จีนเดินเกม “เมดอินไชน่า” สู่ “ดีไซน์อินไชน่า”

เศรษฐกิจจีน

การลดลงของจำนวนประชากรจีนครั้งแรกในรอบ 60 ปี ก่อให้เกิดความกังวลในวงกว้างเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากประชากรที่กำลังหดหายไป หนึ่งในนั้นคือการหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนจุดขายของจีนจากปริมาณไปสู่ประสิทธิภาพของแรงงาน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า จำนวนประชากรจีนที่ลดลงจาก 1,412.6 ล้านคนในปี 2021 มาอยู่ที่ 1,411.8 ล้านคนในปี 2022 สาเหตุหลักมาจากอัตราการเกิดที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2022 ทำให้ทารกเกิดใหม่ของจีนในปีที่แล้ว อยู่ที่ 9.56 ล้านคน และนับเป็นครั้งแรกของจีนยุคใหม่ที่มีทารกเกิดใหม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

“เฉิน เวย” ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชากรแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ระบุว่า แม้จะมีความกังวลทางด้านเศรษฐกิจจากประชากรจีนที่ลดลง โดยเฉพาะประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 16-59 ปี ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ 875.56 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2022 จาก 882.22 ล้านคนในปีก่อนหน้า

แต่จำนวนดังกล่าวก็ยังสูงกว่าประชากรวัยทำงานของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดรวมกัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรวัยทำงานอยู่ราว 214.8 ล้านคนในปี 2021

ดังนั้นประชากรที่ลดลงจึงไม่ได้มีแต่เฉพาะผลเสียเสมอไป จากบทเรียนของหลายประเทศในยุโรปที่เผชิญกับการลดลงของจำนวนประชากรมานานหลายสิบปี แต่ระบบเศรษฐกิจก็ยังคงมีความมั่นคงและสามารถดำเนินต่อไปได้ ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเชิงประชากรที่เปลี่ยนไป

“หยวน ซิน” รองประธานสมาคมประชากรจีน ระบุว่า “ความต้องการแรงงานที่เน้นปริมาณจะถูกแทนที่ด้วยคุณภาพของแรงงาน ในอนาคตเราจะต้องเปลี่ยนจาก ‘เมดอินไชน่า’ เป็น ‘ดีไซน์อินไชน่า’ โดยมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงรูปแบบสังคมดิจิทัล เพื่อพัฒนาผลิตภาพของแรงงานจีน”

Advertisment

นอกจากนี้ หยวนยังชี้ว่าในการรับมือกับวิกฤตด้านประชากร จีนยังจำเป็นต้องดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศมากกว่าการดึงดูดแรงงานต่างชาติราคาถูก เพื่อสร้างโอกาสในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รายงานของไชน่าเดลีระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะมนตรีรัฐกิจจีนได้ออกมาตรการส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติในการจัดตั้งศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) ภายในจีน โดยจะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมแบบเปิด การไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนอย่างถูกกฎหมาย และมีส่วนร่วมกับโครงการระดับชาติของจีน

Advertisment

มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุน รวมถึงผู้มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศ แต่ยังไม่มีรายละเอียดงบประมาณที่จะใช้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 ที่ผ่านมารัฐบาลจีนใช้งบประมาณไปกับการวิจัยและพัฒนาสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 3.09 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10.4% จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็น 2.55% ของจีดีพี ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ทำให้จีนอยู่ในอันดับ 12 ของประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุดในโลก

และตามแผนห้าปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) รัฐบาลจีนยังตั้งเป้าเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 7% ต่อปี ด้วยเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประชากร ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจจีนแทนที่จำนวนประชากรที่หดหายไป