เปิด 5 ปัจจัยสหรัฐ “ซอฟต์แลนดิ้ง” จีน “ไม่ฟื้น” ไตรมาสแรกหลังเปิดประเทศ

สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

แม้เสียงของนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยจะให้น้ำหนักค่อนไปในทางที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐปี 2023 จะถดถอยเนื่องจากนโยบายด้านการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ว่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้สามารถชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล หรือ “ซอฟต์แลนดิ้ง” ซึ่งตามรายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่า ประกอบด้วยปัจจัยอย่างน้อย 5 ประการ

ปัจจัยดังกล่าวประกอบด้วย 1.การจ้างงานยังคงแข็งแกร่งและยืดหยุ่นได้อย่างน่าประหลาดใจ เห็นได้จากเดือนพฤศจิกายน 2022 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.63 แสนราย อัตราการว่างงานต่ำเพียง 3.7% หรือลดลงเกือบ 15% เมื่อเทียบกับฤดูใบไม้ผลิปี 2020

ประการที่ 2 แม้ค่าครองชีพจะยังสูงเกินไป แต่ดูเหมือนอัตราเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดยเดือนพฤศจิกายน ดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 7.1% ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จาก
ที่เคยสูงสุด 9.1 % ในเดือนมิถุนายน

ประการที่ 3 ราคาน้ำมันเบนซินล่าสุดโดยเฉลี่ยปรับตัวลงเหลือเพียง 3.10 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน จากที่เคยพุ่งสูงสุดเกิน 5 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ประการที่ 4 ค่าจ้างแท้จริงปรับขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคยังมีอำนาจใช้จ่ายต่อไปในปีนี้ และประการสุดท้าย เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่า อาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปลายฤดูหนาว หรือต้นฤดูใบไม้ผลินี้

ส่วนฟากของจีนนั้น การเลี้ยวกลับอย่างกะทันหัน ด้วยการยกเลิกนโยบายซีโร่โควิด-19 และหันมาเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดการณ์ ได้สร้างความคาดหวังสูงให้กับหลายฝ่าย อย่างน้อยก็มีความหวังว่าเศรษฐกิจสองยักษ์ใหญ่ของโลกคือสหรัฐอเมริกากับจีนจะไม่อ่อนแออย่างมากพร้อมกันจนฉุดเศรษฐกิจทั้งโลกให้ย่ำแย่เกินไป

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความหวังสูงนั้น บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ได้เตือนว่าต้องเผื่อใจไว้บ้าง เพราะถึงแม้จีนจะกลับมาเปิดประเทศ แต่กระบวนการเปิดมีแนวโน้มว่าจะเอาแน่เอานอนไม่ได้และเกิดความโกลาหลมากกว่าจะสร้างความก้าวหน้าให้เศรษฐกิจ ดังนั้นอย่างน้อยในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีนี้จะเต็มไปด้วยความขรุขระ

โป จวง นักวิเคราะห์อาวุโสของลูมิส เซลส์ คอมพานี ชี้ว่า ในระยะสั้นหลังเปิดประเทศ เศรษฐกิจจีนน่าจะเกิดความโกลาหล เนื่องจากเป็นการเปิดอย่างกะทันหันเพราะแรงกดดันจากการประท้วงของประชาชน และไม่ได้เตรียมตัวให้ดีเพียงพอที่จะรับมือโควิด-19

ดังนั้นถึงแม้การผ่อนคลายการควบคุมจะสร้างความโล่งอกให้ประชาชน แต่ขณะเดียวกันการติดเชื้อจะแพร่กระจายมากขึ้น จนอาจทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับแทบไม่ไหว ก็จะกลายเป็นว่าจะกระตุ้นให้ประชาชนส่วนใหญ่ระมัดระวังตัวเองมากขึ้นเพราะเกรงจะติดเชื้อ และเลือกจะหันมาป้องกันตัวเองแทนการพึ่งพามาตรการจากรัฐ อาจทำให้คนยังไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เช่น ไม่ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือช็อปปิ้งตามร้านค้า ส่งผลเสียต่อภาคการบริโภค รวมทั้งต่อกระบวนการผลิตอันเนื่องมาจากคนงานติดเชื้อมากขึ้น

นักวิเคราะห์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า นโยบายของจีนในการอยู่ร่วมกับโควิดอาจลำบากกว่าที่หลายคนคิด เชื่อว่าไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจจีนจะหดตัว 0.8% ก่อนจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังเดือนมีนาคม โดยเอชเอสบีซีประเมินว่า ในไตรมาสแรก เศรษฐกิจจีนจะหดตัว 0.5% ก่อนจะสามารถขยายตัวได้ 5% ตลอดปี 2023

ไม่เพียงการเปิดประเทศอย่างกะทันหันและไร้การวางแผนรับมือโควิด-19 เท่านั้น ที่จะเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจของจีน แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญที่น่าจับตาอีก นั่นก็คือรัฐบาลจีนจะมีวิธีแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เพราะภาคอสังหาฯมีสัดส่วนเกือบ 30% ของจีดีพี

วิกฤตภาคอสังหาฯของจีนซึ่งเริ่มขึ้นในปลายปี 2021 หลังจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่หลายรายผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยต้องล่าช้าหรือชะงักทั่วประเทศ ยอดขายของภาคอสังหาฯลดลงมากกว่า 26% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่แล้ว และการลงทุนลดลง 9.8% แม้รัฐบาลจีนจะประกาศมาตรการช่วยเหลือออกมา แต่ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ายังไม่เพียงพอ