จีนเร่งอนุญาตตั้งธุรกิจการเงินที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ 100% หวังฟื้นความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน

จีนเร่งอนุมัติธุรกิจต่างชาติ
GREG BAKER / AFP

หลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ทางการจีนได้ออกใบอนุญาตตั้งกิจการให้แก่บริษัทการเงินต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยเป็นการอนุญาตประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ต่างชาติถือครองกิจการได้ 100% ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลจีนที่จะเชื้อเชิญธุรกิจต่างชาติให้เข้าไปลงทุน

วันที่ 25 มกราคม 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานจากฮ่องกงว่า ทางการจีนได้ออกใบอนุญาตจำนวนมากสำหรับบริษัทการเงินต่างชาติที่กำลังจะขยายเข้าไปทำธุรกิจในจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนกำลังพยายามเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนจากต่างประเทศในทันทีหลังสิ้นสุดข้อจำกัดจากโควิด-19  

การอนุญาตประกอบธุรกิจสำหรับธนาคารและบริษัทจัดการสินทรัพย์จากต่างประเทศในรูปแบบที่บริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด (fully owned entities หรือ wholly foreign owned enterprise) เริ่มมีขึ้นตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3  

การอนุมัติให้ตั้งธุรกิจในรูปแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จึงถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความปรารถนาของรัฐบาลจีนที่จะเชื้อเชิญธุรกิจจากต่างชาติให้เข้าไปลงทุน 

ทั้งนี้ การอนุมัติส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจการจัดการสินทรัพย์ ซึ่งตลาดนี้ในจีนมีมูลค่ารวม 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2566 J.P. Morgan Asset Management ธุรกิจจัดการสินทรัพย์จากสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติให้แปลงธุรกิจการจัดการกองทุนรวม ที่มีอยู่เดิมในลักษณะร่วมทุนกับบริษัทในจีน ให้เป็นกิจการแบบที่บริษัท J.P. Morgan เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ และก่อนหน้านั้น Manulife บริษัทจัดการสินทรัพย์จากแคนาดาก็ใช้แนวทางเดียวกันนี้เข้าควบคุมกิจการในประเทศจีนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 

บริษัทจัดการสินทรัพย์ Neuberger Berman และ Fidelity International ได้รับอนุญาตให้เริ่มระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยเมื่อเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วน Schroders จากสหราชอาณาจักร ก็ได้รับการอนุมัติเบื้องต้นให้จัดตั้งบริษัทจัดการกองทุนรวมที่บริษัทเป็นเจ้าโดยสมบูรณ์ในเดือนนี้

ทั้งนี้ การอนุมัติเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตลาดการเงินของรัฐบาลจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปี 2563 จีนยกเลิกการจำกัดสัดส่วนการถือครองหุ้นของต่างชาติในภาคธุรกิจการเงิน จากที่เคยกำหนดไว้ 51% โดย BlackRock จากสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่ดำเนินธุรกิจการจัดการกองทุนรวมในประเทศจีนโดยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด หลังการยกเลิกข้อจำกัดนี้ 

ถึงอย่างนั้น หลายบริษัทที่ต้องการควบคุมธุรกิจของตนอย่างเต็มรูปแบบ ต้องใช้เวลารอตั้งแต่การยื่นขออนุญาตไปจนถึงการอนุมัติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด 

J.P. Morgan Asset Management ซึ่งต้องการซื้อคืนหุ้นบริษัทจัดการกองทุนรวมของตน ต้องใช้เวลากว่า 30 เดือนกว่าที่จะได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายให้เทกโอเวอร์กิจการได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมของจีนแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “China International Fund Management” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 170,000 ล้านหยวน (23,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ซึ่งหลังจากที่ J.P. เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แล้วจะดำเนินการภายใต้แบรนด์ JPMAM 

แดน วัตกินส์ (Dan Watkins) ซีอีโอประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ J.P. Morgan Asset Management กล่าวว่า ต้องการให้ JPMAM China กลายเป็นผู้นำของธุรกิจการจัดการสินทรัพย์ต่างชาติในประเทศจีน และมีส่วนช่วยให้ JPMAM กลายเป็นผู้นำการจัดการสินทรัพย์ในจีนสำหรับนักลงทุนทั่วโลก 

Fidelity และ Neuberger Berman ก็ต้องรอมากกว่า 2 ปีนับตั้งแต่ยื่นขออนุญาตจนกว่าจะได้รับอนุญาตขั้นสุดท้าย 

บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุน ETF จากสหรัฐ VanEck และ AllianceBernstein ก็กำลังยื่นขอจัดตั้งบริษัทจัดการกองทุนรวมในจีน ในรูปแบบที่บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารกิจการเองโดยสมบูรณ์ 

ในอีกภาคธุรกิจหนึ่ง ธนาคาร Standard Chartered ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระหว่างการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ธนาคาร BNP Paribas จากฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านการบริหารความมั่งคั่ง โดยร่วมทุนกับบริษัทย่อยของ Agricultural Bank of China ธนาคารใหญ่ระดับบิ๊ก 4 ของประเทศจีน โดย ฝ่ายจัดการสินทรัพย์ของ BNP Paribasถือหุ้น 51% 

รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ (Liu He) ของจีนเพิ่งกล่าวในการปรระชุม World Economic Forum 2023 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า นับตั้งแต่การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จีนได้แสดงจุดยืนสนับสนุนภาคเอกชน 

แฮร์รี่ แฮนด์ลีย์ (Harry Handley) senior associate (ผู้ช่วยลูกค้าอาวุโส) ของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในจีน Z-Ben Advisors กล่าวว่า ความเร็วในการอนุมัติคำขอแสดงให้เห็นว่า สิ่งต่าง ๆ ในประเทศจีนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแค่ไหน 

“การยกเลิกนโยบายควบคุมโควิด-19 เป็นตัวอย่างหนึ่ง” แฮนด์ลีย์กล่าว 

เขาบอกอีกว่า ในขณะที่ระบบการอนุมัติแบบใหม่ยังคงอยู่ในตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจ ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหันอีกครั้งในอนาคต

………………….