หน้ากากอนามัย ของต้องมีของหนุ่มสาวเกาหลีใต้แม้หมดโควิด

 

Miss Universe Korea 2022 wearing a mask

Hanna Kim
ฮันนา คิม มิสยูนิเวิร์สเกาหลีใต้ประจำปี 2022 ยอมรับว่า รู้สึกกังวลอยู่บ่อยครั้งว่าผู้คนจะคิดว่าหน้าตอนสวมหน้ากากกับตอนไม่สวมของเธอจะต่างกันมาก

ในที่สุดเกาหลีใต้ก็ยกเลิกข้อบังคับส่วนใหญ่ว่าด้วยการสวมหน้ากากอนามัยแล้ว หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด

ทางการเกาหลีใต้ได้ยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากในสถานที่กลางแจ้งเมื่อเดือน พ.ค. 2022 แต่เพิ่งจะยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากภายในอาคารเมื่อ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อยกเว้นสถานที่บางแห่ง เช่น ในระบบขนส่งมวลชน และสถานพยาบาล

อย่างไรก็ตาม หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้จำนวนมากบอกว่าพวกเขาจะยังคงสวมหน้ากากอนามัยต่อไปไม่ว่าจะในหรือนอกอาคาร และเหตุผลของพวกเขาอาจทำให้หลายคนประหลาดใจ

“หน้ากากจกตา”

Comparison shot of women with and without a mask

Sooyeun Park
ซูยอน พัก ทำวิดีโอ TikTok เรื่องข้อดีข้อเสียของการสวมหน้ากากอนามัยในเกาหลีใต้

ในเกาหลีใต้ หน้ากากอนามัยได้กลายเป็นสิ่งของสำคัญในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เช่นเดียวกับในประเทศอื่น ๆ หน้ากากชนิด KF94 เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่เด็กนักเรียนอนุบาลไปจนถึงเหล่าคนชรา แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้หายใจไม่สะดวกเท่าใดนัก

สาเหตุที่หน้ากากอนามัยชนิดนี้ได้รับความนิยมมากก็เพราะผู้คนต้องการปกป้องตัวเองจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

นับแต่เชื้อระบาดเข้าสู่ประเทศ มีคนในเกาหลีใต้ติดเชื้อโรคโควิดแล้วเกือบ 30 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 33,000 คน จากประชากรราว 51.8 ล้านคน

การประกาศยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากอนามัยในอาคารมีขึ้นในวาระครบรอบ 3 ปีที่เกาหลีใต้พบผู้ได้รับการยืนยันว่าติดโควิด-19 เป็นรายแรกของประเทศ

แต่บรรดาคนหนุ่มสาวบอกว่าพวกเขามีเหตุผลในการสวมหน้ากากอนามัยกว่าไปกว่าแค่การปกป้องตัวเองจากไวรัสร้าย

รูปลักษณ์ดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญสำหรับวัยรุ่นและคนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นชาวเกาหลีใต้อยู่มาก และคำสแลงที่กำลังพูดถึงในคนกลุ่มนี้คือ “มากิกกุน” (magikkun) ซึ่งหมายถึงคนที่ดูหน้าตาดีขึ้นเมื่อสวมหน้ากากอนามัย

คำนี้จึงหมายความว่า บุคคลที่พูดถึงนี้มีหน้าตาสวยหล่อดึงดูดใจเฉพาะเวลาสวมหน้ากาก และ “รูปลักษณ์ขณะสวมหน้ากาก” จึงเป็นเพียง “เรื่องหลอกลวง”

อีกหนึ่งวลีที่ผู้เล่นโซเชียลมีเดียทั่วโลกนิยมใช้กันคือ mask fishing ซึ่งมีความหมายไม่ต่างจากคำว่า “มากิกกุน”

ฮันนา คิม นางแบบ และเจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเกาหลีประจำปี 2022 ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เธอเคยมีประสบการณ์ลักษณะเดียวกันตอนที่ถูกชายหนุ่มสวมหน้ากากชวนออกเดต

“ฉันต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก แล้วกล่าวคำขอโทษไป แต่ฉันไม่คิดว่าเราจะไปกันได้” เธออธิบายหลังจากต้องผิดหวังที่ได้เห็นใบหน้าคู่เดตตอนที่ไม่สวมหน้ากาก

ขณะเดียวกัน เธอยอมรับว่า “ฉันก็รู้สึกกังวลอยู่บ่อยครั้งว่าผู้คนจะคิดว่าหน้าตอนสวมหน้ากากกับตอนไม่สวมของฉันก็ต่างกันมากเช่นกัน”

ฮันนาบอกว่า “ในขณะที่เหตุผลหลักของการสวมหน้ากากอนามัยนั้นชัดเจนว่าเพื่อป้องกันโควิด แต่เพื่อนหลายคนของฉันบอกว่ามันสะดวกกว่าที่จะสวมหน้ากาก เพราะพวกเขาไม่อยากแต่งหน้า หรืออยากซ่อนปัญหาผิวหน้าของตัวเอง”

ความภูมิใจในตัวเองต่ำ

Two women with masks on

Giggle
ฮันนา คิม (ขวา) พูดคุยเรื่องข้อดีของการสวมหน้ากากทางช่องยูทิวบ์ Giggle

ซูยอน พัก นักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้มีความเห็นสอดคล้องกับฮันนา คิม โดยอธิบายว่าเรื่อง “มากิกกุน” นั้นไปไกลกว่าปรากฏการณ์ mask fishing มาก

“ผู้ใหญ่หลายคนสวมหน้ากากอนามัยด้วยเหตุผลในการป้องกันโรค แต่ฉันคิดว่าคนหนุ่มสาวสวมหน้ากากเพื่อรูปลักษณ์เป็นหลัก” เธอกล่าว

ในวิดีโอที่เผยแพร่ทางยูทิวบ์ เผยให้เห็นหนุ่มสาวเกาหลีใต้เล่าว่ามีเด็กนักเรียนมัธยมหลายคนที่ไม่ยอมทานข้าวเที่ยงเพราะไม่อยากถอดหน้ากากอนามัยออกให้เพื่อนเห็น

ในการสำรวจความเห็นล่าสุดของวัยรุ่นเกาหลีใต้ 435 คน ดูเหมือนจะสนับสนุนเรื่องนี้ โดยพบว่าการสวมหน้ากากอนามัยไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันโควิด แต่เพื่อ “ปกปิดใบหน้า” ด้วย ผลศึกษาเรื่องนี้พบข้อบ่งชี้ว่า ยิ่งบุคคลปกปิดใบหน้าตัวเองมากเท่าใด เขาก็ยิ่งมีความภาคภูมิใจในตัวเองเมื่ออยู่ในสังคมต่ำมากเท่านั้น

ในคลิปวิดีโอของซูยอน พัก ซึ่งล้อเลียนเรื่องการสวมหน้ากากกำลังได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาว

เธอบอกว่า การที่เด็กสวมหน้ากากตั้งแต่อายุน้อยเป็นเวลานาน บางคนจึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจในการเผยใบหน้าที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยถูกล้อว่า “มากิกกุน”

“การที่เราอยู่ในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญต่อรูปลักษณ์ ฉันคิดว่าเด็ก ๆ ต่างได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้”

ห้าม “รูปสวมหน้ากาก” ในเว็บหาคู่

Man wearing mask on dating app

Getty Images

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้แอปพลิเคชันหาคู่หลายรายอ้างว่าสามารถทดสอบ “อำนาจมากิกกุน” ของผู้ใช้งานได้ โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถประเมิน “ใบหน้าสวมหน้ากาก” แล้วคาดการณ์ใบหน้าจริงของผู้ใช้ได้

นอกจากนี้ แอปพลิเคชันหาคู่รายใหญ่ยังตัดสิทธิการใช้งานของผู้อัปโหลดแต่รูปภาพสวมหน้ากาก หลังจากได้รับข้อร้องเรียนจำนวนมากเรื่องคู่เดตมีหน้าตาแตกต่างจากภาพจินตนาการยามไม่สวมหน้ากากอย่างมาก

แรงกดดันทางสังคม

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้คนเกาหลีใต้ยังสวมหน้ากากอนามัยอยู่ ก็คือแรงกดดันจากสังคม แม้ว่าประชาชนจะสามารถถอดหน้ากากในที่กลางแจ้งได้มาตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีก่อน แต่หลายคนยังไม่ยอมถอดหน้ากาก

ผลสำรวจของหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ที่เผยแพร่ออกมาก่อนที่รัฐบาลจะประกาศยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากอนามัยภายในอาคารพบว่า ชาวเกาหลีใต้ 3 ใน 4 คนต้องการให้ยกเลิกข้อบังคับนี้ โดย 40% ให้เหตุผลว่าต้องการ “ได้รับสิทธิในการหายใจกลับคืนมา”

แต่วิดีโอหลายชิ้นทางโซเชียลมีเดียได้จำลองสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนรู้สึกสบายใจในการสวมหน้ากากอนามัยเข้าสังคม ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุหลักที่ชาวเกาหลีใต้รู้สึกเช่นนี้มาจาก “แรงกดดันทางสังคม” เพราะดูเหมือนทุกคนจะสวมหน้ากากอนามัย

แม้แต่ดาราสาว ซูยอน พัก ยังทำวิดีโอติ๊กตอกล้อเลียนสถานการณ์ที่ว่านี้ โดยเป็นภาพของเธอถอดหน้ากากอนามัยออก หลังมีการยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากในที่กลางแจ้ง ทว่าเธอต้องรีบใส่หน้ากากอีกครั้ง เพราะตระหนักได้ว่าไม่มีใครถอดหน้ากากออกเลย

ซูยอน พัก บอกว่าเธอจะยังสวมหน้ากากอนามัยต่อไปอีกระยะ แม้ทางการจะยกเลิกข้อบังคับไปแล้วก็ตาม “เมื่อผู้คนเริ่มรู้สึกแปลกกับการสวมหน้ากากเพราะไม่มีใครสวมกันแล้ว ฉันก็อาจเลิกสวมหน้ากากเหมือนกัน”

ในสังคมตะวันตก การสวมหน้ากากอนามัยมีความเชื่อมโยงกับเรื่องเชิงลบ เช่น การก่ออาชญากรรม แต่ในวัฒนธรรมเอเชียนั้นกลับมีมุมมองในทางตรงข้าม และอาจเป็นไปในเชิงบวกด้วย เพราะเป็นพฤติกรรมที่สื่อถึงการปกป้องตนเองและผู้อื่นจากเชื้อไวรัส ซึ่งแสดงให้เห็นการเป็นพลเมืองที่ดีมีความรับผิดชอบต่อทั้งตนเองและสังคม

ขณะเดียวกัน สภาพอากาศที่หนาวเย็นแตะ -17 องศาเซลเซียสในเกาหลีใต้ช่วงนี้ ก็ทำให้ทางการแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศเย็นให้ได้มากที่สุด และการสวมหน้ากากอนามัยก็เป็นอีกวิธีในการปกป้องใบหน้าจากอากาศอันหนาวเย็น

นอกจากนี้ชาวเกาหลียังมีวลี “มาแฮจา” (mahaeja) ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับ “มากิกกุน” หมายความว่า “เหยื่อหน้ากาก” ซึ่งสื่อถึงความหน้าตาดีที่ถูกซ่อนไว้ใต้หน้ากาก

ดังนั้นเมื่อสภาพอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้น บวกกับกระแส “มาแฮจา” เริ่มได้รับความนิยม เมื่อนั้นก็อาจมีชาวเกาหลีใต้เลิกสวมหน้ากากอนามัยมากยิ่งขึ้น

ซูยอน พัก เห็นด้วย เธอเชื่อว่าอะไร ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

“เพราะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่ผู้คนจะคุ้นชินกับการสวมหน้ากาก มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องใช้เวลาอีกระยะ กว่าที่คนจะเริ่มชินกับยุคใหม่ที่ไร้หน้ากาก” เธอกล่าว

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว