ชวนรู้จัก NPC – CPPCC “สองสภา” ของจีน กับวาระสำคัญในการประชุมปีนี้

ประชุม NPC-CPPCC
การประชุม NPC ปี 2565/ AFP/ Leo RAMIREZ

วันที่ 4 มีนาคม 2566 การประชุม CPPCC และ NPC หรือการประชุมสองสภาประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญมากในปฏิทินการเมืองของประเทศจีนเปิดม่านขึ้น ณ มหาศาลาประชาชน จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง โดยการประชุม CPPCC เริ่มต้นก่อนในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม ส่วน NPC จะเริ่มประชุมตามมาในวันที่ 5 มีนาคม แล้วประชุมคู่ขนานกันไปเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ 

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนรู้จัก NPC กับ CPPCC และการประชุมที่เรียกว่า “ประชุมสองสภา” (Two Sessions) ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า “เหลี่ยงฮุ่ย” พร้อมทั้งมาดูกันว่าการประชุมปีนี้จะมีการหารือและมีเหตุการณ์อะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง
 

โครงสร้างการปกครองของจีนแบบคร่าว ๆ

ประเทศจีนปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party of China: CPC) เป็นองค์กรที่กำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีคณะกรมการเมือง หรือคณะโปลิตบุโร (Politburo) องค์กรที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของพรรคเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารประเทศ 

ส่วนฝ่ายบริหาร (State) ซึ่งแบ่งเป็นการบริหารส่วนกลาง และการบริหารส่วนภูมิภาค เป็นฝ่ายที่นำนโยบายไปปฏิบัติโดยไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย

ซึ่งทั้งสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) ที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นสถาบันระดับสูงของฝ่ายบริหารส่วนกลาง 

ประชุม NPC - CPPCC
บรรยากาศหน้าศาลามหาประชาชน ช่วงการประชุม NPC – CPPCC ปี 2565/ AFP/ Leo RAMIREZ

สภาประชาชนแห่งชาติ (NPC)

สภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) คือสภานิติบัญญัติของจีน เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งในฝ่ายบริหาร (State) รัฐธรรมนูญของจีนกำหนดให้สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรอำนาจรัฐสูงสุด 

สภาประชาชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, ควบคุมดูแลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ, ตราและแก้กฎหมาย, เลือกตั้ง ถอดถอนและโยกย้ายประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี มนตรีแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ, ตรวจสอบและอนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรายงานการปฏิบัติงาน, ตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณแผ่นดินและรายงานการปฏิบัติงาน, ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ฯลฯ 

สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติมีได้ไม่เกิน 3,000 คน มาจากการเลือกตั้งโดยสภาประชาชนระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลนครที่ขึ้นต่อส่วนกลาง รวมทั้งจากกองทัพปลดแอกประชาชน สำหรับสภาประชาชนแห่งชาติชุดปัจจุบันเป็นชุดที่ 14 มีสมาชิกจำนวน 2,977 คน  

สภาประชาชนแห่งชาติมีวาระชุดละ 5 ปี มีการประชุมปีละ 1 สมัย ครั้งละ 15-20 วัน เริ่มประชุมในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี แต่อาจจะมีการขอเปิดประชุมวิสามัญหรือของดเว้นการประชุมประจำปีได้ตามความจำเป็น โดยต้องใช้เสียงสภาประชาชนแห่งชาติ 1 ใน 5 สำหรับการร้องขอ 

ประชุม NPC-CPPCC
การประชุม NPC ปี 2565/ AFP/ Leo RAMIREZ

สภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (CPPCC)

สภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) เป็นองค์กรแนวร่วมสูงสุดของประเทศจีน ทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาและเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาล และสภาประชาชนแห่งชาติ มีหน้าที่หลักคือ จัดการอภิปรายและปรึกษาในกิจการสำคัญของรัฐและกิจการท้องถิ่น 

สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติมาจากผู้แทนจากพรรคการเมืองประชาธิปไตย 8 พรรค ผู้แทนองค์กรมวลชนกลุ่มน้อย องค์กรศาสนาและทุกสายงานอาชีพ และผู้แทนชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติชุดปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 2,172 คน 

สภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติประกอบด้วย ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการท้องถิ่นหลายคณะ คณะกรรมาธิการแห่งชาติจะควบคุมการทำงานของคณะกรรมาธิการท้องถิ่น ซึ่งควบคุมการทำงานของคณะกรรมาธิการระดับล่างลงไปอีก เป็นลำดับชั้น 

สภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติมีวาระชุดละ 5 ปี ซึ่งตรงกันกับสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) และมีการประชุมปีละ 1 สมัยเช่นเดียวกับสภาประชาชนแห่งชาติ โดยจะเริ่มและสิ้นสุดการประชุมก่อนการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ 1 วัน 

วาระสำคัญการประชุม NPC และ CPPCC ปีนี้

Global Times สื่อของรัฐบาลจีน วิเคราะห์ว่า เรื่องที่คาดได้ว่าจะได้เห็นการหารือในการประชุมทั้งสองสภาก็เป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเน้นย้ำหลายครั้งในการประชุมระดับสูงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งความสำคัญของการส่งเสริมเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ การเร่งสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ และการก้าวไปสู่ความทันสมัยของจีน รวมถึงการเรียกร้องให้มีมาตรการและการปฏิรูปเชิงนโยบาย 

ในการประชุม Central Economic Work Conference เมื่อเดือนธันวาคม 2565 สี จิ้นผิง กล่าวว่า การพัฒนาควรจะเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการปกครองและฟื้นฟูประเทศ และเขาเน้นย้ำความพยายามใน 5 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ, การสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่, การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างลึกซึ้งจริงจัง การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นสำหรับภาคเอกชน, การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และการป้องกัน-ขจัดความเสี่ยงที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการเงิน 

วาระสำคัญที่ต้องจับตามองในการประชุมสองสภาปีนี้ คือ 

1.การเลือกตั้ง-แต่งตั้งตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายบริหาร 

สี จิ้นผิง ที่ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งโดยนัยคือเป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกสมัย จะได้รับการประกาศชื่อเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในการประชุมนี้ 

หลี่ เฉียง (Li Qiang) ที่ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการประจำของกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจสูงสุด 7 อันดับแรกในพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 จะได้รับการเสนอและประกาศชื่อเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนใหม่ของจีนต่อจากหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2556 

ตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ที่จะมีการประกาศแต่งตั้งในการประชุมปีนี้คือ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ผู้นำคนใหม่ของคณะกรรมาธิการแห่งชาติ (CPPCC National Committee) และผู้ว่าการธนาคารกลาง 

สี จิ้นผิง และ หลี่ เฉียง
หลี่ เฉียง เดินตามหลังสี จิ้นผิง/ แฟ้มภาพ ตุลาคม 2565/ REUTERS/ Tingshu Wang


2.การพิจารณาแผนการปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์และสถาบันการเมืองฝ่ายบริหาร

ร่างแผนการปฏิรูปการปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์และสถาบันการเมืองฝ่ายบริหาร ได้รับการทบทวนและรับรองจากที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ และจะมีการส่งส่วนหนึ่งของร่างแผนการปฏิรูปให้สภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) พิจารณาในการประชุมนี้

หลังการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนล่าสุด สี จิ้นผิง กล่าวว่าการปฏิรูปพรรคและสถาบันการเมืองฝ่ายบริหารในครั้งนี้ มีเป้าหมายและเข้มข้นมากขึ้น ครอบคลุมหลายด้าน เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาที่ท้าทายซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาที่สร้างความกังวลให้สังคมเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

3.การประกาศเป้าหมายเศรษฐกิจ นโยบาย แผนการทำงานของรัฐ และงบประมาณ

นายกรัฐมนตรีจะต้องนำเสนอแผนการทำงานของรัฐบาล รวมถึงประกาศเป้าหมายเศรษฐกิจ คาดการณ์จีดีพี และแผนงบประมาณประจำปีต่อสภาในช่วงเปิดการประชุม 

มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจีนจะตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจสูงขึ้น และเพิ่มความพยายามในด้านนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากผู้นำระดับสูงของจีนให้ความสำคัญกับการยกระดับความคาดหวังและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน 

กวน เถา (Guan Tao) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ BOC International ในเครือ Bank of China กล่าวกับ Global Times ว่า หนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดที่สุดคือ จีนจะกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจและมีนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งเขาคาดว่า จะได้เห็นความมีชีวิตชีวาของจีนมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ส่วนงบประมาณ มีการคาดการณ์ว่าจีนจะเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคง เนื่องจากเผชิญแรงกดดันด้านความมั่นคงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน และความตึงเครียดกับรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มขึ้น

 

อ้างอิง : 

…………………

อ่านเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง :