เศรษฐกิจยูโรโซนดีเกินคาด แต่ยังไม่พ้นภาวะถดถอย

ยูโรโซน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นักวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจเคยฟันธงเอาไว้ว่า หน้าหนาวปีนี้ ซึ่งหมายถึงตั้งแต่เดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้ เรื่อยไปจนถึงราว ๆ ต้นเดือน มี.ค.ปีหน้า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน หรือประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน จะดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยสาหัส

แต่ดัชนีชี้วัดล่าสุด ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นเดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจของยูโรโซนแข็งแกร่งกว่าที่คิดกันไว้ สำนักวิเคราะห์สำคัญ ๆ พากันปรับประมาณการดีขึ้น ระบุคล้าย ๆ กันว่าภาวะถดถอยแม้จะยังคงเกิดขึ้น แต่เบาบางกว่าที่คาดการณ์กันไว้แต่เดิมมาก

คณะกรรมาธิการยุโรป แถลงไว้ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. คาดการณ์ว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จีดีพีของยูโรโซนโดยรวมจะหดตัวลง 0.5% หลังจากนั้นจะยังคงหดตัวลงอีกเล็กน้อยในไตรมาสถัดไปซึ่งเป็นไตรมาสแรกของปีหน้าที่ 0.1%

ตัวเลขดังกล่าวเป็นประมาณการที่สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์จากภาคเอกชนส่วนใหญ่ ที่เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของยูโรโซนในเวลานี้ดีกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ แม้ว่าจะยังคงอยู่ในสภาพถดถอยทางเทคนิคอยู่ก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ปี 2022 นี้ทั้งปี การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจะอยู่ที่ 3.2% ดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ที่ 2.7% ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

ซูแซนนาห์ สตรีตเตอร์ จากบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ ฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์ ชี้ว่า ภาวะถดถอยของยูโรโซน ไม่ได้ลงลึกมากอย่างที่กลัวกัน สาเหตุสำคัญเป็นเพราะยูโรโซนน่าจะเลี่ยงภาวะวิกฤตพลังงานเต็มรูปแบบได้สำเร็จ

ก่อนหน้านี้ในหน้าร้อน ทางการรัสเซียสั่งปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ “นอร์ดสตรีม 1” ทำให้เกิดความกลัวกันว่า ยุโรปจะเผชิญวิกฤตพลังงานอย่างหนัก ราคาพลังงานพุ่งสูง ขาดแคลนจนอาจจำเป็นต้องปันส่วนและปิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นช่วง ๆ

แต่ตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.เรื่อยมา สถิติแสดงให้เห็นว่า ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจพากันลดการใช้พลังงานลงมหาศาล กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คลังพลังงานสำรองของยูโรโซน ยังคงอยู่ในสภาพเกือบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ในตอนนี้

ภาวะอากาศหนาวที่มีแค่เบาบางเท่านั้น มีส่วนช่วยอย่างมากเช่นเดียวกัน

ตัวเลขที่ได้เมื่อสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า 3 เขตเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซน ที่ประกอบด้วย เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี บริโภคก๊าซลดลงมากถึง 30% เมื่อเทียบกับอัตราการใช้โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2017 จนถึงปี 2021 ที่ผ่านมา

โฮลเกอร์ ชมีดิง หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของเบนเรนเบิร์กแบงก์ คาดการณ์เอาไว้ในเดือน ก.ย.ว่า ในช่วง 3 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไปจนถึงกลางปี 2023 เศรษฐกิจของยูโรโซนจะติดลบ 2.1% เมื่อราคาก๊าซพุ่งขึ้นถึงระดับ 220 ยูโรต่อเมกะวัตต์อาวร์ ในหน้าหนาวที่จะถึงนี้ ทั้งยังเชื่อว่าต้องมีการดับไฟเพื่อประหยัดพลังงานเป็นระยะ ๆ

แต่หลังจากนั้นราคาก๊าซในยูโรโซนลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่ถึง 110 ยูโรต่อเมกะวัตต์อาวร์ ทำให้ชมีดิงต้องปรับลดการหดตัวลงเหลือเพียง 1.6% และชี้ว่าความกังวลของภาคธุรกิจที่จะมีการดับไฟเป็นช่วง ๆ นั้นหลงเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ความเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงมีอยู่ แต่มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่ในทางลบแต่อย่างใด โกลด์แมน แซกส์ ก็ปรับประมาณการสำหรับช่วง 3 ไตรมาสถัดไปของตนเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวลงแค่ 0.7% ไม่ใช่ 1% เต็มอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้านี้

ปัจจัยสำคัญก็คือ การที่ราคาก๊าซลดลง, ความเสี่ยงที่จะเกิดการปันส่วนพลังงานลดลง บวกกับการให้การสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ ทำให้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ “ตื้น” กว่าที่คาดไว้แต่เดิม

ซิลเวีย อาร์ดาญา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ ก็ปรับการคาดการณ์ให้ดีขึ้น โดยระบุว่า ภาวะติดลบสูงสุดของยูโรโซนจะอยู่ที่ 1.3% ไม่ใช่ 1.7% ก่อนหน้านี้

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่าภาพรวมของยูโรโซนในปีหน้ายังไม่ดีนัก และคาดว่าจีดีพียูโรโซนจะหดตัวลง 0.1% ในปี 2023 ลดวูบลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ในเดือน มี.ค.ว่าจะขยายตัว 2.3%


เพราะคาดว่าก๊าซจากรัสเซียจะยังคงจำกัด และการจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นเพื่อทดแทนสำหรับหน้าหนาวในปีหน้าจะไม่ง่ายดายเหมือนในตอนนี้อีกต่อไปแล้ว