ECB เครียดศึก รัสเซีย-ยูเครน สะเทือนยูโรโซน หวั่นสมาชิกผิดนัดชำระหนี้

REUTERS/Wolfgang Rattay/File Photo

วาทะของปูตินที่ว่า บรรดาผู้ที่มุ่งคว่ำบตรรัสเซีย จะทำร้ายตัวเองมากที่สุด ตอกย้ำถึงสถานการณ์ที่ธนาคารกลางยุโรป วิตกว่า ศึก รัสเซีย-ยูเครน ครั้งนี้ จะสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงินในยูโรโซน ถึงขั้นมีบางประเทศเสี่ยงผิดชำระหนี้

วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ซินหัว รายงานถ้อยแถลงของ นายลูอิส เด กินโดส รองประธาน ธนาคารกลางยุโรป  หรือ ECB ว่า ขณะนี้ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มขึ้นระหว่างความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อทุกด้านของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ECB เตือนว่าความเปราะบาง (ทางเศรษฐกิจ) อาจเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยความไม่แน่นอนจากความขัดแย้ง และความคาดหวังของการดำเนินนโยบายให้กลับสู่ภาวะปกติของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานยังคงเพิ่มสูงและผันผวน ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดตราสารอนุพันธ์ของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ส่วนสินทรัพย์บางประเภทยังคงเสี่ยงเกิดการปรับฐานเพิ่มเติม หากแนวโน้มการเติบโตอ่อนแอลงอีก และ/หรืออัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

FILE PHOTO: The European Central Bank (ECB) logo in Frankfurt, Germany, January 23, 2020. REUTERS/Ralph Orlowski/File Photo

ด้านกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่การเงินในเขตยูโรโซนเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เนื่องด้วยแรงกดดันจากราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ECB แนะนำว่ากรอบการทำงานด้านเงินกองทุนส่วนเพิ่มที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจะช่วยส่งเสริมภาวะยืดหยุ่นของระบบการเงิน พร้อมเรียกร้องให้กระชับกฎระเบียบเพื่อจัดการความเสี่ยงในภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

ช่วงเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวในที่การประชุมเศรษฐกิจยูเรเซีย ครั้งที่ 1 ว่าการกีดกันรัสเซียไม่สามารถเป็นไปได้เลย บรรดาผู้ที่ปรารถนาทำเช่นนั้นจะทำร้ายตัวเองมากที่สุด


ทั้งนี้ การบังคับใช้สารพัดมาตรการคว่ำบาตรและข้อจำกัด ซึ่งมุ่งตีกรอบและทำให้ประเทศที่ต้องการดำเนินนโยบายอันเป็นอิสระอ่อนแอลง มีแต่จะไร้ประโยชน์ในท้ายที่สุด

ปูตินตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียอยู่ในจุดที่ทำงานอย่างถูกต้องและสมเหตุสมผลแล้ว ตรงข้ามกับหลายประเทศที่พยายามดำเนินนโยบายที่ไม่มองการณ์ไกล

ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าเหล่านั้นกำลังประสบภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี และการว่างงานที่เพิ่มสูง ขณะห่วงโซ่โลจิสติกส์กำลังพังทลาย และวิกฤตการณ์ทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงในหลายด้าน เช่น อาหาร ซึ่งถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่กระทบต่อระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งหมด

หลายประเทศต้องการและจะดำเนินนโยบายอันเป็นอิสระ และไม่มีตำรวจโลกคนใดสามารถหยุดยั้งกระบวนการระดับโลกนี้ได้ ไม่มีฝ่ายใดมีกำลังเพียงพอคัดค้านประเด็นนี้ และความปรารถนาเช่นนั้นจะเลือนหายไปเนื่องจากปัญหาภายในของประเทศเหล่านั้นเอง” ปูตินกล่าว