เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน

เงินบาท
แฟ้มภาพ

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน ปัจจัยหลักมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2566

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/1) ที่ระดับ 33.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (4/1) ที่ระดับ 34.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในคืนที่ผ่านมา มีรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ FOMC ที่จัดขึ้นในช่วง 13-14 ธ.ค. ออกมา ใจความหลักคือการที่ทางคณะกรรมการจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไปในระยะหนึ่ง ตามเป้าหมายที่ต้องการจะลดระดับเงินเฟ้อของสหรัฐให้อยู่ที่ระดับ 2% แต่อาจจะมีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการจะให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไม่ช้า นอกจากนี้ทางสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน

ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 54,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.46 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ย. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.04 ล้านตำแหน่ง อีกทั้งยังมีรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตของสถาบัน ISM หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 48.4 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ 48.5 และต่ำกว่าในเดือน พ.ย.ที่ 49.0

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 8 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าต่างชาติมีการซื้อสุทธิพันธบัตรไทยประมาณ 30,000 ล้านบาท หลังจากตลาดเปิดการซื้อขายในปี 2566 เพียง 2 วันเท่านั้น (3-4 ม.ค.)

นอกจากนี้การที่จีนประกาศยกเลิกมาตรการ Zero-Covid ซึ่งจะมีผลในวันที่ 8 มกราคม 2566 นั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ไทย เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 107.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมขยายตัว 5.89% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ที่ 5.9%

โดยสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครน รวมถึงประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน สำหรับอัตราเงินฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงที่สุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 โดยปี 2565 อยู่ที่ 6.08% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในช่วง 5.5-6.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.78-34.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (5/1) ที่ระดับ 1.0622/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (4/1) ที่ระดับ 1.0617/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้เงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากตลาดรอดูตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตในเขตยูโรโซนซึ่งจะประกาศในเย็นวันนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0611-1.0632 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0625/1.0629 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/1) ที่ระดับ 131.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (4/1) ที่ระดับ 130.34/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ยืนยันว่าทางธนาคารกลางจะยังคงดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายแบบพิเศษต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.67-132.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.54/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือน ธ.ค. จากเอดีพี (5/1), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (5/1), อัตราการว่างงานสหรัฐเดือน ธ.ค. (6/1), ดัชนี PMI ภาคการบริการสหรัฐเดือน ธ.ค.จาก ISM (6/1), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐเดือน ธ.ค. (6/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.5/-10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -17.5/-14.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ