การเติบโตของเศรษฐจีนปี 2565 อยู่ที่ 3% ต่ำสุดในรอบ 47 ปี หากไม่นับปี 2563 ที่โควิด-19 ระบาดหนัก เป็นผลจากการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด และวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์
วันที่ 17 มกราคม 2566 Reuters รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 โต 2.9% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 และชะลอลงจากไตรมาส 3 ปี 2565 ที่โต 3.9%
ส่วนภาพรวมทั้งปี 2565 โต 3% พลาดเป้าของทางการจีนที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะโตได้ 5.5% และชะลอลงอย่างมากจากปี 2564 ที่โต 8.4%
ทั้งนี้ หากไม่นับรวมปี 2563 (ปีที่โควิด-19 ระบาดหนักในจีน) ที่จีดีพีขยายตัวเพียง 2.2% ตัวเลขการเติบโต 3% ในปี 2565 นี้ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) หรือ 47 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรมอันยาวนานนับทศวรรษ ซึ่งทำลายเศรษฐกิจจีน
มาตรการควบคุมโควิด-19 อันเข้มงวดที่จีนใช้มาเกือบทั้งปีนั้น ได้ยับยั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 2565 กระทั่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบากลางของจีนได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดอย่างกะทันหัน แต่การผ่อนคลายในช่วงปลายปีก็นำไปสู่การแพร่เชื้อโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ก็คาดการณ์อีกว่า การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นอาจจะขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น
ส่วนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในเดือนธันวาคม เช่น ยอดค้าปลีก และผลผลิตของโรงงาน ซึ่งเผยแพร่พร้อมกับข้อมูลจีดีพีนั้น ออกมาอยู่ในระดับที่เกินความคาดหมาย แต่ยังอ่อนแอ
โดยผลผลิตของโรงงานในเดือนธันวาคม 2565 ขยายตัว 1.3% จากเดือนธันวาคม 2564 และชะลอตัวจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ขยายตัว 2.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดค้าปลีกซึ่งเป็นตัวชี้วัดการบริโภคที่สำคัญลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับธันวาคม 2564 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ลดลง 5.9%
“ข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนธันวาคมนั้น สร้างความประหลาดใจในวงกว้างที่ตัวเลขเป็นทิศทางบวก แต่ก็ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งอุปสงค์ เช่น การใช้จ่ายในภาคค้าปลีก” หลุยส์ ลู (Louise Loo) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Oxford Economics กล่าว และบอกอีกว่าข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้สนับสนุนมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีมานานว่า การเปิดประเทศอีกครั้งของจีนจะบูสต์เศรษฐกิจได้เล็กน้อยในช่วงเริ่มต้น โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในระยะเริ่มต้น
นักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ รวมถึง เหา ชัว (Hao Zhou) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Guotai Junan International Holdings Limited (GTJAI) คาดการณ์ว่า การบริโภคและการลงทุนจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่นำโดยรัฐบาล
จากการสำรวจของ Reuters นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มดีขึ้น คาดว่าจะเติบโต 4.9% ในปี 2566 เนื่องจากผู้นำจีนพยายามจัดการกับอุปสรรคสำคัญบางประการของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นคือนโยบาย Zero-COVID และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างรุนแรง โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าการเติบโตจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาสที่ 2
นอกจากนั้น การดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในจีนอาจจะบรรเทาภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกตามที่มีคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ปัญหาที่จะตามมาคือ การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของจีนที่เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย อาจจะทำให้ทั่วโลกต้องปวดหัวเรื่องเงินเฟ้อมากขึ้น
นอกจากนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนได้เปิดเผยตัวเลขจำนวนประชากรในปี 2565 โดยประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ซึ่งจำนวนประชากรที่ลดลงนั้นจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต
…………………….