เปิดแผนสำรองเมื่อรู้ว่าเงินเกษียณไม่พอ

Serious stressed asian senior old couple worried about bills discuss unpaid bank debt paper, sad poor retired family looking at tablet counting loan payment worry about money problem
บทความโดย "ทศพร อิศรางกูร ณ อยุธยา" 
นักวางแผนการเงินCFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

 

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 เมื่อวางแผนการเงินเพื่อเกษียณเอาไว้ โดยส่วนใหญ่ก็จะประเมินได้ว่าจะมีเงินใช้หลังเกษียณเท่าไหร่หรือมีเงินใช้ไปได้อีกกี่ปี อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ ไม่คำนวณเงินเฟ้อ

ตัวอย่าง นาย ก ตั้งใจว่าเกษียณอายุ 60 ปี และจะใช้ชีวิตถึงอายุ 80 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ปีละ 240,000 บาท หากคิดจากยอดที่ต้องใช้ชีวิตเกษียณแบบไม่ได้เผื่อเงินเฟ้อ จะต้องมีเงินเก็บ 240,000 x 20 ปี = 4.8 ล้านบาท ซึ่งในปีแรก ๆ ของการเกษียณข้าวของอาหารราคาจากเงินเฟ้อยังไม่ส่งผลมาก ก็ยังพอที่จะใช้ชีวิตได้ แต่เมื่อผ่านไป อาจทำให้ราคาข้าวจากจานละ 60 บาท เป็นจานละ 100 บาท ก็จะทำให้ช่วงท้ายของการเกษียณมีเงินไม่พอได้

1.ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย ตัวอย่าง นางสาวเอ ตั้งใจมีเงินเกษียณแบบคิดเผื่อเงินเฟ้อในอนาคตที่ 8 ล้านบาท ลงทุนในกองทุนเกษียณอายุ โดยเก็บเงินทุกเดือนแบบ DCA เดือนละ 8,000 บาท 30 ปี (ตั้งแต่อายุ 30 ปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี)

ซึ่งมีการจัดพอร์ตผลตอบแทนคาดหวังไว้ 6% เนื่องจากไม่มีการปรับ การดูแลพอร์ต เมื่อเกษียณอายุ ผลตอบแทนที่ทำได้จริงได้เพียง 4% จากเงินคาดการณ์ 8  ล้านบาท จะได้เพียง 5.9 ล้านบาท ขาดเงินเกษียณไป 2.1 ล้านบาท

Advertisment

2.มีเหตุฉุกเฉิน ตัวอย่าง นายสมชาย สะสมเงินไว้ได้จำนวน 5 ล้านบาทที่จะเอาไว้ใช้ยามเกษียณ แต่นายสมชายไม่ได้โอนความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ โดยการซื้อประกันสุขภาพและไม่มีสวัสดิการสุขภาพใด ๆ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยไม่สบาย จึงต้องนำเงินเกษียณ 5 ล้านบาทออก ไปใช้ 2 ล้านบาท ทำให้เงินเหลือเพียง 3 ล้านบาท เป็นต้น

3.อายุยืนกว่าที่คาดการณ์ไว้ การวางแผนเงินเกษียณ ควรเผื่ออายุสุดท้ายไว้เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ทำให้คนมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น โดยยึดว่า หากเสียชีวิตแล้วเงินยังเหลืออยู่ ดีกว่าเงินหมดแล้วยังต้องใช้ชีวิตแบบลำบาก

ตัวอย่าง นางสาวสมร มีเงินเกษียณเผื่อเงินเฟ้อแล้วไว้ที่ 10 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะใช้ชีวิตถึงอายุ 85 ปี แต่เมื่อตอนอายุ 82 ปี ก็พบว่าตัวเองสุขภาพยังแข็งแรงดี แต่เงินเกษียณเหลือเพียง 2 ล้านบาท หากนางสาวสมมีอายุถึง 90 ปี ต้องใช้อีก 3 ล้านบาท หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็จะทำให้นางสมรเจอปัญหาเงินเกษียณไม่พอ เป็นต้น

เมื่อเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น หากเกษียณไปแล้วและเงินเก็บออมไม่เพียงพอ ก็ต้องหาทางออก พิจารณายืดอายุเกษียณออกไป

Advertisment

ตัวอย่าง ตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี แต่เมื่อคำนวณเงินเกษียณแล้วยังไม่พอ ในยุคนี้สามาถทำงานได้ต่อเนื่อง และหลายบริษัท ก็ยินดีที่จะจ้างต่อไปจนถึงอายุ 65-70 ปี ซึ่งจะทำให้มีรายได้ต่อไปอีก 5-10 ปี ก็จะทำให้มีกระแสเงินสดรับเพิ่มและสามารถสะสมเงินเพื่อเกษียณเพิ่มขึ้นได้

ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต

อาจจำเป็นที่ต้องพิจารณาการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เงินที่พอจัดการได้ จะสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยดูจากบันทึกการใช้จ่าย งบกระแสเงินสด  แยกประเภทค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าน้ำไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเน็ต ค่าอาหาร เป็นต้น ประเภทไหนเป็นส่วนค่าใช้จ่ายผันแปร เช่น ท่องเที่ยว กินข้าวนอกบ้าน ทำบุญ เป็นต้น

สร้างรายได้พิเศษ

การเกษียณไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดเรียนรู้และพัฒนาตนเอง สามารถใช้เวลาว่างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น ทักษะในการทำงานออนไลน์ อ่านหนังสือ เข้ากิจกรรมทางสังคม การออกกำลังกาย งานอาสา เป็นต้น เพื่อไปใช้ในการสร้างรายได้ อินเทอร์เน็ตก็เปิดโอกาสให้คุณสร้างรายได้ออนไลน์

โดยการเริ่มธุรกิจออนไลน์ขายสินค้า หรืออาจใช้บริการผ่านเว็บไซต์ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้โอกาสในการหางานรับจ้าง Upwork, Freelancer, Fiverr และ TaskRabbit ก็สามารถรับงานตามความสามารถและความถนัด  ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนบทความ, การออกแบบกราฟิก, การแปลภาษา, หรืองานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ก็ต้องระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจจะมาหลอกลวง

ปรับการลงทุนใหม่เพิ่มผลตอบแทน

หากมีเงินเกษียณที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งมีเวลาลงทุนในระยะยาว 7-10 ปี หรือมีทรัพย์สินที่สามารถนำมาลงทุนได้อาจหาโอกาสในการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงกว่าเดิม เพื่อเป็นโอกาสสะสมเงินเกษียณได้เพิ่มในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ควรเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน เพราะเมื่อต้องการผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย

ขายทรัพย์สินเพื่อเป็นกระแสเงินสด

หากมีทรัพย์สินอะไรที่คุณไม่ได้ใช้ ก็อาจจำเป็นต้องตัดใจนำออกมาขาย ข้อสำคัญอยู่ที่ควรสำรวจราคาที่เหมาะสม โดยทยอยขายไปเรื่อย ๆ  โดยไม่กระชั้นชิดจนขาดสภาพคล่อง เพราะผู้ซื้ออาจกดราคาทรัพย์สินของเรา จนต้องขายถูกกว่าราคาตลาด

ใช้วิธี Reverse Mortgage

Reverse Mortgage จะเป็นเหมือนการขายบ้านให้กับธนาคารและธนาคารผ่อนเงินให้ทุก ๆ เดือน โดยเป็นการจำนองที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้สูงอายุที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ไม่อยากขาย เพราะต้องใช้อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิต และต้องการรายได้เป็นแบบรายเดือน เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยนำบ้านหรือคอนโดมิเนียม ไปจำนองกับธนาคาร แล้วให้ธนาคารจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือนแทน

การหาที่อยู่ใหม่

หากขายทรัพย์สินบางอย่าง เช่น บ้านออกไป อาจต้องการพิจารณาการย้ายไปอยู่ในที่อยู่ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำลง ที่อยู่ใหม่อาจเปลี่ยนเป็นเช่าแทน หรือคุณภาพและราคาที่เหมาะสมกับสภาพการเงินของคุณในปัจจุบัน ในหลาย ๆ ครั้ง ผู้สูงอายุก็อาจจะขายบ้านออกไป เพื่อไปเช่าอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุที่เป็นสวัสดิการรัฐ ที่มีการดูแลที่ดี ราคาไม่แพงก็ได้เช่นกัน

เมื่อเงินเกษียณไม่เพียงพอก็มีทางออกหลากหลาย แต่สิ่งสำคัญ คือ การทำการวางแผนอย่างรอบด้านก่อนการเกษียณอายุ ที่ต้องคำนวณเงินค่าใช้จ่ายพื้นฐานบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการเผื่อเงินเฟ้อในอนาคตที่จะส่งผลกับเงินเกษียณ ในกรณีที่ไม่มั่นใจในการจัดการเงินหลังเกษียณ คุณยังสามารถปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้