ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนธ.ค.-โฟลว์ไหลเข้า หนุนเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

เงินเฟ้อ สหรัฐ

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.60-34.30 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.-ตลาดการจ้าางานสหรัฐฯ กำหนดทิศนโยบายการเงินเฟด ด้าน “กรุงศรี” คาดเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานชะลอลง หลังเปิดประเทศ-ราคาทองคำพุ่ง หนุนบาทแข็งค่าสูงสุด 8 เดือนสูงสุดในภูมิภาค

วันที่ 8 มกราคม 2566 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 9-13 มกราคม 2566) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.75-34.25 บาทต่อดอลลาร์

โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม จะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อ CPI และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวที่นักลงทุนโฟกัส เพราะจะสะท้อนภาพอัตราเงินเฟ้อว่าชะลอตัวได้หรือไม่ รวมถึงติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดถึงมุมมองว่านโยบายการเงินเริ่มมีผลหรือไม่ และโทนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้จะมีตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของยูโรโซน หากตัวเลขออกมาดีต่อเนื่อง จะช่วยพยุงค่าเงินยูโรได้ ส่วนในฝั่งจีนยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลังจากการเปิดประเทศการระบาดจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าภาพจะออกมาแย่ในระยะสั้น และทางการจีนน่าจะรับมือได้ จึงไม่น่าจะมีผลมากนัก

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 2-6 ม.ค.66) พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 7,300 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิราว 4.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นว่าสัญญาณนักลงทุนเข้ามาซื้อบอนด์ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นการเข้ามาทำธุรกรรมเก็งกำไรส่วนต่างราคา หรือ Arbitrage เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ค่อนข้างแคบลงแล้ว เชื่อว่ายังคงเห็นการเข้ามาทำ Arbitrage อยู่ แต่อาจจะเบาบางลง และทยอยเทขายทำกำไร (Take Profit) ซึ่งโดยรวมจะเห็นการเข้ามาซื้อสุทธิราว 5,000 ล้านบาทได้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนตลาดหุ้นอาจมีแรงซื้อแต่ไม่เยอะราว 2,000 ล้านบาทได้

“บาทเรามองว่ายังมีมุมแรงกดดันทางด้านอ่อนค่าได้บ้าง แต่คงไม่เห็นการอ่อนค่าเยอะไม่น่าจะเกินกรอบบนที่ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ เพราะทุกคนยังมองว่าบาทแข็งค่า แต่แฟคเตอร์สำคัญที่มีผลต่อค่าบาท คือ ราคาทองคำที่ตอนนี้มีความสัมพันธ์ต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทถึง 84% เมื่อเทียบกับดอลลาร์มีเพียง 74% ซึ่งตอนนี้เองดอลลาร์ก็เคลื่อนไหวในลักษณะ Side Way ด้วย”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า(วันที่ 9-13 มกราคม 2566) ผันผวนอยู่ที่ 33.60-34.30 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์อาจฟื้นตัวขึ้นระหว่างทาง (แม้จะไม่ทำจุดสูงสุดใหม่) หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อลดลงช้า ซึ่งอาจทำให้ตลาดทบทวนมุมมองที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ โดยวันที่ 12 ม.ค.นี้ สหรัฐฯ จะมีการประกาศเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.65 คาดเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานชะลอลงมาที่ 6.6% และ 5.7% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผู้ร่วมตลาดมีบรรยากาศ (sentiment) เชิงบวกต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว หลังจีนประกาศคลายล็อกเร็วกว่าคาด อีกทั้ง ราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งขึ้น กระตุ้นแรงส่งออกทองของกลุ่มผู้ค้าทองในประเทศ เร่งการแข็งค่าของเงินบาทอีกทางหนึ่ง ทางด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ร่วงลง เป็นผลดีต่อดุลการค้าของไทยเช่นกัน

“เงินบาทสัปดาห์แรกของปี 66 แตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 8 เดือน เร็วและแรงกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาพักเงินไว้ในพันธบัตรระยะสั้น โดยฟันด์โฟลว์ที่มาพักในพันธบัตรระยะสั้นมักมีลักษณะเข้าออกเร็ว ส่วนความเสี่ยงด้านขาลงของภาคส่งออกเปิดกว้างท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจหลักถดถอยหลังจากคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวในปีที่ผ่านมา”