เศรษฐกิจ “เยอรมนี” สะดุด ข่าวร้ายของ “ยูโรโซน”

(Photo by John MACDOUGALL / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำนักงานสถิติแห่งรัฐของเยอรมนีแถลงออกมาเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าทำไมหลายฝ่ายในประเทศถึงกำลังพูดกันถึงสภาวะเศรษฐกิจ “ถดถอย” กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลานี้

เพราะสถิติที่ผ่านมาไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนี เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยูโรโซน 19 ประเทศ ชะงักงันโดยสิ้นเชิงในช่วงไตรมาสที่สี่ ไตรมาสสุดท้าย ที่ตัวเลขการเติบโตเป็นศูนย์

นั่นทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเยอรมนีขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อนหน้านั้น

เมื่อมองภาพรวมของทั้งเขตยูโรโซนทั้งหมดในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ทำให้ใจชื้นมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเพียง 0.1% เท่านั้นเอง

สืบเนื่องจากตัวเลขทั้งของเยอรมนีและของยูโรโซนดังกล่าวนั้น ถือเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 ในช่วงที่ยูโรโซนเผชิญกับวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ที่แทบทำให้เงินสกุลยูโรที่ใช้ร่วมกันถึงวาระจบสิ้นเลยทีเดียว

ภาวะชะงักงันในเยอรมนีในเวลานี้กลายเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญที่สุดสำหรับยูโรโซนและธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ที่กำลังพยายามใช้มาตรการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อด้วยอัตราดอกเบี้ยติดลบและการพิมพ์ธนบัตรใหม่ออกมาระดมซื้อพันธบัตรกันอีกครั้ง

น่าสนใจทีเดียวที่เพียงมองย้อนกลับไปไม่กี่ปี เยอรมนีคือแชมป์อุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกของยูโรโซน ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ อุตสาหกรรมที่เคยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเผชิญปัญหารุมเร้าจนชะงักงัน ความคาดหวังเพียงอย่างเดียวในเวลานี้ก็คือ การบริโภคและภาคธุรกิจบริการ จะช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจของเยอรมนีให้หลุดพ้นออกมาจากภาวะถดถอย

ปัจจัยลบภายนอกประเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปีที่แล้ว ตั้งแต่การชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และสร้างผลกระทบในทางลบต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ชิ้นส่วนเรื่อยไปจนถึงวัตถุดิบและเทคโนโลยีอย่างรุนแรง

ในเวลาเดียวกัน โครงสร้างของอุตสาหกรรมสำคัญอย่าง อุตสาหกรรมรถยนต์ ก็เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและเฉียบพลัน ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องทุ่มทุนมหาศาลลงไปเพื่อพัฒนารถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากกฎเกณฑ์ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพื่อให้ทันท่วงทีในการแข่งขันกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันในระดับโลก

ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งเยอรมนีและยูโรโซนยังจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสะดุดหยุดชะงักทางการค้ากับคู่ค้าสำคัญอย่างอังกฤษ ซึ่งออกจากการเป็นสมาชิกอียูไปอย่างเป็นทางการเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีมเจรจาเพื่อทำความตกลงทางการค้าของทั้งอียูและอังกฤษจำเป็นต้องหาทางทำความตกลงออกมาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องจัดการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าซึ่งกันและกัน รวมทั้งเลี่ยงการเกิดอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ระหว่างกันขึ้น ทั้ง ๆ ที่ระยะเวลาที่มีอยู่จำกัดสั้น แต่ในเวลาเดียวกันประเด็นที่ต้องทำความตกลงกันนั้นซับซ้อนเหลือหลาย

นอกเหนือจากปัจจัยสำคัญเหล่านั้นแล้ว ยังมีปัจจัยลบที่คาดไม่ถึง แต่รุนแรงและเฉียบพลันในรูปของการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 จากจีนทับซ้อนเข้ามาอีกต่างหาก

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่ซัพพลายของทั้งโลกอย่างแน่นอน ซึ่งในเวลาเดียวกันก็จะส่งผลต่อการผลิตและการขยายตัวของทั้งเยอรมนีและยูโรโซนเช่นกัน อย่างน้อยก็ในระยะสั้น คือในไตรมาสแรกของปีนี้

ในเวลาเดียวกันนอกเหนือจากเยอรมนีแล้ว เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยูโรโซนอีก 2 ประเทศ อย่าง ฝรั่งเศส และ อิตาลี ก็ไม่ได้ตกอยู่ในสภาพดีกว่ากันแต่อย่างใด

ฝรั่งเศส เศรษฐกิจหมายเลข 2 ของยูโรโซนขยายตัวเป็นลบในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา แม้จะเพียงเล็กน้อยที่ 0.1% ก็ตาม ที่หนักหนาสาหัสกว่าก็คืออิตาลี ซึ่งเศรษฐกิจหดตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วมากถึง 0.3%

เรื่องที่แถมพกเข้ามาสำหรับเยอรมนีก็คือ ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในรอบ 6 ปีครั้งนี้ เกิดขึ้นในยามที่สถานการณ์ทางการเมืองก็กำลังวิกฤต

แองเกลา แมร์เคิล ประกาศตัววางมือทางการเมืองไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลยังหาคนมาเป็นผู้นำแทนยังไม่ได้

อย่าว่าแต่จะวางแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจเลย