ปัญหาเศรษฐกิจจีน หนักหนาเกินกว่า “ซีโร่โควิด”

ปัญหาเศรษฐกิจจีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นโยบายซีโร่โควิดสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจจีนใหญ่หลวง เพราะเท่ากับเป็นการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งปวงลงอย่างฉับพลัน ถึงแม้ว่าในเวลาเดียวกันจะเอื้อประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการลดอัตราการเสียชีวิตลงก็ตามที แต่ต้นทุนของ “ซีโร่โควิด” สูงมากเกินไปจริง ๆ

การกลับลำเปลี่ยนนโยบายรับมือโควิดแบบยูเทิร์น และหันมาใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้นของทางการจีนจึงยังความโล่งอกให้กับหลายฝ่าย แต่การกลับลำครั้งนี้ไม่เพียงแก้ปัญหาใหม่ได้ไม่หมดจดเท่านั้น ยังทำให้อุปสรรคการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เดิมยังคาราคาซังอีกด้วย

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ การปล่อยให้ทุกอย่างทอดยาวมาจนถึงขณะนี้จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เต็มใจที่จะยอมรับว่านโยบายนั้นผิดพลาด และกว่าจะยอมปรับเปลี่ยนก็ต้องรอจนกระทั่งไม่มีหนทางเลือกอย่างอื่นอีกแล้วเท่านั้น

ซีโร่โควิดกลายเป็นแนวนโยบายที่ทิ้ง “แผลเป็น” ขนาดใหญ่ไว้กับเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะการฉุดการขยายตัวให้ลดวูบลง ในขณะที่รัฐบาลพยายามสร้างสมดุลใหม่ให้เกิดขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งมวลถูกยุติลงอย่างกะทันหัน แต่กระทบต่อการบริโภคของครัวเรือนและกิจกรรมบริการหนักหน่วงที่สุด ภาคอุตสาหกรรมพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดได้ดีไม่น้อยจนกระทั่งเจอกับปัญหาระลอกหลังสุด แต่ในเวลาเดียวกันการเติบโตของการจ้างงานหดหายไป อัตราว่างงานพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผลพวงจากการผสมผสานระหว่างปัญหาเดิมกับปัญหาใหม่ ส่งผลให้จีนเผชิญกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่แต่เดิมเกิดปัญหาขยายตัวร้อนแรง บวกกับการซื้อขายแบบเก็งกำไรระบาดหนัก จนรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายเข้มงวดเพื่อให้ชะลอตัวลง เมื่อกลับมาผ่อนคลายอีกครั้ง กลับส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงอย่างหนักและทำให้ความไม่แน่นอนทวีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

การส่งออกที่เคยเป็นตัวเอกกลับไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป เมื่อทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย แม้แต่การพบหารือกันระหว่าง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีอเมริกันกับ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ที่เป็นไปด้วยดี แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงการห้ามส่งออกทางด้านเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่ต้องการของจีนแต่อย่างใด

นักลงทุนยังเป็นกังวลสูงยิ่งว่าจะเกิดความเสี่ยงทางการเงินขึ้น เช่นกันกับความกังวลว่าจะเกิดปรากฏการณ์เงินทุนไหลออกจากจีน ในทันทีที่ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของทั้งสองประเทศเพิ่มสูงขึ้น มาตรการลดภาระทางภาษี และกระตุ้นการจับจ่ายโดยเฉพาะในส่วนที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานสะอาด ก็อาจช่วยพยุงดีมานด์ในประเทศให้ทรงตัวอยู่ได้

แต่มาตรการเหล่านี้รวมถึงการพยายามก้าวไปสู่เทคโนโลยีระดับไฮเทค และสร้างสรรค์นวัตกรรมของตัวเองขึ้น เพื่อให้พึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีได้ ก็จำเป็นต้องมีระบบการเงินที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สามารถระบายทรัพยากรไปสู่ส่วนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น จีนยังต้องมีผู้ประกอบการเอกชนที่สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ต้องมัวหวั่นกลัวการเข้มงวดหรือขัดแย้งกับแนวทางของทางการจนรัฐบาลต้องเข้าแทรกแซง ทั้งยังต้องการฐานบุคลากรและแรงงานที่มีขีดความสามารถ มีศักยภาพในการรองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านั้นได้อีกด้วย

รัฐบาลจีนจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจน แน่นอน และยืดหยุ่นได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอย ให้นักธุรกิจหันมาลงทุน การเปลี่ยนมาใช้นโยบายกำกับและควบคุมแทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด มีแต่จะทำให้เกิดความผันผวนและความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น พอ ๆ กับความกังวลจากการที่ทางการจีนยิ่งนับวันยิ่งใช้การควบคุมแบบรวมศูนย์มากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ตลอดเวลา

ทางการจีนย่อมมุ่งหวังจะยกระดับมาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตของประชากรให้สูงขึ้น ผ่านการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจขึ้นใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันประชากรจีนเริ่มสูงวัยมากขึ้น แรงงานมีทักษะในภาคการผลิตลดน้อยลง หลงเหลือแต่แรงงานทักษะต่ำในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายเหล่านี้ สี จิ้นผิง และรัฐบาลจีน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงนโยบายและวิธีการในทางปฏิบัติเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางทางเศรษฐกิจที่ต้องการ

จีนอาจจำเป็นต้องเลือกแนวทางยืดหยุ่นทางการเมือง ลดการยึดกุมอุดมการณ์แบบตายตัวลง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจและบรรดาสถาบันต่าง ๆ ในสังคมเพื่อก้าวสู่ทิศทางใหม่ที่วางไว้ และยังจำเป็นต้องตัดสินใจดำเนินการโดยเร็วอีกด้วย

ก่อนที่ปัญหาสารพัดจะปะทุขึ้นมาพร้อม ๆ กันในอีกไม่ช้าไม่นาน