ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ล่าสุด FedWatch Tool Group ชี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 49.5% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 3-6 ธันวาคม 2566 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอีก 6 สกุลในตลาด เปิดตลาดในวันอังคาร (3/1) หลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ที่ระดับ 103.663 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดในวันศุกร์ (30/12) ที่ระดับ 103.522 ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงระหว่างสัปดาห์จากแรงขายดอลลาร์เพื่อถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องรวม 4.25% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เพื่อพยายามสกัดกั้นเงินเฟ้อ

นอกจากนั้นแล้วค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมในวันพุธ (4/1) ภายหลังจากที่มีการปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งความเห็นเป็นไปตามการคาดการณ์เดียวกันกับนักลงทุน โดยรายงานการประชุมเฟดระบุว่า คณะกรรมการเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ และคาดว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นนดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าข้อมูลที่เฟดได้รับมาจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอว่าเงินเฟ้อกำลังกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี กรรมการทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าเฟดควรจะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเมื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่จะดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ในวันพฤหัสบดี (5/1) ค่าเงินดอลลาร์ได้กลับมาแข็งค่าอีกครั้งเทียบสกุลเงินหลักหลังข้อมูลแรงงานที่แข็งของสหรัฐที่เปิดเผยออกมากลับมาเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าซื้อดอลลาร์อีกครั้ง โดยการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 235,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 153,000 ตำแหน่ง จากระดับ 127,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน

โดยล่าสุด FedWatch Tool Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 49.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักเพียง 30.3%

ทั้งนี้คาดว่าในคืนนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธันวาคม, อัตราการว่างงานเดือนธันวาคม และดัชนีภาคบริการเดือนธันวาคมจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งหากออกมาดี ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับปัจจัยในประเทศไทยนั้น ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (3/1) ที่ระดับ 34.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/12) ที่ระดับ 34.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากวันหยุดช่วงปีใหม่ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงยังได้รับปัจจัยบวกต่อเนื่องจากช่วงการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของประเทศจีน ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย

ในวันพุธ (4/1) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ออกประกาศ กนง.เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2566 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 มีมติอนุมัติตามที่ รมว.คลังและ กนง.มีข้อตกลงร่วมกัน กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียภาพ ราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2566 โดยนักวิเคราะห์มองว่า เงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นป็นสกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดของเอเชียในปี 2566

นายคริสโตเฟอร์ หว่อง นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศจากโอซีบีซี แบงก์ สิงคโปร์ กล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มที่จะได้ปัจจัยหนุนจากการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวจีน หลังจากจีนยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งปูทางให้ไทยสามารถรับนักท่องเที่ยวขาออกจากจีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การที่จีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทยยังเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย

ในวันพฤหัสบดี (5/1) กระทรวงพาณิชย์ไทย เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 107.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมขยายตัว 5.89% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ที่ 5.9% โดยสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครน รวมถึงประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงที่สุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 โดยปี 2565 อยู่ที่ 6.08% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในช่วง 5.5-6.5%

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าที่สุดในรอบ 8 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ที่ระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์อยู่ที่ 33.80-34.16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/1) ที่ระดับ 34.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยหลักมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าต่างชาติมีการซื้อสุทธิพันธบัตรไทยประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท หลังจากตลาดเปิดการซื้อขายในปี 2566 เพียงไม่กี่วันเท่านั้น

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันอังคาร (3/1) ที่ระดับ 1.0665/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/12) ที่ระดับ 1.0664/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามแรงซื้อขายเก็งกำไรของนักลงทุนเป็นหลัก

ขณะที่ในวันจันทร์ (2/1) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้จัดการภาคการจัดซื้อประจำเดือนธันวาคมของสหภาพยุโรปออกมาที่ระดับ 47.4 ขณะที่ของประเทศฝรั่งเศสปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 49.2 จากคาดการณ์ที่ระดับ 48.9 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1.0509-1.0706 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/12) ที่ระดับ 1.0650/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (3/1) ที่ระดับ 130.00/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/12) ที่ระดับ 132.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะมาอ่อนค่าอีกครั้งระหว่างสัปดาห์จากแรงเทขายของนักลงทุน

ขณะที่ในวันพุธ (4/1) ผลสำรวจทางธุรกิจบ่งชี้ว่า กิจกรรมการผลิตของโรงงานในญี่ปุ่นลดลงในเดือนธันวาคม 2565 ในอัตรารุนแรงที่สุดในรอบ 26 เดือน โดยบริษัทต่าง ๆ คาดการณ์ว่า การผลิตจะยังคงลดลงต่อไปท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ยืนยันว่าทางธนาคารกลางจะยังคงดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายแบบพิเศษต่อไป ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.50-134.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/1) ที่ระดับ 131.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ