กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ เผยภาพประวัติศาสตร์จักรวาลอันล้ำลึก

NASA/ESA/CSA/STScI/Webb ERO Production Team "เนบิวลาทารันทูลา"(Tarantula Nebula) อยู่ห่างจากโลก 161,000 ปีแสง นี่คือย่านที่ดวงดาวนับพันถือกำเนิดขึ้น

มันคือของขวัญมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.469 แสนล้านบาท) สำหรับชาวโลก เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์ได้เห็นภาพจักรวาลของเราได้ลึกล้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศในวันคริสต์มาสปีที่แล้ว โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ที่ใช้เวลาในการวางแผน ออกแบบ และสร้าง ยาวนาน 3 ทศวรรษ

กล้องเจมส์เว็บบ์ ถือเป็นทายาทรุ่นที่สองของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล โดยได้รับการออกแบบให้มองเห็นเอกภพส่วนที่อยู่ไกลเกินความสามารถของกล้องฮับเบิล ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดรุ่นก่อนหน้านี้

NASA/ESA/CSA/STScI/Webb ERO Production Team
“เนบิวลาทารันทูลา”(Tarantula Nebula) อยู่ห่างจากโลก 161,000 ปีแสง นี่คือย่านที่ดวงดาวนับพันถือกำเนิดขึ้น

หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่ากล้องเจมส์เว็บบ์ จะมีประสิทธิภาพสู้กล้องฮับเบิลได้หรือไม่

หลังจากถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เราต้องอดใจรอราว 2-3 เดือนให้กล้องเจมส์เว็บบ์ค่อย ๆ คลี่กางกระจกปฐมภูมิความกว้าง 6.5 เมตรออกมา แล้วปรับและจัดวางตำแหน่งของกระจกรับแสง รวมทั้งเปิดการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาทีละชิ้น

การรอคอยดังกล่าวไม่สร้างความผิดหวังให้บรรดาผู้สนใจเรื่องดาราศาสตร์ทั่วโลก เพราะในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยผลงานการบันทึกภาพชิ้นแรกในย่านรังสีอินฟราเรดของกล้องเจมส์เว็บบ์ โดยเป็นภาพสีอย่างเต็มรูปแบบของกระจุกดาราจักรที่อยู่ห่างออกไปหลายพันล้านปี รวมทั้งแสงจากกาแล็กซีในยุคดึกดำบรรพ์ของจักรวาล หลังเกิดเหตุการณ์บิ๊กแบงเพียง 600 ล้านปี

กล้องเจมส์เว็บบ์เปิดจักรวาลอินฟราเรด

กดปุ่มเลื่อนซ้าย-ขวา เพื่อดู “เสาแห่งการก่อกำเนิด” (Pillars of Creation) ในเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula) ที่อยู่ห่างจากโลก 6,500 ปีแสง ด้วยกล้องที่ตรวจจับรังสีอินฟราเรดย่านกลาง (ภาพซ้าย) และกล้องที่ตรวจจับรังสีอินฟราเรดย่านใกล้ (ขวา)

สิ่งแรกที่คุณควรจำเกี่ยวกับกล้องเจมส์เว็บบ์คือ มันเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ตรวจวัดรังสีอินฟราเรด

การที่มันมีความไวต่อรังสีอินฟราเรดหรือร่องรอยความร้อนจาง ๆ ในห้วงอวกาศสูงเป็นพิเศษ ทำให้กล้องสามารถส่องทะลุทะลวงกลุ่มหมอกของฝุ่นและก๊าซ เข้าไปมองเห็นพื้นที่ให้กำเนิดดวงดาวต่าง ๆ และบันทึกแสงจากกาแล็กซีเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก ซึ่งมีอายุถึง 13,500 ล้านปีได้

……………………….

เนบิวลาคารินา

NASA/ESA/CSA/STScI

เนบิวลาคารินา (Carina Nebula) เป็นหนึ่งในเนบิวลาขนาดใหญ่ที่สุดและสว่างมากที่สุด เมื่อมองจากบนโลก และได้รับการขนานนามว่า “หน้าผาแห่งจักรวาล”

คาดว่าจากด้านหนึ่งของภาพนี้ไปยังอีกด้านมีระยะทางประมาณ 15 ปีแสง (หนึ่งปีแสงเท่ากับ 9.46 ล้านล้านกิโลเมตร)

……………………….

ดาราจักรล้อเกวียน

NASA/ESA/CSA/STScI/Webb ERO Production Team

ดาราจักรล้อเกวียน (Cartwheel Galaxy) ซึ่งเป็นดาราจักรขนาดใหญ่ทางด้านขวามือได้รับการค้นพบโดย ฟริทซ์ ซวิคกี เป็นนักดาราศาสตร์ชาวสวิสผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1940

โครงสร้างคล้ายวงล้อเกวียนที่ซับซ้อนนี้เกิดจากการชนแบบประสานงาอย่างรุนแรงกับดาราจักรอื่น คาดว่ามันมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 145,000 ปีแสง

………………….

ดาวเนปจูน

NASA/ESA/CSA/STScI

กล้องเจมส์เว็บบ์ไม่ได้ตรวจดูแต่จักรวาลอันล้ำลึกเท่านั้น แต่ยังตรวจดูวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะของเราด้วย

ดาวเนปจูน (Neptune) เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 8 จากดวงอาทิตย์ และมีวงแหวนอยู่โดยรอบ จุดสีขาวเล็ก ๆ ในภาพนี้คือดวงจันทร์ของดาวเนปจูน โดยดวงจันทร์ไทรทัน (Triton) เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน

………………

เนบิวลานายพราน

NASA/ESA/CSA/STScI-PDRs4All ERS Team

เนบิวลานายพราน (Orion Nebula) เป็นหนึ่งในเนบิวลาสว่างที่สุดและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถือเป็นย่านกำเนิดดาวฤกษ์มวลมากที่อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุดคือประมาณ 1,350 ปีแสง

ในภาพที่ถ่ายได้จากกล้องเจมส์เว็บบ์จะเห็นกำแพงก๊าซและฝุ่นหนาที่เรียกว่า Orion Bar

………………….

ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส

NASA/ESA/CSA/STScI/C.Thomas/I.Wong

หนึ่งในเรื่องราวทางดาราศาสตร์ที่เป็นข่าวใหญ่ที่สุดในปีนี้คือการที่องค์การนาซาบังคับยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) เพื่อทดสอบเทคโนโลยีป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก โดยการใช้ยานพุ่งชนเพื่อเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว

กล้องเจมส์เว็บบ์สามารถบันทึกภาพเศษซากดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสน้ำหนักราว 1,000 ตันที่เกิดจากแรงปะทะในภารกิจนี้ได้

………………….

ดาว WR-140

NASA/ESA/CSA/STScI/JPL-Caltech

นี่คือหนึ่งในภาพน่าตื่นตาที่สุดจากกล้องเจมส์เว็บบ์ในปีนี้ นั่นคือ ดาว ดาว WR-140 ซึ่งย่อมาจากวูล์ฟ-ราเย (Wolf-Rayet) ซึ่งเป็นดาวขนาดใหญ่ที่สิ้นอายุขัยแล้ว

ภาพที่ถ่ายได้จากกล้องเจมส์เว็บบ์เผยให้เห็นการแผ่มวลก๊าซเป็นลูกคลื่นขนาดใหญ่ในห้วงอวกาศ มีลักษณะคล้ายลายเปลือกหอยซึ่งมีขนาดกว่า 10 ล้านล้านกิโลเมตร หรือ 70,000 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ของเรา

……………….

กาแล็กซีปิศาจ

NASA/ESA/CSA/STScI

ดาราจักร M74 หรือมีชื่อเล่นว่า “กาแล็กซีปิศาจ” (Phantom Galaxy) เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้สนใจและศึกษาดาราศาสตร์จากลักษณะคล้ายเกลียวก้นหอยขนาดใหญ่ โดยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 32 ล้านปีแสง

ภาพที่บันทึกได้จากกล้องเจมส์เว็บบ์เผยให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเส้นใยละเอียดของกลุ่มก๊าซและฝุ่นในดาราจักรนี้

…………

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว