีย หลังจากนั้นอีกไม่นานก็พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นั้นในประเทศไทย

สำหรับเชื้อไวรัสตัวล่าสุดที่ต้องจับตา คือ ไวรัสโควิดสายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นลูกผสมของไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75 โดยเชื่อว่าอีกไม่นาน ก็จะแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย

“ประเทศไทยเตรียมตัวได้เลยว่า หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 อีกไม่นานก็จะมีสายพันธุ์ XBB แพร่ระบาดเหมือนประเทศอินเดีย” เพราะสายพันธุ์ใหม่นี้ติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม และหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม

นพ. มนูญ ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าเดิม เพียง 3-4 เดือน ก็เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักและเสียชีวิตเหมือนสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะในคนที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม คือได้วัคซีนครบ 2 โดสและตามด้วยเข็มกระตุ้นอีก 2 เข็ม

ต้องฉีดวัคซีนอย่างไร วัคซีนรุ่นใหม่ต้องรอนานแค่ไหน

แม้ว่าสัญญาณการระบาดในปัจจุบันจะเริ่มชะลอตัว แต่การฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันยังมีความจำเป็น เนื่องจากจะสามารถช่วยป้องกันอาการป่วยหนักและลดโอกาสการสูญเสีย

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประชาชนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม ส่วนเข็มถัดไปควรฉีดห่างกันราว 4 เดือน และส่วนวัคซีนรุ่นใหม่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

วัคซีน

Getty Images

ด้าน ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่นใหม่โดยอ้างประกาศของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (CDC) เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้จริงครั้งแรก (real world effectiveness data) ของวัคซีนรุ่นใหม่ bivalent mRNA (14 ก.ย.- 11 พ.ย.) และรายงานจากวารสาร Nature Medicine เมื่อ 6 ธ.ค. และวารสาร Lancet Infectious Disease และ Lancet Microbe ประจำเดือน ธ.ค. ว่า ภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีในเลือดไม่มีผลต่อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.75.2., BQ.1., XBB.1 และสายย่อยอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่าป้องกันการติดเชื้อไม่ได้

ก่อนหน้านี้ CDC และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้ประกาศแล้วว่าแอนติบอดีที่ใช้ในการรักษาและป้องกัน รวมถึง evusheld (แอนติบอดีสำเร็จรูปหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19) ใช้ไม่ได้กับสายพันธุ์ย่อยใหม่เหล่านี้ ที่เข้ามาแทนที่ตัวเก่า

อย่างไรก็ตาม นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า กรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญถึงเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนรุ่นใหม่ หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ ซึ่งหากพบว่าผลการศึกษาสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 อย่างชัดเจน ก็จะเร่งดำเนินการจัดหามาให้บริการประชาชนในปีหน้า

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว