เลือกตั้ง 2566 : 310 เสียงของเพื่อไทยมาจากไหน มีโอกาสหรือไม่ที่ “ชนะ แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้”

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

พรรคเพื่อไทยประกาศปรับเป้าหมายในการเลือกตั้งภายใต้แคมเปญ “แลนด์สไลด์” เป็น 310 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เหมือนที่เคยทำได้สำเร็จในยุค “ชินวัตรผู้พ่อ”

คำประกาศปรับที่นั่งเป้าหมายในสภาผู้แทนราษฎรของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค เมื่อ 9 มี.ค. โดยถือเป็นครั้งแรกที่ 2 ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชี พท. นั่นคือ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กับ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เข้าร่วมประชุมพรรคแบบพร้อมหน้า-ปรากฏภาพต่อสาธารณะ ก่อนที่ทั้งคู่จะควงกันไปขึ้นเวทีปราศรัยที่ จ.พิจิตร และ พิษณุโลก ในช่วงสุดสัปดาห์ (11-12 มี.ค.)

แกนนำพรรค พท. ให้เหตุผลว่าต้องการ “กำจัดระบอบประยุทธ์ให้สิ้นซาก” เตรียมใช้ “ชัชชาติโมเดล” ชวนประชาชนร่วมลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์

ขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ว่า “ประชาธิปไตยกินได้” ที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 สร้างไว้ ยังขายได้ในปัจจุบัน แต่ก็เห็นความเสี่ยงของ พท. ที่อาจชนะเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

310 เสียง มาจากไหน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ 310 เสียงที่ พท. อ้างถึงมาจากไหน?

ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. เปิดเผยกับบีบีซีไทย ถึงที่มาของตัวเลขดังกล่าวว่า เป็นการวิเคราะห์จากกระแสนิยมในตัวบุคคล ทั้งว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ตามโผของสื่อ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งจะเปิดตัวครบ 400 เขต ในวันที่ 17 มี.ค., ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยปรับฐานจาก 350 เขต (จำนวนเขตเลือกตั้งปี 2562) เป็น 400 เขต (จำนวนเขตเลือกตั้งปี 2566), ฐานข้อมูลสมาชิกพรรค, ต้นทุนของพรรคในการจัดทำและผลักดันนโยบาย “ประชาธิปไตยกินได้” รวมถึงอารมณ์ของสังคมที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากออกจาก “ระบอบประยุทธ์”

ในเดือน ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกฯ ครบ 8 ปี ท่ามกลางกระแสกดดันให้ยุบสภา-ลาออก สื่อหลายสำนักวิเคราะห์ว่าหากมีการเลือกตั้งทั่วไป พท. มีโอกาสได้ที่นั่งในสภา 180-220 เสียง ซึ่งภูมิธรรมชี้ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่หนีห่างไปจากแนววิเคราะห์ของ พท.

“หากไม่ทำอะไรเลย เราจะได้ 220-230 เสียง เราจึงเสนอที่ 250 เสียงขึ้นไป ซึ่งคิดว่าคนเชื่อเรา เพราะคนเชื่อ 230 อยู่แล้ว เพิ่มอีก 21 เป็นไปได้… หากเราตั้งนายกฯ ไม่ได้ แต่เขาก็บริหารไม่ได้ เพราะสภาล่างเป็นตัวตัดสินทั้งเรื่องนโยบาย และงบประมาณ คุณไม่มีทางผ่านสภาล่างเราไปได้ นี่เป็นการบล็อกที่เรามาตามกระบวนการประชาธิปไตย ใช้ mandate (อาณัติ) ของประชาชน” ภูมิธรรม หนึ่งในกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พท. กล่าว

พท. หาเสียง

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

เทียบผลโพล อุ๊งอิ๊ง-ยิ่งลักษณ์

ขณะเดียวกันเมื่อนำตัวเลขอีกชุดมากาง พบว่า คะแนนนิยมในตัว อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 8-12% ในวันแรก ๆ ที่เปิดตัวเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม เมื่อ ต.ค. 2564 ค่อย ๆ ไต่ระดับจนล่าสุด ณ สัปดาห์ที่สองของ มี.ค. 2566 มาอยู่ที่ 48%

“สมัยนายกฯ ปู (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ยุบสภาแล้วหาเสียงไปพักหนึ่ง ถึงขึ้นไป 47-48% อันนี้ผมไม่ได้บอกว่าใครดีกว่าใครนะ แต่เรามีช่วงเวลาของการสร้างและกระโดดขึ้นไปได้ถึง 48% ตั้งแต่ยังไม่ยุบสภา หากรักษากระแสเอาไว้ได้ เราเชื่อว่า 251 ไม่เป็นปัญหาของเรา” รองหัวหน้าพรรค พท. ระบุ

ในฐานะที่เคยร่วมงาน-ร่วมพรรคกับผู้นำชินวัตร 3 รุ่น ตั้งแต่ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-แพทองธาร ภูมิธรรมอ้างว่า “วันนี้บรรยากาศของทุกภาคคล้าย ๆ กับเมื่อปี 2548”

ครั้งนั้น พรรคไทยรักไทย (ทรท.) ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียงได้สำเร็จ ทว่าสิ่งที่นักการเมืองวัย 69 ผู้เป็นอดีต “ขุนพลทักษิณ” ไม่ได้เอ่ยถึงคือ ในช่วง 4 ปีแรกของรัฐบาล “ทักษิณ 1” ได้เกิดปฏิบัติการ “ดูด-ดึง” ส.ส. ทั้งรายบุคคล รายกลุ่มการเมือง และยกกันมาทั้งพรรค โดยมีบุคคลระดับอดีตหัวหน้าพรรคถึง 6 คนที่ย้ายมาเป็นลูกน้องทักษิณ ทำให้ภายใน ทรท. มีไม่ต่ำกว่า 10 มุ้งย่อย เมื่อถึงวันเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2548 หลายจังหวัดจึงแทบไร้พรรคคู่แข่ง

ขณะที่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 4 ปีก่อน พท. หิ้วผู้แทนราษฎรเข้าสภาได้ 136 ชีวิต ในจำนวนนี้เป็นการกวาด ส.ส. ยกจังหวัด 16 จังหวัด รวม 60 เขต ประกอบด้วย

  • ภาคเหนือตอนบน 5 จังหวัด รวม 20 เขต ได้แก่ เชียงใหม่ (9 เขต), ลำปาง (4 เขต), ลำพูน (2 เขต), อุตรดิตถ์ (2 เขต) และน่าน (3 เขต)
  • ภาคอีสาน 10 จังหวัด รวม 39 เขต ได้แก่ อุดรธานี (8 เขต), บึงกาฬ (2 เขต), หนองคาย (3 เขต), สกลนคร (6 เขต), กาฬสินธุ์ (5 เขต), หนองบัวลำภู (3 เขต), อำนาจเจริญ (2 เขต), ยโสธร (3 เขต), มหาสารคาม (5 เขต) และมุกดาหาร (2 เขต)
  • ภาคกลาง 1 จังหวัดคือ นครนายก (1 เขต)
ชินวัตร

Getty Images พานทองแท้ และแพทองธาร ร่วมรณรงค์หาเสียงกับยิ่งลักษณ์ อาของพวกเขา ในช่วงเลือกตั้ง 2554

ทุ่มเท 100-150 เขต สู้สูสี

กับการเลือกตั้ง 2566 ภูมิธรรมคาดการณ์-ประเมินสถานการณ์เอาไว้ ดังนี้

  • ภาคเหนือ และภาคอีสาน “ชนะแน่” ราว 130 เขต
  • ภาคกลาง ซึ่งมี ส.ส. เดิม 7 คน เขาเปิดตัวเลขเป้าหมายไว้ที่ 40 เขต
  • ภาคใต้ ซึ่งไม่เคยปักธงได้แม้แต่ที่เดียวในรอบ 2 ทศวรรษ เขาบอกว่า “จากคิดว่าได้ 1 คนก็ชนะแล้ว ตอนนี้กระแสพรรคดีมาก คิดว่า 5 คน เรามีโอกาส”

“เราทำโพลมา มันจะมีเขตที่เราชนะขาดกับแพ้ขาด เพราะตัวเขา (คู่แข่ง) แข็งแรง เมื่อตัดหัวตัดท้ายออกไป มีอยู่ 100-150 เขตที่ชนะมากกว่า 2-5% กับแพ้มากกว่า 2-5% ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เราจะทุ่มเท” ภูมิธรรม ผู้มีอีกสถานะเป็นกรรมการศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้ง พท. แจกแจง

สำหรับพื้นที่ตรงกลาง 100-150 เขตที่เขาอ้างถึง เป็นเขตที่ พท. เคยชนะคู่แข่งขันมา 5% จึงถือเป็น “เขตที่ต้องเฝ้าระวัง” ไม่ประมาทเพื่อไม่ให้พลาดท่า-เสียที่นั่ง และเขตที่ พท. เคยแพ้มา 2% หากเพิ่มความวิริยะอุตสาหะ เชื่อว่ามีโอกาสพลิกมาชนะคู่แข่งได้

หวังกวาดคะแนนมหาชน 17.5 ล้านเสียง

จากฐานวิเคราะห์ที่ภูมิธรรมฉายภาพมา ทำให้ พท. มั่นใจ-กล้าขยับเป้าหมายแลนด์สไลด์ จาก 250 เสียง เป็น 310 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 260 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คน

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของพรรคสีแดงจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนพร้อมใจเลือกทั้งคนและพรรค ซึ่งบีบีซีไทยคำนวณแล้วพบว่า ต้องได้คะแนนมหาชน 17.5 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 52 ล้านคน จึงจะไปถึงยอดปาร์ตี้ลิสต์ตามธงที่ตั้งไว้ (3.5 แสนคะแนน/1 ส.ส.)

ถ้าย้อนดูสถิติการเลือกตั้งในอดีตที่ใกล้เคียงกัน (เฉพาะที่ใช้บัตร 2 ใบ)

  • เลือกตั้ง 2544 ทรท. ได้คะแนนมหาชน 11.6 ล้านเสียง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 48 คน
  • เลือกตั้ง 2548 ทรท. ได้คะแนนมหาชน 18.9 ล้านเสียง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 67 คน
  • เลือกตั้ง 2554 พท. ได้คะแนนมหาชน 15.7 ล้านเสียง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 61 คน

จึงไม่แปลกหากบรรดานักปราศรัยบนเวที พท. จะปล่อยคำสำคัญ อาทิ “แบ่งใจไม่ได้”  “ไม่มีพรรคพี่-พรรคน้อง” “ไม่กาเพื่อไทย 2 ใบ ได้ประยุทธ์” เลือกพรรคอื่น ได้ประยุทธ์” ทั้งหมดนี้เพื่อชี้ชวนให้ประชาชนเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์

“เราต้องทำความเชื่ออันนี้ให้ปรากฏ ต้องให้ประชาชนออกไปกากบาทเชิงยุทธศาสตร์ ถามว่าจะทำได้อย่างไร ทำได้ ดูอย่างตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สิ ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ) ได้คะแนน 1.3 ล้าน ส่วนผู้สมัครเบอร์รอง ๆ ลงไปได้คนละ 2 แสนกว่า คนเทให้ชัชชาติ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าพรรคอื่นบอกว่าจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว คนเชื่อไหม ผมว่าไม่ มีแต่เพื่อไทยพรรคเดียวที่พูดได้ ผมเชื่อว่าพรรคที่เหลือ ไม่มีใครได้เกิน 100 หรอก”

“บางพรรคอาจดูมีความหวัง อยากเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เคยมีประสบการณ์การบริหารประเทศ และหลายสิ่งหลายอย่าง ผมว่าวิธีคิดของเขากับเพื่อไทยต่างกันนะ เราอิงกับฐานความคิด ความต้องการ และความทุกข์ยากของประชาชน จะเห็นว่าประเด็นหลักของเพื่อไทยคือปัญหาปากท้อง ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนปัญหาประชาธิปไตย เราไม่ได้ทิ้ง แต่ให้น้ำหนักต่างกัน” ภูมิธรรมกล่าว โดยย้ำ 2 รอบว่าไม่ได้เอ่ยชื่อพรรคการเมืองใด

ข้อดี-ข้อเสียชูจุดขาย “ดีเอ็นเอทักษิณ”

ด้าน ผศ.ดร. มาลินี คุ้มสุภา หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) วิเคราะห์กับบีบีซีไทยว่า การเลือกตั้งหนนี้จะเป็นการแข่งขันกันนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนประสบอยู่ ไม่ได้เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์เข้มข้นอย่างในปี 2562 คุณค่าของ “ประชาธิปไตยกินได้” ที่ทักษิณสร้างไว้ จึงยังขายได้ในปัจจุบัน แม้เจ้าตัวเพิ่งบัญญัติศัพท์ใหม่ว่าด้วย “ประชาธิปไตยที่เหมาะสม” ก็ตาม

“คนที่ติดตามการเมืองย่อมรู้ว่าคุณทักษิณกำลังสื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไปในทิศทางไหนในแง่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ การพูดว่า ‘เหมาะสม’ เป็นภาษาการเมือง เขาไม่มาพูดอะไรที่เป็นขาว-ดำหรอก พร้อมจะไปแบบไหนก็ได้ ทำให้อยู่ได้ทุกฝ่าย ดังนั้นคนรู้อยู่แล้วว่าคุณทักษิณเล่นการเมือง เพื่อไทยก็ไม่ได้อยู่แค่ 1-2 วัน เขาอยู่มาได้เพราะต้องเป็นพรรคการเมืองจริง ๆ ไม่ได้สู้แบบ activist (นักกิจกรรมการเมือง)” อาจารย์มาลินีระบุ

ประชาชนนำภาพถ่ายของ ทักษิณ ชินวัตร มาขอถ่ายรูปคู่กับ อุ๊งอิ๊ง-โอ๊ค บุตรสาว-บุตรชายของอดีตนายกฯ ระหว่างลงพื้นที่หาเสียง จ.เชียงใหม่

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย : ประชาชนนำภาพถ่ายของ ทักษิณ ชินวัตร มาขอถ่ายรูปคู่กับ อุ๊งอิ๊ง-โอ๊ค บุตรสาว-บุตรชายของอดีตนายกฯ ระหว่างลงพื้นที่หาเสียง จ.เชียงใหม่

 

นักรัฐศาสตร์จาก มช. ยังชี้ให้เห็นถึงข้อดี-ข้อเสียในการชูจุดขาย “ดีเอ็นเอทักษิณ” ของพลพรรคเพื่อไทย

ข้อดีคือ หัวหน้าพรรค พท. หลายคนที่ผ่านมา ไม่ใช่คนหวือหวา พอแพทองธารเข้ามานำทัพ ทำให้เกิด 2 ส่วนผสมกันคือ ความไปข้างหน้าของ พท. ซึ่งเป็นพรรคที่มีความต่อเนื่องยาวนานในระดับหนึ่ง และความไปข้างหน้าในการดีลกับทักษิณ อย่างไรก็ตาม พท. จำเป็นต้องแสดงจุดยืนว่าสามารถพากันไปได้เองโดยสลัดความเชื่อมต่อกับทักษิณ และต้องพิสูจน์ว่าต่อให้เป็น “นอมินี” หรือ “ดีเอ็นเอ” แต่ไปต่อได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทักษิณ

“การที่อุ๊งอิ๊งมาอยู่ตรงนี้ มันหลุดไปจากคุณทักษิณไม่ได้อยู่แล้ว แต่นโยบายจะทำให้หลุดได้ เพื่อไทยสามารถไปต่อได้ด้วยโครงสร้างพรรค ฐานเสียง และนโยบาย” ผศ.ดร. มาลินีกล่าว

ส่วนคนที่เห็นหน้าแพทองธารแล้วนึกถึงแต่คำว่า “พาพ่อกลับบ้าน” อาจารย์มาลินีมองต่าง โดยบอกว่า นั่นเป็นการมองแค่ตัวอุ๊งอิ๊งเท่านั้น แต่ พท. ไม่ได้มีแค่บุตรสาวทักษิณ แต่มี ส.ส. ซึ่งทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องยาว และพรรคต้องชูคนเหล่านั้นมาประกบอุ๊งอิ๊งด้วย

ส่วนข้อเสียของการขายความเป็น “ดีเอ็นเอทักษิณ” ตามทัศนะของนักวิชาการรายนี้เห็น และหลายคนก็ได้ยินอยู่เนือง ๆ หนีไม่พ้น ข่าวลือยุบพรรค ซึ่งฝ่ายตรงข้ามสามารถหยิบยกประเด็น ลูกพ่อ หรือ อิทธิพลจากบุคคลภายนอก มาสร้างอุปสรรคได้ตลอด “ดังนั้นจะทำอย่างไม่ให้พรรคไม่ล่มสลายด้วยกฎหมาย”

“เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นภัย”

เมื่อให้ประเมินความเสี่ยงของ พท. ที่อาจซ้ำรอยปี 2562 คือ ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจารย์มาลินีแบ่งฉากทัศน์เป็น 2 ส่วนตามแต่คะแนนเสียงที่ พท. จะได้รับ

  • กรณีไม่แลนด์สไลด์: จะมีใครมาร่วมเป็นพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาล
  • กรณีแลนด์สไลด์: อาจเผชิญปัญหาทางกฎหมายจากขั้วตรงข้ามที่หยิบยกสิ่งที่เป็น “บาดแผล” มาทำให้เป็นประเด็นยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ขณะที่ภูมิธรรมไม่ตอบคำถามนี้ตรง ๆ โดยบอกเพียงว่า การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์คือทางแก้โจทย์ข้อนี้ และส่วนตัวเขาก็ไม่รู้สึกกังวลกับการยุบพรรค เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด

4 มี.ค. ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์ภาพทางเฟซบุ๊กขณะสนทนากับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ขอให้ลุงป้อม มองขึ้นไปบนฟ้าบ้าง อย่าดึงฟ้ามาเล่น แล้วอย่าเอามือไปปิดพระอาทิตย์ เหมือนบางคน บางพรรคการเมือง” ทำให้บรรดานักวิเคราะห์การเมืองตีความไปต่าง ๆ นานา หลังแกนนำ พท. และ พปชร. ถูกตั้งคำถามอยู่เนื่อง ๆ เรื่องความเป็นไปได้ในการเป็นพันธมิตรการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง ทว่าต่างฝ่ายต่างไม่เคยออกมาปฏิเสธแบบชัดถ้อยชัดคำ

กระทั่งเป้าหมายแลนด์สไลด์ของ พท. ถูกปรับใหม่เป็น 310 เสียง ชื่อพันธมิตรการเมืองต่างขั้วก็ถูกตีตก

“พรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ถ้าเราได้ 310 เสียง” นพ.ชลน่านกล่าวบนเวทีปราศรัยที่ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก เมื่อ 11-12 มี.ค.

เช่นเดียวกับภูมิธรรมที่ย้ำกับบีบีซีไทยว่า “เราเสนอ 310 จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว จะไปพูดทำไมว่าจับ ไม่จับใคร ถ้าได้เกินแล้วต้องไปจับกับพลังประชารัฐหรือ ผมก็โง่เป็นควาย แต่ถ้าผมไม่ได้สิ เสียงไม่พอ อันนั้นต้องมานั่งคิดว่าจับ ไม่จับใครที่จะไม่สร้างความผิดหวังในความคาดหวังของประชาชน อันนั้นเป็นสิ่งที่เราแคร์ที่สุด”

ดูเหมือนสมการตั้งรัฐบาลของ พท. จะไม่มีเรื่องความยินยอมของชนชั้นนำ (อีลีท) เข้ามาเกี่ยวข้อง สะท้อนผ่านความเห็นของภูมิธรรมที่เชื่อว่า “เสียงประชาชนเป็นใหญ่”

“อีลีทยอม-ไม่ยอม เป็นทัศนคติของแต่ละคนที่พูดกันไป เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นภัย หรือทำอะไรที่ไม่ดี เราเชื่อว่าเรามาตามกระบวนการประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน อย่างไรเราต้องได้รับความเห็นชอบและยอมรับอยู่แล้ว”

ภูมิธรรม

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย : ภูมิธรรมกล่าวว่า นับจากสร้างพรรค ทรท. พวกเขายังไม่เคยพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ส่วนการได้หรือไม่ได้เป็นรัฐบาล “เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของกฎกติกาที่มีปัญหา”

อนาคตเพื่อไทย หลังผ่านปรากฏการณ์ “แผ่นดินไหวการเมือง”

พท. ถือเป็นพรรคทายาทลำดับ 3 ของ ทักษิณ ชินวัตร กับพวก ซึ่งสานต่อสถิติชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 2 ทศวรรษ (2544, 2548, 2550, 2554, 2562) นับจากยุคพรรค ทรท. และพรรคพลังประชาชน (พปช.) ทว่าในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขา “ชนะเลือกตั้ง แต่ตกที่นั่งฝ่ายค้าน” เมื่อเกิดความเสียหายในเชิงยุทธศาสตร์จากการ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ย่อย” โดยผู้นำสูงสุดของพรรคจัดวางบทบาทของ พท. ให้เป็นพรรคเขต ส่งผู้สมัคร “ส.ส.เกรดเอ” ลงชิงเก้าอี้ 250 คน จากทั้งหมด 350 คน และให้พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นพรรคปาร์ตี้ลิสต์ โดยส่งผู้สมัคร ส.ส. เกรดรองลงไปลงสนาม 150 คน หวังเก็บคะแนนผู้แพ้ไปนับรวม-คำนวณหายอด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสด์ ทั้งหมดนี้เพื่อหนีกับดักรัฐธรรมนูญ 2560 ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม

แต่สุดท้าย ทษช. ก็ไปไม่ถึงวันเลือกตั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค จากกรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เมื่อ 8 ก.พ. 2562 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย ให้เกิดความชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม เข้าข่ายลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

บางคำถามจึงดังขึ้นในหมู่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองว่า เคลียร์ปรากฏการณ์ “แผ่นดินไหวการเมือง” ที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่อย่างไร

“คุณคิดการเมืองแบบเก่าถึงถามคำถามนี้ คิดแบบโครงสร้าง ไม่คิดถึงพลวัตของสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป” ภูมิธรรมตอบทันควัน ก่อนบรรยายสภาพปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วิกฤตโลก แล้วตบท้ายว่า “เราโดนยุบพรรค แล้ว (ชนะเลือกตั้ง) มาตลอด ถ้าโดนยุบพรรคแล้วมีผล ต้องไม่มาแล้ว”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุยุบพรรค ทษช. นั้นต่างไปจากการยุบ ทรท. และ พปช. เมื่อผู้คุมยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์ย่อย” เลือกเดินเกมการเมืองแบบชนชั้นนำแล้วผิดพลาด

คำอธิบายของภูมิธรรมคือ “มันเป็นเงื่อนไขพิเศษถ้าพูดถึง ทษช. เป็นเงื่อนไขที่เอามาวิเคราะห์ร่วมกับอย่างอื่นไม่ได้เลย คุณต้องวิเคราะห์บางเรื่อง และการยอมรับ ไม่ยอมรับเรื่องเหล่านั้น ไม่ใช่การยอมรับเรื่องของภาพทั่วไป” และ “ผมว่ากลไกประชาธิปไตยจะทำงานของมันไป ไม่เห็นน่ากลัวเลย”

อ.มาลินี

napasin samkaewcham/BBC Thai ผศ.ดร. มาลินีกล่าวว่า “ประชาธิปไตยกินได้” เป็นการหาเสียงสุดคลาสิกที่พรรคเพื่อไทยใช้ต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง

 

ขณะที่ ผศ.ดร. มาลินีคิดว่า โหวตเตอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ “แผ่นดินไหวการเมือง” เมื่อ 4 ปีก่อน และส่วนตัวของเธอก็ไม่ได้มองภาพทักษิณ กับ พท. เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขนาดนั้น แต่พยายามมองแยกส่วนว่า พท. ก็มีความเป็นพรรคการเมือง และมีผู้แทนฯ ที่เชื่อมโยงกับประชาชนในพื้นที่

“โหวตเตอร์ไม่ตั้งคำถามในประเด็นนี้ แต่คนที่เป็นศัตรูทางการเมือง จะเป็นคนสร้างปัญหา และถามว่าเคลียร์หรือยัง นี่คือสิ่งที่อาจารย์เรียกว่า ‘ผี’ ที่ยังตามหลอกหลอนอยู่ ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่โหวตเตอร์ แต่อยู่ที่ขั้วตรงข้ามที่พร้อมจะหยิบยกมาเป็นประเด็นการเมืองตลอดเวลา” นักรัฐศาสตร์จาก มช. กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว