เศรษฐกิจถดถอย เสียงเตือนดังถี่ขึ้น ผู้กำหนดนโยบายต้องรับมืออย่างไร

เงินเฟ้อ คนไม่มีกำลังซื้อ
REUTERS/Kim Kyung-Hoon

พอเข้าสู่ปี 2566 มีเสียงเตือนว่าจะเกิดภาวะ เศรษฐกิจถดถอย และผลกระทบออกมาถี่ขึ้น เมื่อโลกกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้กำหนดนโยบายควรรับมืออย่างไร 

จากการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์โดย Bloomberg ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2565 ผลการสำรวจพบว่า กว่า 70% ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสอบถามคิดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในปีนี้ 

เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงเกี่ยวพันอยู่กับนโยบายของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ท่ามกลางความหวาดผวา ท่ามกลางคำเตือนจากรอบทิศว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย และชาวโลกจะเจอสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบากมากขึ้นนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จึงยังเป็นสิ่งที่โลกต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง 

ตอนนี้หลายปัจจัยภายในสหรัฐ สะท้อนแนวโน้มว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System) หรือเฟด จะยังคงนโยบายการเงินที่ตึงเครียดต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็มีความเห็นบางส่วนว่าอาจจะผ่อนคลายลงเล็กน้อย โดยขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง 

จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ ปัจจัยสำคัญการขึ้นดอกเบี้ย

ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง หรือจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเดิม ก็คือ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งจะเปิดเผยออกมาในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคมนี้ 

นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่า นโยบายการเงินอันแข็งกร้าว ของธนาคารกลางสหรัฐ จะลดอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคมลงได้อีกครั้ง เหมือนที่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนลดลงจากเดือนก่อนหน้านั้น 

จากการสำรวจตลาดของบริษัทให้บริการข้อมูลตลาดการเงิน Refinitiv คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565 ของสหรัฐ จะอยู่ที่ 6.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เป็นอัตราที่ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน (MOM) ซึ่งอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.1% และนับเป็นอัตราที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565

เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน (MOM) คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธันวาคมจะยังคงทรงตัวจากเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 0.1% (หลังปรับฤดูกาล)

การลดลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (ซึ่งชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ) ในสหรัฐ ได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่ลดลง รวมถึงน้ำมันเบนซีนที่ราคาลดลง 13% ในเดือนธันวาคม 

อัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคมจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการพิจารณาของเฟดในการประชุมในวันที่ 31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และจะช่วยชี้ว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% เท่ากับในเดือนก่อนหน้านี้ หรือขึ้นในอัตราที่ชะลอลง   

ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ
REUTERS/Andrew Kelly/File Photo

 

ตลาดแรงงานแกร่ง “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ออกมาให้เห็น แต่อีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาได้ตัวเลขออกมาชัดเจนแล้ว ก็คือ ปัจจัยที่ว่าตลาดแรงงานสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่ง การจ้างงานเพิ่ม อัตราว่างงานลด และค่าจ้างก็เพิ่มขึ้น จึงถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผย เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนธันวาคม 2565 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่ง  

ก่อนหน้านี้ มีคาดการณ์ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ น่าจะน้อยลงแล้ว โดย Dow Jones คาดว่าการจ้างงานในเดือนธันวาคมน่าจะเพิ่มขึ้นราว 200,000 ตำแหน่ง แต่ตัวเลขที่ออกมานี้สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ขณะที่ค่าจ้างรายชั่วโมงก็เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.6% จากเดือนธันวาคม 2564 

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงจาก 3.7% ในเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ 3.5% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังดี หรือไม่แย่ เป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ ยังมีพื้นที่ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อให้กลับลงไปอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2%   

“ไม่ใช่ว่าเฟดต้องการให้การจ้างงานน้อยลง สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการเติบโตของค่าจ้างที่ต่ำลง เพราะพวกเขากังวลว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง” แรนดัลล์ โครสซ์เนอร์ (Randall Kroszner) อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ University of Chicago Booth School of Business ให้ความเห็นกับ Bloomberg 

เขาวิเคราะห์อีกว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง จากขึ้นทีละ 0.50% เป็นทีละ 0.25% หลังการประชุมในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยปราบเงินเฟ้อ
REUTERS/Joshua Roberts/File Photo

เอกชน  67% เชื่อเศรษฐกิจจะถดถอยในปีนี้

การสำรวจความคิดเห็น เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวน 1,000 แห่งในสหรัฐอเมริกา โดย Provident Bank ผลปรากฏว่า เจ้าของกิจการ 67% เชื่อว่าสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

ทั้งนี้ สัดส่วนที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะถดถอยค่อนข้างต่างกัน โดยนักธุรกิจจากฝั่งตะวันตกและตอนกลางของประเทศสัดส่วน 72% เชื่อว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 ส่วนในฝั่งตะวันออกมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 59% เชื่อว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 

แม้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะถดถอย แต่นักธุรกิจผู้ตอบแบบสอบถามยังมีความหวังในทางที่ดี เมื่อถูกถามว่าคิดว่าธุรกิจของตนเองจะเป็นอย่างไร 78% มีความหวังว่าจะ “ดีขึ้น” หรือ “ดีขึ้นมาก” และ 68% บอกว่า บริษัทของพวกเขาจะเพิ่มการจ้างงานในปี 2566 นี้

เสียงเตือนถึงถี่ขึ้น ลำบากกันทั่วโลก

ขณะที่สหรัฐ ยังมีเหตุผลในการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ความกังวลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็นับวันยิ่งเพิ่มขึ้น และเสียงเตือนก็มีออกมาให้ได้ยินถี่ขึ้นเมื่อเข้าสู่ปีใหม่ 

เศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมาก-ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งไปขายทั่วโลก-จะได้รับผลกระทบหนัก 

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 Bloomberg รายงานว่า ธนาคารโลก (World Bank) กังวลว่าอาจจะมีแรงกระแทกอื่น ๆ หรือปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ผลักให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศขนาดเล็กที่เปราะบาง

ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่า แม้จะไม่มีวิกฤตอื่น ๆ อีก ลำพังเพียงวิกฤตเดิมที่สะสมมา ก็คาดว่าทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว เนื่องจากการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สภาวะทางการเงินที่เลวร้ายลง และการหยุดชะงักอย่างต่อเนื่องจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคำเตือนจาก คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ที่เตือนรับต้นปีว่า โลกกำลังเผชิญกับปีที่ยากลำบากรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนกำลังชะลอตัวพร้อมกัน 

เศรษฐกิจถดถอย
REUTERS/Kim Kyung-Hoon

World Bank กับ IMF แนะผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญหน้าความท้าทายนี้อย่างไร

ธนาคารโลก หรือ World Bank แนะนำว่า “ความพยายามอย่างเร่งด่วนในระดับโลกและระดับชาติ” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลดความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย ลดผลกระทบจากหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (EMDEs) ซึ่งคาดว่าการเติบโตของการลงทุนจะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 

“จำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาต้องแน่ใจว่าการสนับสนุนทางการคลังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังคงถูกตรึงไว้อย่างดี และระบบการเงินยังคงมีความยืดหยุ่นต่อไป”

คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ IMF เคยเตือน อย่างละเอียดแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ขณะเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปค ที่ประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า ความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นความอันตรายที่ชัดเจน ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการจัดการความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นคง และทำร้ายคนยากจนอย่างมากที่สุด 

“สำหรับปี 2023 เราต้องตระหนักว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากรออยู่ข้างหน้า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง”

กรรมการผู้จัดการ IMF บอกว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่หนักหนาสำหรับผู้กำหนดนโยบายมากกว่าปี 2563 ที่โควิด-19 ระบาดเป็นปีแรก ย้อนกลับไปในตอนนั้น ผู้กำหนดนโยบายมีเป้าหมายร่วมกันอย่างเดียว คือ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ในปี 2566 นโยบายการคลังจะต้องปรับใช้อย่างระมัดระวัง โดยกำหนดเป้าหมายช่วยเหลือส่วนที่เปราะบางที่สุดในระบบเศรษฐกิจ แต่จะต้องไม่ทำลายนโยบายการเงินและการต่อสู้กับเงินเฟ้อ  

“กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อนโยบายการเงินเหยียบเบรก นโยบายการคลังไม่ควรเหยียบคันเร่ง” กรรมการผู้จัดการ IMF ให้คำแนะนำผู้กำหนดนโยบายทั้งภาคการคลังและการเงิน 


……………….