เศรษฐกิจโลกปี 2023 อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด

เศรษฐกิจโลกปี 2023
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นักวิเคราะห์และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ใช้เวลาตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมา คาดการณ์ถึงการทรุดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก หนักถึงขนาดเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วทั้งโลก

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกบางคนถึงกับระบุว่า ถ้าหากเศรษฐกิจโลกไม่ร่วงลงสู่ภาวะถดถอยไปแล้ว ก็จะถดถอยในอีกไม่ช้าไม่นาน เมื่อถึงสิ้นปี 2022 ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง ที่ว่าถูกระบุว่าจะเกิดขึ้นในปีใหม่นี้

เหตุผลเป็นเพราะเขตเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของโลกล้วนมีปัญหา ยุโรปถูกถล่มด้วยปัญหาราคาพลังงาน และมีแนวโน้มมากว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งในนิยามโดยแคบทางด้านเศรษฐศาสตร์ หมายถึงอัตราการขยายตัวของจีดีพีลดต่ำลงสองไตรมาสติดต่อกัน

“จีน” ดูเหมือนยิ่งตกอยู่ในสภาพร้ายแรงยิ่งกว่า นอกจากจะมีปัญหาด้านพลังงานเช่นเดียวกับยุโรปแล้ว ยังมีปัญหาคาราคาซังในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาวะแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อยู่ในเวลานี้

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า มีแนวโน้มสูงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอยทั่วโลกขึ้นในปีนี้ บางคนระบุว่าโอกาสมีมากถึง 50% ในปี 2023 และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 75% ในปี 2024 และปี 2025

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์ทุกคนจะเห็นพ้องกับแนวคิดข้างต้น “เจฟฟรีย์ แฟรงเคล” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งในอดีตเคยเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี “บิล คลินตัน” ยืนยันว่า

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวลงอยู่บ้างในปีใหม่นี้ แต่อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด และไม่น่าจะทรุดหนักถึงขั้นกลายเป็นภาวะถดถอยทั่วโลกด้วยซ้ำไป

แฟรงเคลยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในขณะที่จีดีพีของจีนอาจชะลอตัวลงตามที่คาดหมายในปีหน้า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะทรุดตัวลงต่ำกว่าในช่วง 4 ทศวรรษมหัศจรรย์ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะติดลบต่อเนื่องกันถึง 2 ไตรมาส

นักวิชาการรายนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินลุกลามไปทั่วโลกในปี 2008 จีดีพีของจีนทรุดฮวบลงมากถึง 8% แต่ถึงแม้ในตอนนั้นผลผลิตโดยรวมภายในประเทศของจีนก็ยังไม่ถึงกับลดลงสู่แดนลบต่ำกว่า 0%

เหตุผลประการถัดมา แฟรงเคลชี้ให้เห็นว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ล้วนแต่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดพลาดในเชิงนโยบาย ที่เรียกได้ว่าเป็นอันตรายที่ตัวเองก่อขึ้นเองทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น กรณีของจีน การยืนกรานนโยบายซีโร่โควิดที่ผ่านมาของรัฐบาลปักกิ่ง ส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อผสมผสานเข้ากับการยกเลิกโดยไม่ได้เตรียมความพร้อมให้เพียงพอ ก็สร้างความเสียหายมหาศาลให้เกิดขึ้นได้ตามมา

กรณีของยุโรปก็เช่นเดียวกัน ในช่วงระหว่างปี 2011 จนถึงปี 2021 ยุโรปพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย จนกลายเป็นการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติรัสเซียไปโดยไม่จำเป็น และทำให้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งเปราะบางทางด้านพลังงานมากที่สุดในทันทีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนระเบิดขึ้น

สหรัฐอเมริกาทำร้ายเศรษฐกิจตัวเองด้วยนโยบายที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่การจงใจละทิ้งความเป็นผู้นำโลกเสรี ไปจนถึงการละเลยไม่สนใจองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และกรอบความตกลงการค้าทั้งหลายที่บรรดาชาติสมาชิกใช้เวลาถกเถียงตกลงกันในรายละเอียดมานานปี

การใช้กำแพงภาษีเพื่อการกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็เป็นความผิดพลาด แต่ที่น่าเสียดายก็คือประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” กลับดำเนินการน้อยมากสำหรับการแก้ไขความผิดพลาดที่ว่านั้น

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ก่อขึ้นให้กับตัวเอง ซึ่งแน่นอนย่อมแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบาย และไม่น่าจะส่งผลลุกลามไปทั่วโลกอย่างที่คาดคิดกัน

ศาสตราจารย์แฟรงเคลระบุว่า แม้เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะทรุดตัวลง เกิดปัญหายุ่งยากในหลาย ๆ จุด แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นแน่ ก็คงไม่หนักหนาสาหัสถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แม้จะยึดถือตามนิยามว่าด้วยการติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสก็ตามที

ตัวอย่างเช่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกที่ผ่านมา น้อยครั้งที่จะลดลงต่ำกว่า 0% ในแต่ละไตรมาส การติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสยิ่งยากที่จะเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

แม้ในภาวะเศรษฐกิจยุ่งยากลำบากในช่วงวิกฤตน้ำมันเมื่อปี 1974 และ 1981 การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งโลกก็ไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะถดถอย ด้วยเหตุผลที่ว่า มีอัตราการขยายตัวในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวเป็นบวก จนสามารถถ่วงน้ำหนักกับอัตราการขยายตัวเป็นลบในเขตเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าทั้งหลายได้

อาจจะมีกรณียกเว้นที่เด่นชัดอยู่เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2008 กับวิกฤตโควิด-19 เมื่อปี 2020 ที่ภาวะถดถอยเกิดขึ้นทั่วโลกโดยแท้จริง

ดังนั้น แม้ว่าองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ (โออีซีดี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้จะหดตัวลงสู่ระดับระหว่าง 2.2% ถึง 2.7% ก็ตาม แฟรงเคลก็เชื่อว่ายังไม่มีแนวโน้มที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบต่อเนื่องกันถึงสองไตรมาสอย่างที่คาดหมายกันไว้แต่อย่างใด

ศาสตราจารย์แฟรงเคลเชื่อว่า แม้จะยังมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยขึ้นในปีนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มอย่างที่เข้าใจกัน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วทั้งโลกอาจเกิดขึ้นได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นเดียวกัน