ค่าเงินบาททรงตัว หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐชะลอตัว

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ค่าเงินบาททรงตัว หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐชะลอตัว โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง ขณะที่ปัจจัยในประเทศกระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อ 8 เดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.14% ยังเชื่อครึ่งปีหลังจะลดลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 36.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/9) ที่ระดับ 36.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 526,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค.

ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% ในเดือน ก.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน มิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 293,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 398,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 526,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 528,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 308,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 7,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงาน ดีดตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยารสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ 107.46 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 7.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 65 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.05%

Advertisment

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 6.14% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ 103.59 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 3.15% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 65 จะเพิ่มขึ้น 0.09% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.16%

ผู้อำนวยการ สนค. ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดของปีนี้ไปแล้ว โดยทั้งปียังคาดการณ์ว่าอัตราเงินฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 6% หรือในกรอบที่ 5.5-6.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.53-36.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.53-54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 0.9921/23 ดอลลาร์สหัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/9) ที่ระดับ 0.9995/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ได้ประกาศระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ดสตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าภาวะขาดแคลนพลังงานในยุโรปและราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก๊าซพรอมได้ประกาศระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าพบการรั่วไหลของน้ำมันที่กังหันหลักของสถานีคอมเพรสเซอร์ปอร์โตวายาใกล้กับนครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก โดยระบุว่ากังหันดังกล่าวไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากไม่มีการซ่อมแซมรอยรั่วของน้ำมัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9877-0.9942 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9918/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

Advertisment

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/9) ที่ระดับ 140.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/9) ที่ระดับ 140.35/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม นโยบายทางการเงินซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายแบบเข้มข้น ยังคงส่งผลให้เงินเยนอยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.13-140.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 140.47/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ส.ค. (6/9), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากธนาคารกลางสหรัฐ (7/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (8/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.40/-6.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.10/-3.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ