ไททานิคภาคนาซี : หนังชวนเชื่อ กับชะตากรรมเรือที่เลวร้ายกว่าเหตุการณ์แรก

Getty Images เรือ SS Cap Arcona เคยเป็นเรือเดินสมุทรที่หรูหรา อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา มันถูกนำไปจอดเทียบท่ารอให้สนิมกินที่ฐานทัพเรือของเยอรมนีในทะเลบอลติก

โศกนาฏกรรมเรือไททานิคล่มทำให้เกิดภาพยนตร์ดังในปี 1997 ซึ่งแสดงนำโดยลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และเคท วินสเล็ต

น้อยคนที่จะรู้ว่าเหตุเรือล่มในครั้งนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้พรรคนาซี เยอรมนี สร้างภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ โดยเรือที่ใช้ถ่ายทำต้องลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าไม่น้อยไปกว่าเรือไททานิคเอง

เรือ SS Cap Arcona ได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้” เคยเป็นเรือเดินสมุทรที่หรูหรา อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา มันถูกนำไปจอดเทียบท่ารอให้สนิมกินที่ฐานทัพเรือของเยอรมนีในทะเลบอลติก

2 ปีก่อนหน้านั้น เรือลำนี้ถูกใช้งานโดยกองทัพเรือของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก่อนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นค่ายพักของลูกเรือในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี เรือ SS Cap Arcona กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังถูกเลือกให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีเยอรมนี

Getty Images
น้อยคนที่จะรู้ว่าเหตุเรือล่มในครั้งนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจทำให้พรรคนาซีเยอรมนีสร้างภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ

ทุ่มทุนมหาศาล

โศกนาฏกรรมไททานิคเป็นที่ทราบกันแล้วในตอนนั้น แต่โจเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมนี ไปเจอบทภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องไททานิคในมุมที่แตกต่างออกไป โดยบอกว่าโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเพราะความโลภของฝ่ายอเมริกาและอังกฤษ

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต วัตสัน นักประวัติศาสตร์และผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Nazi Titanic บอกว่า ถึงตอนนั้น เกิบเบิลส์และพวกนาซีสร้างหนังชวนเชื่อมาแล้วหลายร้อยเรื่อง แต่ตอนนั้นอยากสร้างสิ่งที่แตกต่างออกไป

Getty Images
เรือ SS Cap Arcona เคยเป็นเรือเดินสมุทรที่หรูหรา อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา มันถูกนำไปจอดเทียบท่ารอให้สนิมกินที่ฐานทัพเรือของเยอรมนีในทะเลบอลติก

เกิบเบิลส์ ตกใจกับความสำเร็จของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Casablanca ซึ่งเป็นเรื่องรักโรแมนติกและแทรกเนื้อหาต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์เข้าไปด้วย และเกิบเบิลส์ก็อยากจะตอบโต้ชาติฝ่ายพันธมิตรด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้

เรือ SS Cap Arcona แทบจะเหมือนกับไททานิคทุกอย่างยกเว้นแต่มีปล่องควันแค่ 3 แท่ง แต่ก็ทำของปลอมเพิ่มขึ้นมาอีกแท่งขณะถ่ายทำเพื่อให้เหมือนกับไททานิค

ศ.วัตสัน บอกว่า เกิบเบิลส์ให้ทุนในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ราว 4 ล้านไรชส์มาร์ค หรือ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐถ้าคิดเป็นค่าเงินปัจจุบัน ทำให้นี่เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสูงที่สุดเรื่องหนึ่ง

Getty Images
เฮอร์เบิร์ต เซลพิน ผู้กำกับ

…………………

อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทหารไปรังควานนักแสดงหญิง และก็มีความวิตกกังวลกันว่าฉากถ่ายทำที่มีแสงไฟจะทำให้ฝ่ายพันธมิตรเห็นและมาทิ้งระเบิดโจมตีใส่ได้

ที่แย่ไปกว่านั้น เฮอร์เบิร์ต เซลพิน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของพรรคนาซีอีกต่อไปหลังไปวิพากษ์วิจารณ์พวกเขาที่เข้ามาแทรกแซงเกี่ยวกับตารางการถ่ายทำ เซลพินถูกจับกุมและสอบปากคำโดยเกิบเบิลส์เอง และท้ายที่สุดก็ถูกพบว่าแขวนคอตายอยู่ในห้องขัง

ห้ามฉาย

แต่ในที่สุดภาพยนตร์ก็สร้างเสร็จจนได้ พล็อตหลักของเรื่องคือ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความโลภของบริษัทอังกฤษที่เป็นเจ้าของเรือ ขณะที่ลูกเรือชาวเยอรมันคนเดียวพยายามที่จะชะลอความเร็วของเรือขณะแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง

ตอนจบ มีข้อความเป็นภาษาเยอรมันบอกว่า การเสียชีวิตของผู้โดยสารกว่า 1,500 คน จะเป็น “การประณามชั่วนิรันดร์ต่อการหาผลกำไรที่ไม่หยุดหย่อนของอังกฤษ”

Getty Images
โปสเตอร์ภาพยนตร์ปี 1943

……………….

แต่หลังจากภาพยนตร์ถ่ายทำและตัดต่อเสร็จ เกิบเบิลส์ซึ่งเป็นคนอนุมัติการผลิตเองกลับสั่งห้ามไม่ให้ฉายเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่นาซีมองว่าฉากโศกนาฏกรรมในเรื่องสมจริงซะจนกลัวว่าชาวเยอรมันจะวิตกกังวล เพราะในตอนนั้นพวกเขาตกอยู่ในความเกรงกลัวว่าจะถูกศัตรูถล่มยิงทางอากาศ

Getty Images
ฮานส์ นีลเซน เล่นเป็นเจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันซึ่งเป็นวีรบุรุษในเรื่อง

อเล็ก ฟอน ลูเน็น นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน บอกว่า ปัญหาอีกอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ลูกเรือชาวเยอรมันในเรื่อง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาเพราะเชื่อว่าความคิดพวกเขาผิดในเชิงศีลธรรม นักประวัติศาสตร์ผู้นี้บอกว่านั่นไม่ใช่สารที่พวกนาซีอยากจะสื่อไปถึงทหารเยอรมันในชีวิตจริง

อย่างไรก็ดี ศ.วัตสัน บอกว่า เทคนิคการถ่ายทำในภาพยนตร์เรื่องนี้ดีจนภาพยนตร์จากอังกฤษเรื่อง A Night to Remember จากปี 1958 ซึ่งเกี่ยวกับไททานิค เอาฉากจากภาพยนตร์เยอรมันเรื่องนี้ไปใช้เพราะมีคุณภาพและสมจริงมาก

โศกนาฏกรรมจริง

หลังจากภาพยนตร์ล้มเหลว เรือ SS Cap Arcona ถูกนำไปอพยพทหารและพลเรือนกว่า 25,000 คน หนีการบุกรุกของกองทัพรัสเซีย พอถึงปี 1945 มันกลายเป็นเรือนจำลอยน้ำในทะเลบอลติกของคนที่ถูกย้ายมาจากค่ายกักกันที่ต่าง ๆ เพื่อปิดบังหลักฐานอาชญากรรมที่นาซีก่อไว้

KZ-Gedenkstätte Neuengamme (SZ))
ในวันที่ 3 พ.ค. เครื่องบินทิ้งระเบิดกองทัพอังกฤษมาโจมตีเรือลำนี้หลายครั้งหลังจากได้รับข่าวกรองผิดว่าเรือลำนี้และลำอื่น ๆ บรรทุกเจ้าหน้าที่นาซีที่พยายามหนีการจับกุม

ศ.วัตสันบอกว่า เอกสารจากทั้งสองฝ่ายในสงครามชี้ว่า มีคนอยู่บนเรืออย่างน้อย 5,000 คนในวันที่ 3 พ.ค. ที่เครื่องบินทิ้งระเบิดกองทัพอังกฤษมาโจมตีหลายรอบ หลังจากได้รับข่าวกรองว่าเรือลำนี้และลำอื่น ๆ บรรทุกเจ้าหน้าที่นาซีที่พยายามหนีการจับกุม

ศ.วัตสัน บอกว่า อาจมีผู้รอดชีวิตจากเหตุโจมตีดังกล่าวไม่ถึง 300 คน เรืออีกสองลำที่ทำหน้าที่เหมือนกันก็ถูกโจมตีด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 7,000 ราย

(ภาพจากทวิตเตอร์แสดงภาพขณะเรือ SS Cap Arcona ไฟไหม้หลังถูกโจมตีทางอากาศ)

 

เป็นเรื่องน่าเศร้าขึ้นไปอีกเพราะเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นแค่ 4 วันก่อนที่เยอรมนีจะประกาศยอมแพ้สงครามซึ่งนำไปสู่จุดสิ้นสุดของสงครามในยุโรป

ท้ายที่สุด จำนวนผู้เสียชีวิตจากเรือไททานิคเวอร์ชันนาซีสูงกว่าเรือไททานิคจริง มากกว่า 2 เท่า

………..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว