สมควรหรือไม่ หากรัฐจ่ายค่าเดินทางให้คนไทยไปเลือกตั้ง 2 หมื่นล้านบาท

 

พล.อ. ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้นายกฯ ครบ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2565

Getty Images

หนึ่งในประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภาหารือกันเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา คือ ผลการศึกษาแก้ปัญหาการซื้อเสียงเลือกตั้ง ด้วยการเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งเบื้องตั้นคนละ 500 บาท

แม้ว่าประเด็นดังกล่าว สังคมอาจไม่ได้ถกเถียงมากนัก จากที่บีบีซีไทยตรวจสอบในโลกสังคมออนไลน์ แต่นักวิชาการทางการเมืองจำนวนหนึ่งมองว่า ยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการใดที่ระบุว่า การมอบเงินอุดหนุนในการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะช่วยทำให้ปัญหาการทุจริตเลือกตั้งลดน้อยลง

แนวความคิดนี้มาจากรายงานการศึกษา เรื่องแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน

รายงานฉบับนี้มีสาระสำคัญเพื่อเสนอแนวทางและนโนบายให้คณะรัฐมนตรี และ กกต. ไปพิจารณาแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ในที่ประชุม ส.ว. นายเสรี ระบุว่า รายงานฉบับนี้จะทำให้เกิดผลดีในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมาย แต่จะมีผลกระทบกับนักการเมืองบางส่วน โดยเฉพาะแนวทางในการแก้ไขปัญหาการซื้อเสียง ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแล้วเห็นว่า ประชาชนควรได้รับค่าตอบแทนการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การวางแนวทางให้คนรับเงินซื้อเสียงไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงการเสนอแนวทางลดการจำกัดไม่ให้ประชาชนหารายได้จากการจำหน่ายสินค้าระหว่างที่มีการปราศรัยเลือกตั้ง เป็นต้น

นายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เลขานุการกรรมาธิการฯ นำเสนอรายละเอียดของรายงานดังกล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาในการเลือกตั้งพบปัญหาสำคัญ คือการทุจริตการเลือกตั้งของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งปัญหานี้กรรมาธิการฯ เสนอแนวทางแก้ไขให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ สร้างวินัยให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย มีจิตสำนึกรับผิดชอบร่วมต่อต้านทุจริต มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

“สำหรับการแก้ไขกฎหมายให้ผู้ที่ขายสิทธิหรือผู้ที่รับเงินซื้อเสียงไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากเรื่องนี้พบว่าประชาชนมีความจำเป็นต้องรับเงินซื้อเสียงจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นพยานได้ เพราะต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ซื้อเสียงเลือกตั้ง สุดท้ายไม่สามารถสาวถึงตัวผู้ซื้อเสียงเลือกตั้งได้” นายวงศ์สยาม อธิบาย

คีย์เวิร์ด : ตอบแทนคุณแผ่นดิน-ประชาธิปไตยกินได้

เลขานุการกรรมาธิการฯ รายนี้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า วันนี้มีผู้ซื้อสิทธิขายเสียงอยู่มากมาย ประกอบกับสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ จึงอยากเสนอให้ กกต. กำหนดให้มีค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในเบื้องต้นกำหนดให้คนละ 500 บาท ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง โดยคำนวณจากผู้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 40 ล้านคน

ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งที่รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า เป็นข้อดีคือ การจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และยังช่วยให้ประชาชนเกิดแนวคิดที่จะตอบแทนคุณแผ่นดิน เพราะประชาชนได้รับเงินหลวง ไม่ใช่นักการเมือง ทำให้ประชาชนเลือกคนดี มีความรู้ เข้ามาทำหน้าที่

ภาพคนเลือกตั้ง

Getty Images

“ทุกวันนี้นโยบายของรัฐบาลในการให้งบประมาณประชาชน 300-500 ต่อเดือนรวมถึงคนละครึ่ง ปีหนึ่งใช้งบประมาณเป็นแสนกว่าล้านบาท ในขณะที่การเลือกตั้งเกิดขึ้น 4 ปีครั้ง” นายวงศ์สยาม กล่าว

นอกจากนี้ ในกฎหมายเลือกตั้งยังมีข้อห้ามไม่ให้นักการเมืองขนคนมาเลือกตั้ง แต่ในข้อเท็จจริงในต่างจังหวัดอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งการเสนอเงื่อนไขนี้อย่างน้อยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาธิปไตยกินได้ กินได้ตั้งแต่การเลือกตั้งใช้สิทธิ แม้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่ข้อเท็จจริงมีค่าใช้จ่าย สังคมไทยจึงควรยอมรับความเป็นจริงเหล่านี้

ต้องพิจารณาถึงความสมเหตุผลของการสร้างแรงจูงใจ

นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาสัดส่วนผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 พบว่ามีอยู่ 74.69% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ตามบริบทของประเทศไทย ซึ่งบางประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกายังถือว่า อยู่ในสัดส่วนน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อเลือกตั้งก่อน

อย่างไรก็ตาม ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนความเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าวของ ส.ว. อาจจะต้องพิจารณาถึงความสมเหตุผลของการสร้างแรงจูงใจ

กราฟิก

BBC

“ในต่างประเทศ กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิโดยบังคับ มีมาตรการลงโทษหนักไปหาเบา ถ้าแบบหนัก ๆ ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องถูกปรับ ก็สามารถตอบแทนต่อผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ โดยนำเงินค่าปรับนั้นมาถัวเฉลี่ยจ่ายให้กับพวกเขา เป็นแรงจูงใจหนึ่งในการลงคะแนนเลือกตั้ง”

นักวิชาการรายนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย แม้จะกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิโดยบังคับ แต่มาตรการการลงโทษเป็นแบบกลาง ๆ คือ การตัดสิทธิทางการเมืองบางประการ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงลบ แต่หากจะพิจารณามาตรการเชิงบวกเพื่อจูงใจ ก็ต้องคิดว่าจะเป็นรูปแบบใด

“ส.ว. อาจจะพิจารณาว่า ส่วนหนึ่งที่เขาซื้อสิทธิขายเสียงกันได้เพราะว่า มัน (เงินที่ได้การซื้อเสียง) เป็นค่าชดเชย ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทางกลับบ้านพี่น้องประชาชน เมื่อรับเงินเลยต้องไปเลือก ถ้าจะแก้ปัญหานี้ นอกจากรัฐจะจ่ายเงินแข่งกันนักการเมือง มีวิธีอื่น ๆ ไหม” เขาตั้งคำถาม

ดร. สติธร มองว่าวิธีที่ดีคือ ทำให้การเลือกตั้งมีความสะดวกมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกพื้นที่ ต้องถามว่า สามารถอำนวยความสะดวกเพียงพอหรือยัง ระยะเวลาเพียงพอหรือไม่

อาจารย์ ม.เกษตรฯ มองว่า คนละเรื่องกับการลดปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง

ดร. ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 ม.ค. ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD ให้ความเห็นโดยอิงกับผลงานด้านวิชาการหลายฉบับว่า สรุปตรงกันว่า การเดินทางออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายจริง เช่น การเดินทางจากกรุงเทพมหานครกลับไปหย่อนบัตรตามภูมิลำเนา หรือ ในพื้นที่ห่างไกลอย่างภูเขาจะต้องไปเลือกตั้ง

“ถ้า ส.ว. มีเจตนาดีว่า นี่คือการช่วยสนับสนุนค่าเดินทางให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อทำให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะ ๆ แล้วจบแค่นี้ มันก็ตอบโจทย์ในทางเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนในการไปเลือกตั้งจริง ๆ” ดร. ธนพร กล่าว

แต่หากมาขยายความถึงว่า การสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการช่วยลดปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง และสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย นักวิชาการายนี้มองว่า “น่าจะเป็นคนละเรื่องกันแล้ว เพราไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่บอกว่า เมื่อรัฐบาลหรือภาครัฐอุดหนุน (subsidy) ในการเลือกตั้งแล้ว จะทำให้การซื้อเสียงลดลง ไม่เกี่ยวกัน”

เปิดช่องให้ ฝ่ายรัฐมีผลทางจิตวิทยาทางการเมืองต่อผู้เลือกตั้ง

ในระหว่างการสัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ดังกล่าว นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ ประเมินผล หากว่ามีการจ่ายเงิน 500 บาท เพื่อจูงใจผู้เลือกตั้งว่า อาจจะส่งผลต่อดีต่อฐานเสียงหลักของกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ที่มีอายุ 41 ปีขึ้นไป จะออกมาลงคะแนนมากขึ้น เพราะรัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเลือกตั้ง

ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้ว่าจะได้รับผลประโยชน์ในแง่การลดต้นทุนเช่นกัน แต่อาจจะไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากการยึดแนวความคิดทางการเมืองที่ชื่นชอบอย่างเหนียวแน่น

ด้าน ดร. สติธร มองว่า หากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่า การจ่ายเงินโดยรัฐมักจะมีผลในทางจิตวิทยาทางการเมือง

ในแง่ที่ว่า “เป็นเงินที่รัฐบาลจ่ายให้ จึงเป็นข้อได้เปรียบ และเป็นข้อวิจารณ์จะต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะฉะนั้นถ้าจะมีมาตรการจูงใจลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีองค์กรที่เป็นอิสระเป็นคนรับรองเป็นผู้เบิกจ่าย ในบริบทไทยอาจจะหมายถึง กกต.”

ดังนั้น จะต้องมีมาตรการที่รัดกุมเข้มงวดหากจะเดินทางไปในเส้นทางดังกล่าว

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว