
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีน ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ลดลง 73% จนมูลค่าต่ำสุดในรอบ 18 ปี ขณะที่บริษัทจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 21%
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า การลงทุนของบริษัทต่างชาติในประเทศจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ลดลงมากจนมีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 18 ปี โดยได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในจีนที่ลดลง และความกังวลว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนอาจจะถอยหลังกลับ
- มหาดไทยประกาศ ขอสละสัญชาติไทย 75 ราย แห่ไปขอถือสัญชาติสิงคโปร์
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ปลื้ม 4 มหาวิทยาลัยไทยติด TOP 100 ของโลกด้านความยั่งยืน
กระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีน ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 42,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเป็นการลดลงในอัตราที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 หรือ 24 ปี
มูลค่า FDI ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า มูลค่าในครึ่งหลังของปี 2565 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีอยู่หลายเท่า
ด้าน FDI ขาออกของบริษัทจีนที่ไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 21% มูลค่าเป็น 84,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิเป็นเงินทุนไหลออก (outflow) 41,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีครึ่ง ที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิเป็นเงินทุนไหลออก
ทั้งนี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ไม่อยากลงทุนใหม่ในจีนก็คือ ผลกระทบจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID policy) ของรัฐบาลจีนเอง
ตามข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 มีมูลค่า 33,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นการลดลงรายไตรมาสที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีข้อมูลเปรียบเทียบในปี 2539
ข้อมูลจากการวิเคราะห์การลงทุนในจีนโดยบริษัทวิจัย Rhodium Group ในนิวยอร์ก ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีบริษัทยุโรปเข้าไปลงทุนใหม่ในจีนเลย และในบรรดาธุรกิจที่ยังคงลงทุนในจีนนั้น Rhodium Group ตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มของ “การแยกส่วนภายในบริษัท” (internal decoupling) โดยบริษัทต่าง ๆ รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ต่างแยกห่วงโซ่อุปทานในจีนและที่ไม่ใช่จีน เพื่อจำกัดความเสี่ยง เช่น เทคโนโลยีรั่วไหล
บริษัทในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากรถยนต์ก็ได้ลดขนาดการดำเนินงานในจีนหรือถอนตัวออกไปทั้งหมด เป็นปัจจัยฉุดรั้งการลงทุนทั้งหมดในจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นในข้อมูลดุลการชำระเงินว่า ณ สิ้นปี 2565 จำนวนบริษัทต่างชาติในภาคการผลิต และบริษัทต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีนลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลจีนในเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูง หรือศึกเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัทที่มีจีนเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องกระจายความเสี่ยงโดยขยายการผลิตออกไปนอกประเทศจีน อย่างเช่น Sony ที่ได้ย้ายฐานการผลิตกล้องส่วนใหญ่ที่ส่งขายในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ออกจากประเทศจีนมายังประเทศไทย บวกกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางนโยบายปลอดโควิดที่กระตุ้นให้บางบริษัทถอนตัวออกไป
หลังจากยกเลิกมาตรการปลอดโควิดเมื่อปลายปี 2565 รัฐบาลจีนกำลังรีบเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลายคนกำลังจับตาดูการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) ของจีนที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งมีโอกาสที่รัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่
ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้น 20% จากเดือนเดียวกันของปี 2565 แต่การเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิแล้วจะยังเป็นการไหลเข้าอยู่หรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากหลายบริษัทยังคงไม่ไว้วางใจรัฐบาลจีนในเรื่องมาตรการควบคุมโรคระบาดโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจ
การสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยสภาธุรกิจสหรัฐ-จีน พบว่า 44% ของบริษัทสมาชิกสมาคมบอกว่า ต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่อจีน แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงแนวทางก็ตาม
ในอดีต จีนเพิ่มผลผลิตภายในประเทศโดยการดึงดูดทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน ด้วยความเป็นสังคมสูงวัยและอัตราการเกิดที่ลดลง ความซบเซาของการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นความเสี่ยงมากขึ้นที่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะหยุดชะงักลง
- ดัชนี PMI จีน กุมภาพันธ์ 2566 สูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นดี
- ส่อง “โรดแมป” จีนพัฒนา “ชิป” หวังฝ่ากำแพงกีดกันจากสหรัฐ
- จีน-สหรัฐ สู้ไปค้าขายไป การค้าปี 2565 ทำสถิติใหม่ 690,600 ล้านเหรียญ
- โซนี่ ย้ายฐานผลิตกล้องดิจิทัล จากจีนมาประเทศไทย
- จีนเร่งอนุญาตตั้งธุรกิจการเงินที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ 100% หวังฟื้นความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน