ตลาดลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ยูโรโซน ทำเงินบาทขยับแข็งค่า

ตลาดลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ยูโรโซน ทำเงินบาทขยับแข็งค่า

ธนาคารกรุงไทย มองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.60 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ยูโรโซน-เศรษฐกิจรายเดือนของจีน” ชี้ ตลาดคาดเฟดยังเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ด้านฟันด์ไหลเข้าตลาดหุ้น-บอนด์

วันที่ 11 กันยายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 12-16 กันยายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 36.00-36.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและเป็นตัวเลขที่สำคัญมากต่อนโยบายการเงิน (กนง.) ของสหรัฐฯ คือ ตัวเงินเฟ้อสหรัฐฯ และรายงานการคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อระยะกลาง 5 ปี

โดยตลาดมีความกังวลและคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% มีสัดส่วนถึง 88% และทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) จะอยู่ที่ 4% รวมถึงทิศทางรายงาน Dot Plot ของเฟดในเดือนกันยายนจะออกมาในลักษณะใด รวมถึงตัวเลขตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของยูโรโซน ซึ่งเป็นตลาดรอดูเช่นกัน

นอกจากนี้ ตลาดยังคงติดตามตัวเลขรายงานเศรษฐกิจรายเดือนของจีน ซึ่งจะเป็นเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมโดยในช่วงปลายเดือนจะเป็นช่วงที่จีนมีการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยหากตัวเลขออกมาค่อนข้างดี จะมีผลเชิงบวกต่อตลาดเอเชีย

“คีย์สำคัญและตลาดให้น้ำหนักมาก คือ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ หากตัวเลขออกมาใกล้เคียงเดือนก่อนหน้าหรือลดลงเล็กน้อย คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพเฟดจากเดิมที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หรือกรณีที่เฟดจะเปลี่ยนภาพไป เช่น ภาพอียูมีความเสี่ยงจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นขายสุทธิราว 5,200 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท

โดยแนวโน้มในสัปดาห์หน้า มองว่า ตลาดหุ้นนักลงทุนน่าจะกลับมาซื้อได้บ้างราว 1,000-2,000 ล้านบาท แต่ระหว่างสัปดาห์อาจเห็นแรงเทขายได้ ขณะที่ตลาดบอนด์อาจจะรอดูสถานการณ์ตลาดและตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะออกมา รวมถึงพิจารณาอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) โดยรวมยังเป็นการซื้อสุทธิราว 3,000 ล้านบาท

“สัปดาห์ที่ผ่านมามีนักลงทุนกลับเข้ามาซื้อบอนด์ตัวยาวค่อนข้างค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งจากยีลด์ที่เด้งขึ้นมา รวมถึงมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และคาดว่าเงินบาทจะยังไม่กลับมาอ่อนค่า ทำให้มีธุรกรรม Arbitrage เกิดขึ้น เพราะมีส่วนต่างประมาณ 30-40 สตางค์ ส่วนภาพรวมอาทิตย์หน้าน่าจะเป็นเงินไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและบอนด์”