
พูดกันหนาหูว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะชะลอตัว และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย แล้วเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ 3 นักเศรษฐศาสตร์ จาก 3 ค่าย มาสะท้อนภาพที่แต่ละคนมอง
โลกถดถอย-ส่งออกแย่
โดย “ดร.เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 3.2% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ยังคงมีปัจจัยบวก และปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด
- EV จีน ทุบราคาเลือดสาด ฉางอาน-กว่างโจวท้ารบ BYD เกทับลดอีกแสน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- รู้จัก น้ำมัน EURO 5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 มีผลกับค่าการตลาดน้ำมันอย่างไร
“ปี 2566 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว หรือเข้าสู่ภาวะถดถอยช่วงสั้น ๆ ในบางไตรมาส และจะเป็นภาพแบ็กกราวนด์หลักของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น จากการยกเลิกนโยบายควบคุมการระบาดของโควิด-19 หรือ Zero COVID
แต่ยังคงต้องติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เห็นผลบวกทันที รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ”
ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศขยับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2565 และชัดเจนขึ้นในปี 2566
ขณะเดียวกัน ปัจจัยการเลือกตั้งของไทยที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. 2566 เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม หากการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้น ในไตรมาสที่ 2 จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และมีเงินสะพัดระดับท้องถิ่นในระยะสั้น ซึ่งจะเป็นผลบวกกับเศรษฐกิจ
“การส่งออกของไทยย่อตัวลงชัดเจน แต่โชคดีที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัว คาดว่าปีนี้น่าจะได้เกิน 20 ล้านคน ส่วนเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นไม่รู้จะโตได้หรือเปล่า อย่างการบริโภคก็อาจจะชะลอจากค่าครองชีพที่สูง
รวมถึงต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง และผู้ปล่อย
สินเชื่อก็คงต้องติดตามประเด็นหนี้เสียให้ดี” ดร.เชาว์กล่าว
พึ่งพาได้แต่ภาคท่องเที่ยว
“ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.4% โดยฟื้นตัวได้จากเครื่องยนต์ตัวเดียวคือ ภาคการท่องเที่ยว
ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 21.4 ล้านคน เป็นตัวเลขยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีน หากจีนมีการผ่อนคลาย คาดว่าตัวเลขน่าจะสูงกว่าประมาณการ
อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกเติบโตชะลอลงเหลือ 1.2% ภายหลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนในไตรมาสที่ 4/2565 จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศจะเห็นว่าจากนโยบายการเงินตึงตัว ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และดอกเบี้ยจากเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และค่าไฟฟ้าที่กำลังปรับขึ้น จะกดดันการลงทุนภาคเอกชนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
จึงมองว่านโยบายการคลังที่สำคัญและเป็นสิ่งจำเป็น คือ มาตรการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน เช่น มาตรการผ่อนคลายค่าไฟฟ้าที่สูง และต้นทุนอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนใหม่
ส่วนนโยบายการเงินในปี 2566 มองว่า กนง.ยังคงขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ต่อปี
โดยดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ 2% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 3.1% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 5% และทยอยลดลง ทั้งปีอยู่ที่ 3.1% ซึ่งยังเกินกรอบเป้าหมายที่ 1-3% จึงเป็นสาเหตุที่ กนง.ยังคงต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเทียบกับ 3-6 เดือนก่อน ความสดใสลดลงพอสมควร เดิมเราคิดว่าจะโตได้ 4.2% แต่ล่าสุดเราให้โต 3.4% จากปี 2565 โต 3.2% โดยเศรษฐกิจปี 2566 ฟื้นตัวได้เครื่องยนต์เดียว คือ ท่องเที่ยว เพราะส่งออกแทบไม่โต จากเศรษฐกิจโลกชะลอ เพราะธนาคารกลางหลัก ๆ ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทำให้ส่งออกหวังยาก และการเงินตึงตัวกระทบการลงทุน เพราะต้นทุนขึ้นพร้อมกันหลายตัว” ดร.พชรพจน์กล่าว
ท่องเที่ยวอุ้มจีดีพีได้น้อย
ฟาก “นริศ สถาผลเดชา” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb analytics) กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ 3.6% แต่การเติบโตอาจจะไม่สดใส เพราะต้องจับตาเครื่องยนต์การส่งออกที่จะเห็นการชะลอตัว หรือหดตัว จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน โดยประเมินการส่งออกของไทย จะขยายตัวได้ประมาณ 2% ไม่ได้ดีเหมือนเดิมปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ 8-9% ซึ่งภาคการส่งออกมีสัดส่วนถึงประมาณ 65% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ส่วนการบริโภคแม้ว่าจะยังดี ขยายตัวได้ 7-8% ช่วยดึงการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่ในปี 2566 ยังคงต้องติดตามว่าจะยังไปต่อได้หรือไม่ แม้ไทยเพิ่งจะเริ่มมีการใช้จ่าย แต่การขยายตัวจะทำได้ต่อเนื่องได้หรือไม่ และเงินเฟ้อที่ลดลงมาอยู่ 3% แต่ราคาสินค้าไม่ได้ลดลง จะเป็นแรงกดดันต่อการบริโภคที่มี สัดส่วนสูงถึง 55% ของจีดีพี
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวดี คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 20 ล้านคน แต่ก็จะช่วยชดเชยการส่งออกที่ชะลอได้แค่บางส่วน เพราะสัดส่วนภาคท่องเที่ยว ปัจจุบันเหลือต่ำกว่า 10% ของจีดีพี ขณะที่ ยังปิดช่องว่างช่วงก่อนโควิด-19 ได้เพียง 80% เท่านั้น ดังนั้น การท่องเที่ยวก็ถือว่าการเติบโตไม่แข็งแรงมาก แต่ก็เป็นปัจจัยบวกช่วยเศรษฐกิจได้
“ปี 2565 เราโต 3.2% และปี 2566 โต 3.6% ยังโตต่ำกว่าศักยภาพ โดยต้นปีการส่งออกมีโอกาสติดลบได้ จากก่อนหน้าที่โตค่อนข้างแรง เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวชัดเจนขึ้น ขณะที่การบริโภคปีที่ผ่านมาโต 6.6% ปีนี้คาด 3.9% ยังไปต่อได้หรือไม่ เพราะ 2 ตัวนี้ออกอาการแล้ว ทำให้ภาพปี 2566 ไม่น่าจะสดใสนัก” นริศกล่าว
จากภาพทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้าอยู่แล้ว ยิ่งฟื้นช้าเข้าไปอีก เรื่องนี้นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารประเทศต้องขบคิด