เลือกตั้ง 2566 : ย้อนอดีตนายกฯ ตระกูลชินวัตร คุยอนาคตเพื่อไทยกับ แพทองธาร ชินวัตร

แพทองธาร ชินวัตร/ Thai News Pix

 

แพทองธาร ชินวัตร ถือเป็นสมาชิกคนที่ 4 ของตระกูล ที่เข้ามาทำงานการเมือง แล้วประกาศตัวพร้อมชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางความคาดหวังของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่จะเห็นชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” 310 เสียงขึ้นไป

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของ ทักษิณ ชินวัตร กับ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์

ในปีที่อายุครบ 35 ซึ่งทำให้เธอมีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ อุ๊งอิ๊งเปิดตัวเป็นที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อปี 2564

ผ่านไป 1 ปี 5 เดือน เธอพร้อมรับบทบาทใหม่ในฐานะว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชี พท. เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

แพทองธารเป็นเจ้าของพอร์ตหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลค่า 5.5 พันล้าน ตามการรายงานของประชาชาติธุรกิจเมื่อ 1 มี.ค. โดยถือครองหุ้นเป็นอันดับ 1 ใน บมจ.เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำนวนกว่า 1,216 ล้านหุ้น (คิดเป็นสัดส่วน 28.82%) นอกจากนี้ยังมีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือครองหุ้นของบริษัทต่าง ๆ อีก 20 บริษัท ตามการรายงานของสำนักข่าวอิศราและฐานเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ สื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึงสื่อมวลชน

เมื่อรวมมูลค่าหุ้นทุกบริษัท พบว่า สตรีรายนี้มีความมั่งคั่งระดับเฉียดหมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด หลังเธอตัดสินใจกระโจนเข้าสู่การเมือง

บีบีซีไทยร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค พท. และสนทนากับแพทองธาร และแกนนำพรรค ก่อนที่การยุบสภาจะเกิดขึ้น

หาเสียงเชียงใหม่
กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

ในบ้าน : บทสนทนาวันขอแม่ตามรอยเท้าพ่อ

บุตรสาวคนสุดท้อง-น้องคนเล็กของครอบครัวชินวัตร กลายเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” รับหน้าที่ดูแลบ้านหลังที่ 3 ของฝ่ายทักษิณ ซึ่งก่อร่างจากพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ก่อนกลายเป็น พรรคพลังประชาชน (พปช.) และมาถึงพรรคเพื่อไทย (พท.) ในปัจจุบัน

ภารกิจของเธอเมื่อปีก่อนคือการ “ห้ามเลือด” ไม่ให้ ส.ส. ไหลไปอยู่พรรคอื่น และเรียกคืนความเชื่อมั่นจาก “คนเสื้อแดง” บางส่วนที่ปันใจไปให้ค่ายอื่นในขั้วเดียวกัน

ต่อมาเมื่อผลสำรวจคะแนนนิยมในตัวแพทองธารพุ่งสูงขึ้น เริ่มมีเสียงยุส่งจากคนในพรรค พท. ให้ส่งเลือดแท้ชินวัตรชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ผู้นำตัวจริง” ไม่ใช่แค่ “ผู้นำตัวโชว์” แต่นั่นจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจสูงสุดใน “คณะกรรมการครอบครัว” เสียก่อน

“ถ้าเขาจะเป็นนายกฯ ต้องประชาชนเป็นคนเลือก แต่ว่าก่อนประชาชนจะเลือก-ไม่เลือก คุณแม่ไม่เลือก ต้องไปชนะใจแม่ให้ได้ก่อน แม่อยากให้เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยอยู่” ทักษิณกล่าวในรายการ “แคร์ทอล์ค” เมื่อ ก.ย. 2565 หลังบุตรสาวรับบทหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยได้ 6 เดือน

ขณะที่แพทองธารเล่าถึงบทสนทนาเพื่อเอาชนะใจคุณหญิงพจมานในวันที่ขอเดินตามรอยเท้าพ่อ ดังนี้

  • อุ๊งอิ๊ง: อิ๊งตั้งใจจะเข้ามาที่พรรค พท. อิ๊งอยากจะเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยให้กับพรรค ให้กับประเทศชาติ ถ้ามีโอกาส
  • คุณหญิงอ้อ: (ถามกลับทันที) เอาที่ตัวเองไหวนะ เอาที่ตัวเองไม่เหนื่อยเกินไป

“เขาก็เป็นห่วง ความเป็นแม่อะค่ะ เพราะทุกวันนี้เราก็เป็นแม่ ก็ประมาณนั้น ก็ยัง support (สนับสนุน) กันเสมอทั้งครอบครัว” แพทองธารกล่าวกับบีบีซีไทย และเสริมว่า ไม่ว่าจะทำอะไรตั้งแต่เด็ก เป็นคนค่อนข้างเป็นคนที่มีเหตุผล และคุยกับแม่โดยไม่มีขั้นตอนเยอะ จะเอาอะไรก็บอกไปตรง ๆ แสดงความจริงใจ ตั้งใจ คิดว่าคนเป็นแม่พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว

คุณหญิงพจมาน
คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาทักษิณ นำทีมครอบครัวชินวัตรร่วมให้กำลังใจอุ๊งอิ๊งในกิจกรรม “ครอบครัวเพื่อไทย” ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 10 ก.ย. 2565/ กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

ในพรรค : คนใกล้ชิดนายเผยมุม “เหมือนพ่อมาก”

เมื่อเดินเข้าที่ทำการพรรค ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ใครต่อใครเรียกเธอว่า “คุณอิ๊ง”

กับบรรดาแกนนำเพื่อไทยซึ่งเป็นลูกน้องเก่าของพ่อ แพทองธารเรียกพวกเขาว่า “อา” เหมือนที่เคยทำมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ยกเว้นบางคนที่เธอเรียกว่า “พี่” อาทิ “พี่อ้วน” (ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค) “พี่เต้น” (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย)

นักการเมืองใกล้ชิดทักษิณต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากใบหน้าที่เหมือนพิมพ์แบบทักษิณมา แพทองธารยัง “เหมือนพ่อมาก” ทั้งวิธีคิด-คำพูด-ท่าที โดยเป็นคนคิดไว ทำไว, มุ่งเป้าหมาย และมั่นใจในตัวเองสูง เมื่อต้องตัดสินใจค่อนข้างเด็ดขาด “ได้” “เอา” “ดี” จึงไม่แปลกหากพลพรรคเพื่อไทยจะขยี้-ขยาย-ขายความเป็น “ดีเอ็นเอทักษิณ” ต่อสาธารณชน

หากในการเลือกตั้งปี 2554 วาทกรรม “โคลนนิ่งทักษิณ” มีส่วนสำคัญที่นำ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ ขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองในฐานะนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศ โดยใช้เวลาหาเสียงเพียง 49 วัน น่าสนใจว่าการประกาศตัวเป็น “ดีเอ็นเอทักษิณ” จะทำให้บุตรสาวคนเล็กของนายกฯ คนที่ 23 มีโอกาสนั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 หรือไม่

“ถ้าโคลนนิ่งเนี่ย อิ๊งอาจจะชนะนะคะ เพราะว่าอิ๊งหน้าเหมือนกว่า” แพทองธารติดตลก พลางยกมือขึ้นมาปิดปากเพื่อกลั้นขำตัวเอง

เธอย้ำว่า ทุกคนมีความสามารถและมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่การทำอะไร อยากให้มองภาพอิ๊งกับ พท. เป็นภาพเดียวกัน และทำงานเป็นทีม

“ท่านมีข้อแนะนำแน่นอนของคนเป็นพ่อ แต่ความคิดอิ๊งไม่เคยถูกปัดตก ความคิดอิ๊งได้รับการยอมรับเสมอจากทั้งคุณพ่อคุณแม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรถ้ายังมีท่านให้คำปรึกษาในฐานะคนเป็นพ่อ อิ๊งอุ่นใจ” บุตรสาวคนสุดท้องของบ้านชินวัตรบอก

ครอบครัวชินวัตร
พานทองแท้ คุณหญิงพจมาน ทักษิณ และพินทองทา (จากซ้ายไปขวา) ร่วมแสดงความยินดีกับแพทองธาร (ตรงกลาง) ในฐานะบัณฑิตใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 10 ก.ค. 2551/ Reuters

ตั้งแต่เล็กจนโต อุ๊งอิ๊งปรึกษาพ่อทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน รวมถึงเรื่องการเมือง

“แน่นอนว่าการคุยเรื่องการเมือง มีอยู่แล้ว ท่านก็ให้กำลังใจตลอด และสิ่งที่ท่านเคยทำงาน มันก็ fair enough (เข้าใจได้ ยอมรับได้) ที่ท่านเคยเป็นนายกฯ เราไปในที่ที่ท่านเคยไป ทำในสิ่งที่ท่านเคยทำ มันก็จะมีคำแนะนำต่าง ๆ เสมอ” แพทองธารให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ในระหว่างลงพื้นที่หาเสียงภาคอีสาน

ครั้งหนึ่ง เธอถูกถามในรายการสด “จอมขวัญมีเรื่องไลฟ์” ว่าการจะจับมือกับใคร ประยุทธ์ หรือประวิตร คุณอิ๊งจะถามคุณทักษิณด้วย ทำให้เจ้าตัวถึงกับร้อง “เห้ย” เสียงดัง-หัวเราะ-มองบน ก่อนตอบว่า “เอ่อ เดี๋ยวโดนครอบงำพรรค ถ้าปรึกษาแบบพ่อลูกคงปรึกษา แต่ให้พรรคปรึกษาคงไม่ คงถามว่าพ่อคิดยังไงหรือ”

บนเวทีปราศรัย : เตรียมปราศรัยผ่านวิดีโอคอลช่วงท้องแก่

อายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นของแพทองธาร สวนทางกับอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ซึ่งใกล้ครบวาระ เป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน

หนึ่งในทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พท. ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า “จัดโปรแกรมแบบเกรงใจพ่อ” ทว่าอุ๊งอิ๊งยืนยันว่า “ยังไหว-ไม่เหนื่อย-ทำได้” ทำให้การเดินสายหาเสียงในต่างจังหวัดยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้อายุครรภ์เกินกว่า 7 เดือนแล้วก็ตาม

ในแต่ละเวที แพทองธารจะใช้เวลาสื่อสารกับประชาชนราว 7 นาที เริ่มต้นด้วยการทักทายประชาชน บางครั้งใช้ภาษาท้องถิ่น >> บอกเล่านโยบายที่ประสบความสำเร็จในยุค ทรท. และสรุปนโยบาย พท. ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ๆ >> ตอกย้ำแคมเปญ “แลนด์สไลด์” และชวนให้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยการเลือก พท. ทั้งคนและพรรค

อย่างไรก็ตามเมื่อ พท. ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคอย่างเป็นทางการต้นเดือน เม.ย. น่าจะเป็นช่วงที่แคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ของพรรคเดินทางไกลได้ลำบากแล้ว ทีมรณรงค์หาเสียง พท. จึงเตรียมแผนรองรับไว้พร้อม แม้แพทองธารไม่อาจปรากฏตัว แต่ก็จะปรากฏภาพ-เสียงปราศรัยแบบสด ๆ ผ่านระบบวิดีโอคอลที่ยิงตรงขึ้นไปบนเวทีปราศรัย

อุ๊งอิ๊ง
ประชาชนร่วมฟังแพทองธารปราศรัยที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 26 ก.พ. ในเวลานั้นเธอตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน 1 วัน/ กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

ในโลกการเมือง : “คนที่ชอบเรามันมากกว่าเยอะมาก”

แพทองธารออกตัวอยู่บ่อย ๆ ว่าเป็น “ลูกพ่อ” และมีพ่อเป็น “ฮีโร่” ตั้งแต่เล็กจนโต แน่นอนว่าการกระโจนเข้าสู่โลกการเมืองของเธอได้รับแรงบันดาลใจ-อิทธิพลทางความคิดจากบิดาที่ทำให้เห็นว่า “การเมืองคือความเป็นไปได้”

แม้แต่คำจำกัดความของประชาธิปไตย อันหมายถึง “การเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง และแก้ปัญหาให้ประชาชน” ก็ยังเป็นนิยามเดียวกัน

แต่กับกลการเมือง-เกมอำนาจ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยวัย 36 ปี ผู้มีอายุงานการเมือง 1 ปี 5 เดือน ยอมรับว่า “ไม่ถนัด” และ “มองไม่ขาด”

“ที่เข้ามาทำงานการเมือง ไม่ได้อยากเป็นนายกฯ แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น” เธอยืนยันในหลายโอกาส

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำทัพสู้ศึกเลือกตั้งของทายาททักษิณ ทำให้ภาพลักษณ์ของ พท. เคลื่อนเข้าสู่การเป็น “พรรคชินวัตร” เต็มรูปแบบ ซึ่งคนรักก็ยังมีมาก แต่คนชังก็ยังชังไม่หาย เลือดแท้ชินวัตรอยากบอกอะไรกับโหวตเตอร์ที่ไม่ชอบตระกูลของเธอ

“สำหรับคนที่ชอบนะคะ อยากจะบอกว่าสำคัญกับอิ๊งมาก ๆ ในเรื่องของกำลังใจ เพราะในวันที่คนที่ไม่ชอบออกมาแสดงตัวเยอะกว่า แน่นอนเราเสียกำลังใจ แต่อิ๊งก็ไม่เคยท้อถอย เพราะว่าคนที่ชอบเรามันมากกว่าเยอะมาก”

“ส่วนคนที่ไม่ชอบ อิ๊งพูดจริง ๆ ว่าไม่เป็นไร เราก็รอดูกันไป รอดูผลงานกันไป รอดูความตั้งใจของกันไป อาจจะไม่ชอบเพราะอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ว่าอิ๊งก็จะเป็นอิ๊งนี่ละค่ะที่ทำทุกอย่างเต็มความสามารถ ถ้าจุดไหนเปลี่ยนใจเขาได้ อิ๊งก็ดีใจ” แพทองธารตอบ

อดีตของนายกฯ ชินวัตร สู่ อนาคตของเพื่อไทย

เมื่อให้มองย้อนกลับไปยังประสบการณ์ของนายกฯ จากครอบครัวชินวัตรที่จบลงด้วยรัฐประหาร 2 ครั้ง ยุคพ่อทักษิณ และยุคอายิ่งลักษณ์ และยุบพรรคอีก 1 ครั้ง ในยุคอาเขย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อะไรคือบทเรียนที่แพทองธารเรียนรู้จากพวกเขา และจะไม่ทำผิดซ้ำอีก

คำตอบจากว่าที่แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยคือ คนที่ได้บทเรียนคือประเทศไทยและประชาชน ซึ่งได้บทเรียนจากรัฐประหารที่หยุดประเทศมาเป็นทศวรรษ

“ส่วนตัวอิ๊งคิดว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้น เราไม่ใช่คนทำ เราไม่ใช่คนทำรัฐประหาร แต่เราเป็นเหยื่อของรัฐประหาร เพราะฉะนั้นรัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้นอีก” แพทองธารกล่าวโดยเน้นเสียง

รถถัง
ทหารเคลื่อนรถถังมาประจำการอยู่ด้านนอกทำเนียบรัฐบาล หนึ่งวันหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ เมื่อ 19 ก.ย. 2549/ AFP/Getty Images

4 ปีก่อน พรรค พท. ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์พรรคฝ่ายทักษิณที่เกิดเหตุไปไม่ถึงทำเนียบรัฐบาล

ถึงวันนี้แพทองธารประกาศผ่านบีบีซีไทยว่า “ถ้าประชาชนไว้ใจพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับ 1 เราสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน”

“เราหาเสียงแบบแลนด์สไลด์ เพราะต้องการจะปิดสวิตช์ ส.ว. เราไม่ได้ต้องการมีอำนาจบาตรใหญ่อะไร เราต้องการให้ประชาชนมีอำนาจ เราต้องการจะใช้สิทธิเสียงของประชาชนมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศชาติ เขาเป็นตัวแทนในการเลือกเรามา เราเป็นตัวแทนการทำนโยบายเหล่านั้นให้เป็นจริง ประชาชนเขาออกจากบ้านไปกากบาทเลือกตั้ง เขาใช้สิทธิของเขาเพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง เขาทำได้โดยไปเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นอิ๊งอยากให้ประเทศของเราเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ นั่นก็คือการเอาประชาชนมาก่อน เอาสิทธิเอาเสียงของประชาชนมาเป็นใหญ่ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” เธอกล่าวทิ้งท้าย

graphic

BBC
บีบีซีไทยรวบรวม
line

BBC

เส้นทางการเมือง พ่อ-ลูก ตระกูลชินวัตร

  • 2537 – ทักษิณลาออกจากประธานเครือชินคอร์ปอเรชั่น ลงเล่นการเมืองภายใต้สังกัดพรรคพลังธรรม มีโอกาสนั่งเก้าอี้ รมว.ต่างประเทศ เป็นตำแหน่งแรก ขณะนั้นอุ๊งอิ๊งอายุเพียง 8 ขวบ
  • 2538 – ทักษิณในฐานะหัวหน้าพรรคพลังธรรมนำพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้ง หิ้วผู้แทนฯ เข้าสภาได้ 23 คน โดยมีลูกสาววัย 9 ขวบตามไปช่วยแจกใบปลิวหาเสียง และไหว้ขอคะแนนจากคุณปู่-ย่า-ตา-ยาย ที่สวนลุมพินี กทม. ด้วย
  • 2541 – ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และมีแผนว่าจะลงชิงเก้าอี้นายกฯ ทำให้เรื่องเล่าภายในบ้าน หาใช่นิทาน แต่เป็นนโยบายของพรรคซึ่งเด็กหญิงวัย 12 ขวบจำได้-ท่องได้
  • 2544 – ทักษิณขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 23 โดยคุณหญิงพจมานให้ลูก ๆ ใช้ชีวิตอย่างวัยรุ่นทั่วไป ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวในพื้นที่การเมือง
  • 2547 – ลูกสาวนายกฯ สอบติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางข้อครหาเรื่อง “ข้อสอบเอนทรานซ์รั่ว” เมื่อไม่นานมานี้ แพทองธารให้สัมภาษณ์ไทยรัฐทีวีโดยบอกว่าไม่รู้สึกกังวลใจในประเด็นนี้ เพราะ “มันถูกตรวจสอบมาหมดแล้ว ได้ไปเรียนจุฬาฯ จนจบ 4 ปี เขา proof (ผ่านการพิสูจน์) แล้วว่าไม่ผิด ไม่เคยเกิดขึ้น”
  • 2548 – กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่ทักษิณบนท้องถนน ขณะที่อุ๊งอิ๊งเล่าผ่านโมเมนตัมถึงบรรยากาศภายในห้องเรียนของนิสิตปี 2 ช่วงเวลานั้น ซึ่งโดนชี้ว่า “พ่อเธอน่ะ ไม่ควรทำอย่างนี้”
  • 2549 – ทักษิณถูกรัฐประหารโดย คปค. ขณะเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศสหรัฐฯ ส่วนลูก ๆ ได้รับแจ้งจากคุณหญิงพจมานให้ไปกบดานที่เซฟเฮาส์ อย่ากลับไปบ้านจันทร์ส่องหล้า เพราะมีทหารเฝ้าเต็มปากซอย

พันธมิตร
แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมขับไล่ทักษิณไปรอบกรุงเทพฯ เมื่อ 20 มี.ค. 2549 / AFP/ Getty Images
  • 2554 – โอ๊ค-อุ๊งอิ๊ง ช่วยยิ่งลักษณ์หาเสียงเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย โดยเลือกสวมใส่เสื้อ “ขอพ่อคืน” และ “ขอพ่อกลับบ้าน” หลังทักษิณหนีคดีความในประเทศไทยไปใช้ชีวิตในต่างแดนนาน 5 ปี
  • 2557 – ยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหารโดย คสช. ขณะอุ๊งอิ๊งอายุ 28 ปี ซึ่งเธอบอกว่า “แม้ไม่ได้ทำการเมือง แต่ก็ได้รับผลกระทบ”
  • 2561 – พานทองแท้ถูกสั่งฟ้องในคดีทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ทำให้พี่น้อง 3 อ. โอ๊ค-เอม-อิ๊ง โยนหินถามทางผ่านอินสตาแกรมเรื่องการสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะรู้สึกว่า “ถูกรังแก” เป็นเรื่อง “ธงทางการเมือง” และ “ความแค้นส่วนตัวของคนบางคน” พร้อม ๆ กับการปรากฏตัวที่ศาลของแกนนำเพื่อไทยแทบทุกคนเพื่อให้กำลังใจครอบครัวชินวัตร ทว่า 1 ปีต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ยกฟ้องบุตรชายคนโตของอดีตนายกฯ โดยลูกทุกคนของทักษิณก็ยังไม่มีใครเข้าไปทำงานการเมือง
  • 2562 – แพทองธารเข้าพิธีมงคลสมรสกับ ปิฎก สุขสวัสดิ์ ที่โรงแรมโรสวูด ฮ่องกง บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยเหล่าคนดังและนักการเมือง เพราะจัดขึ้นไม่กี่วันหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ และก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป
  • 28 ต.ค. 2564 – อุ๊งอิ๊งเปิดตัวทำงานการเมืองในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม โดยประกาศตอนหนึ่งบนเวทีประชุมใหญ่สามัญพรรค พท. ที่ จ.ขอนแก่น ว่า “พ่อไม่เคยลืมบุญคุณแผ่นดินไทย” และ “ปรารถนาอย่างมากที่จะได้กลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง”
  • 20 มี.ค. 2565 – พรรคเพื่อไทยเพิ่มบทใหม่-สถานะใหม่ให้อุ๊งอิ๊งเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ระหว่างเปิดเวทีที่ จ.อุดรธานี
  • 10 ก.ย. 2565 – สมาชิกในครอบครัวชินวัตรร่วมกิจกรรม “ครอบครัวเพื่อไทย” อย่างพร้อมเพรียงที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของทักษิณ แม้แต่คุณหญิงพจมานที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมใด ๆ ของพรรคในรอบ 16 ปี ก็ยังปรากฏตัวในงาน
  • 10 ต.ค. 2565 -โอ๊ค-อุ๊งอิ๊ง มีอีกตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาตั้งศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย
  • 2566 – อุ๊งอิ๊งประกาศความพร้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคเพื่อไทย หากได้รับการเสนอชื่อ

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว