การประชุมสองสภา: จีนเดินหน้าปฏิรูปภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของ “สี จิ้นผิง”

นายสีจะได้รับการเลือกเป็นประธานาธิบดีและผู้นำเหล่าทัพจีน/ Reuters

นายสี จิ้นผิง เตรียมควบรวมอำนาจทั้งในแง่การบริหารรัฐบาลและเศรษฐกิจ ขณะที่ในสัปดาห์นี้บรรดาสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีน (The National People’s Congress หรือ NPC) จะร่วมกันประชุมในกรุงปักกิ่งเพื่อผ่านกฎหมายเพื่อปฏิรูปกฎหมายและนโยบายสำคัญ ๆ

ในการประชุมครั้งนี้ สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีนจะประทับตรารับรองประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ให้กับนายสี พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะผู้บริหารประเทศระดับสูงอีกด้วย รวมทั้งการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผู้ครองอำนาจลำดับรองจากนายสี หลังจากที่นายหลี่ เฉียง ลาออก

สำหรับการประจำปีครั้งนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “การประชุมสองสภา (The Two Sessions)” ประกอบด้วย สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) และสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC)

ในปีนี้มีวาระสำคัญที่เป็นที่จับตาหลายประการ โดยคาดว่าบรรดาผู้เข้าประชุมจะเน้นการปฏิรูปหน่วยงานสำคัญของรัฐบาลและภายในพรรคคอมมิวนิสต์

สื่อทางการจีนระบุว่า คณะผู้บริหารชุดใหม่จะเน้นการควบคุมหน่วยงานที่ดูแลภาคการเงิน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็จะสร้างความเข้มแข็งในงานพัฒนาความร่วมมือกับภาคส่วนเอกชนและธุรกิจ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีแนวโน้มจะยิ่งทำให้เส้นแข่งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลดูเลือนลางมากขึ้น และรวมไปถึงการผนึกกำลังควบคุมภาคเอกชนของพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น

เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งขับเคลื่อนมาในทิศทางนี้ก็เพื่อสอดรับกับมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นกับบรรดานักธุรกิจชื่อดังที่หายตัวไปอย่างปริศนาในปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในบุคคลล่าสุดที่หายตัวไปคือนักเจรจาธุรกิจด้านเทคโนโลยีชื่อดังรายหนึ่ง

 

สู่ประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3

สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีนจะแต่งตั้งนายสี เป็นประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 หลังจาก ต.ค. ปีที่แล้ว ที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เลือกเขากลับมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 นับว่าเป็นการยุติประเพณีปฏิบัติอันยาวนานหลายทศวรรษของพรรคนับตั้งแต่สิ้นยุคผู้นำคนแรกของพรรคอย่างประธานเหมา เจ๋อตุง

ประธานเหมา เจ๋อตุง (ภาพกลาง)
ประธานเหมา เจ๋อตุง (ภาพกลาง)/ Getty Images

การเข้าสู่สมัยที่ 3 ของนายสีเป็นผลมาจากการประชุมของสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อปี 2018 ที่ผ่านกฎหมายที่ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีผลให้นายสีสามารถครองอำนาจต่อไปตลอดชีวิต หรือไร้วาระจำกัด

ทว่า การแต่งตั้งนายสี ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันภายในประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์และการปราบปรามทุจริตในแวดวงธุรกิจต่าง ๆ

ส่วนงานด้านต่างประเทศ นายสีก็ดูเหมือนจะนำพาประเทศไปสู่ห้วงแห่งความสัมพันธ์อันเลวร้ายลงไปกับสหรัฐอเมริกา ทั้งในแง่ปมสงครามในยูเครน และเหตุการณ์พบบอลลูนสอดแนมเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ และท่าทีที่เขาจะสนับสนุนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย

คาดแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่

ความเคลื่อนไหวสำคัญในการประชุมของสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีนในครั้งนี้คือ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่จะเข้ามาดูแลงานด้านเศรษฐกิจและงานด้านการบริหารของรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ

นายหลี่ เฉียง หนึ่งในเพื่อนร่วมงานที่นายสีเชื่อใจที่สุด คาดว่าจะเป็นผู้เข้ารับหน้าที่นี้ แม้ว่าผลงานที่ผ่านมาในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ อย่างการล็อกดาวน์โควิดที่นครเซียงไฮ้จะทำให้ชาวจีนไม่พอใจจนลุกฮือขึ้นมาประท้วงและกลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ของสื่อต่างชาติก็ตาม

หลี่ เฉียง
หลี่ เฉียง อายุ 65 ปี/ Reuters

นอกจากนี้ คาดว่ายังจะมีการประกาศแต่งตั้งตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ ๆ ในคณะกรรมการกรมการเมืองหรือโปลิตบูโร ซึ่งมีหน้าที่เทียบเท่าคณะรัฐมนตรีของนายสี ประกอบด้วย รัฐมนตรีพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปประเทศ หัวหน้าหน่วยโฆษณาชวนเชื่อ และผู้นำด้านความมั่นคงแห่งชาติ

นักสังเกตการณ์มองว่า คณะทำงานใหม่ทั้งหมดที่กำลังจะถูกแต่งตั้ง น่าจะเป็นบุคคลที่นายสีเลือกเพราะความภักดีต่อตัวเขาและพรรคคอมมิวนิสต์มากกว่าเหตุผลด้านความเชี่ยวชาญของแต่ละคน

Graphic showing China's leadership. Updated 12 Oct.
โครงสร้างอำนาจภายใต้การบริหารรัฐบาลของนายสี/ BBC

หมายเหตุ : ข่าวบีบีซีไทยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว