เซเว่น-อีเลฟเว่น : บิดาแห่ง 7-Eleven ผู้สร้างแบรนด์ร้านสะดวกซื้อดังไกลทั่วโลก เสียชีวิตแล้ว

Getty Images เซเว่นอีเลฟเว่น มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ

อภิมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น มาซาโตชิ อิโตะ ที่ผลักดันให้ร้าน เซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) กลายเป็นอาณาจักรร้านสะดวกซื้อระดับโลก ได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 98 ปี

บริษัท เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิง ออกแถลงการณ์ว่า เขาเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มี.ค.) จากความชราภาพ

“เราขอแสดงความขอบคุณอย่างมากต่อความใจดีมีเมตตาตลอดช่วงชีวิตของเขา” ทางบริษัท กล่าว

ปัจจุบัน มีร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น มากกว่า 83,000 ร้านทั่วโลก โดยราว 25% อยู่ในญี่ปุ่น

เมื่อปี 1956 นายอิโตะ ได้ซื้อกิจการร้านขายเสื้อผ้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว จากคุณอาของเขา

นายอิโตะ เปลี่ยนชื่อร้านเป็น อิโตะ-โยคาโดะ และเปลี่ยนให้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายทุกอย่างตั้งแต่วัตถุดิบอาหาร ไปถึงเสื้อผ้า โดยทางร้านเข้าตลาดหุ้นในปี 1972

ในช่วงเวลานั้น ผู้บริหารคนหนึ่งของ อิโตะ-โยคาโดะ คือ โทชิฟูมิ ซูซูกิ ได้ไปสังเกตเห็นร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ระหว่างเดินทางไปสหรัฐฯ

บริษัท อิโตะ-โยคาโดะ จึงทำข้อตกลงกับเจ้าของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น คือ บริษัท เซาธ์แลนด์ คอร์ปอเรชัน และเปิดร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แห่งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1974

ต่อมา บริษัทของอิโตะได้เข้าครอบครองหุ้นรายใหญ่ของเซาธ์แลนด์ คอร์ปอเรชัน ในเดือน มี.ค. 1990

อิโตะ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “คนมักถามผมว่า ผมประสบความสำเร็จเพราะทำงานหนัก หรือผมแค่โชคดี ผมตอบไปว่าก็ทั้งสองอย่าง”

“ผมโชคดีที่เริ่มสร้างธุรกิจหลังสงคราม และในช่วงนั้น สังคมผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อแบบหลากหลาย เริ่มพัฒนาขึ้นในญี่ปุ่น”

มาซาโตชิ อิโตะ ผลักดันให้เซเว่นอีเลฟเว่น กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก

DRUCKER SCHOOL OF MANAGEMENT
มาซาโตชิ อิโตะ ผลักดันให้เซเว่นอีเลฟเว่น กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก

ในปี 1991 นายอิโตะ ลาออกจากตำแหน่งของเขาในอิโตะ-โยดาโกะ จากข้อกล่าวหารับเงินจากแก๊งยากูซ่า 3 ราย การลาออกของเขาทำไปเพื่อรักษาระเบียบในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ต่อมา อิโตะ-โยดาโกะ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิง ในปี 2005 โดยตัว “ไอ” เป็นการให้เกียรติแก่ อิโตะ-โยดาโกะ และนายอิโตะ ซึ่งเป็นประธานเกียรติคุณของทางบริษัท

การทำธุรกิจของนายอิโตะ ได้รับอิทธิพลจากความเป็นเพื่อนสนิทกับปีเตอร์ ดรักเกอร์ ซึ่งเป็นกูรูสายบริหารชาวออสเตรีย-อเมริกัน

“ในช่วงปีแรก ๆ ที่ผมเป็นเพื่อนกับ ดร. ดรักเกอร์ สองโลกได้เชื่อมเข้าหากัน ระหว่างอเมริกาและญี่ปุ่น เราจะใช้เวลายามเย็นหารือกันถึงเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจญี่ปุ่น และทิศทางที่คุณอิโตะควรวางแผนรับมือ” วิทยาลัยด้านการบริหารดรักเกอร์ ระบุ โดยนายอิโตะเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับวิทยาลัยแห่งนี้

ศาสตราจารย์ดรักเกอร์ เรียกนายอิโตะว่า “หนึ่งในผู้ประกอบการและนักสร้างธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในโลก”

การเข้ามาของเซเว่นอีเลฟเว่นในไทย

ข้อมูลจากแบรนด์อินไซด์ ระบุว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เห็นถึงความสำเร็จของร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จึงเชิญผู้ก่อตั้งจากสหรัฐฯ มาประเทศไทย เพื่อสำรวจศักยภาพตลาด จนตัดสินใจขายแฟรนไชส์ให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์

ข้อมูลจาก ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแลธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” ระบุว่า เซเว่นอีเลฟเว่นแห่งแรกของไทย หลังได้แฟรนไชส์จากสหรัฐฯ คือ สาขาซอยพัฒน์พงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2532

ไทม์ไลน์ของเซเว่น-อีเลฟเว่นในไทย มีดังนี้

  • ปี 2531 – รับสิทธิ์การใช้เครื่องหมายการค้าจาก 7-Eleven, Inc จากสหรัฐฯ และเริ่มก่อตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้ชื่อ “7-Eleven”
  • ปี 2533 – เปลี่ยนชื่อจาก “บริษัท ซี.พี. คอนวีเนียนสโตร์ จำกัด” เป็น “บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด” และได้ เปิดร้านสาขาแรกที่ซอยพัฒน์พงศ์
  • ปี 2545 – เปิดร้าน 7-Eleven ครบ 2,000 สาขา และ ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อ “7-Eleven” ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
  • ปี 2548 – เปิดร้าน 7-Eleven ครบ 3,000 สาขา และเปิดดำเนินการโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ อย่างเป็นทางการ
  • ปี 2550 – จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และเปลี่ยนชื่อบริษัท เดิมชื่อ “บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)” เป็น “บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)”
  • ปี 2553 – เปลี่ยนชื่อ “สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์” เป็น “สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553
  • ปี 2556 – เปิดร้าน 7-Eleven ครบ 7,000 สาขา
  • ปี 2560 – เปิดร้าน 7-Eleven ครบ 10,0000 สาขา
  • ปี 2564 – เปิดร้าน 7-Eleven ครบ 13,000 สาขา

โดยข้อมูลในปี 2565 พบว่า เซเว่นอีเลฟเว่น มียอดขายเฉลี่ยต่อสาขาวันละประมาณ 77,000 บาท และสร้างรายได้กว่า 300,000 ล้านบาทในแต่ละปี

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว