นักบินอวกาศเขากินอะไร แล้วกินกันอย่างไรในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง

Getty Images

เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การนาซาเพิ่งเปิดตัวชุดนักบินอวกาศรุ่นใหม่ ซึ่งออกแบบมาสำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ “อาร์ทิมิส 3” (Artemis III) โดยจะมีการส่งมนุษย์ไปลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025

นอกจากเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับชุดนักบินอวกาศ ซึ่งเป็นการออกแบบใหม่ครั้งแรกในรอบ 40 ปี ทั้งยังมีดีไซน์สอดรับกับสรีระของผู้หญิงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว ผู้คนทั่วโลกยังให้ความสนใจกับชีวิตประจำวันด้านอื่น ๆ ของมนุษย์อวกาศ อย่างเช่นเรื่องอาหารการกินอีกด้วย

รายการ “ห่วงโซ่อาหาร” (The Food Chain) ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุของบีบีซี ได้พูดคุยกับ นิโคล สต็อตต์ อดีตนักบินอวกาศขององค์การนาซา เพื่อให้บรรดาผู้ฟังรายการได้ทราบกันว่า นักบินอวกาศเขากินอะไรกันบ้าง แล้วกินกันอย่างไรในภาวะไร้น้ำหนักที่ของทุกสิ่งลอยละล่องไปมา

“ฉันคิดถึงพิซซ่า”

Nicole Stott talking at an event

Getty Images
นิโคล สต็อตต์ อดีตนักบินอวกาศขององค์การนาซา

สต็อตต์ซึ่งเป็นนักบินอวกาศหญิงสารภาพว่า “ฉันเอาแต่คิดว่าอยากจะกินพิซซ่าอยู่ตลอดเวลา” เธอเคยปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศนานกว่า 100 วันถึงสองครั้ง บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ทำให้ต้องกินแต่อาหารชนิดที่เตรียมไว้เป็นพิเศษสำหรับนักบินอวกาศเท่านั้น

“มันมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดใจจริง ๆ เวลาที่ได้จินตนาการถึงพิซซ่าชิ้นกำลังน่ากิน มีขอบที่ทั้งกรุบกรอบและชวนเคี้ยวหนึบหนับ หน้าพิซซ่าเต็มไปด้วยชีสละลายเยิ้มและซอสอุ่น ๆ” สต็อตต์กล่าวพร้อมกับเลียริมฝีปากไปด้วย

Advertisment

แต่ความฝันของเธอที่จะได้กินพิซซ่าในห้วงอวกาศทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะรายการอาหารในเมนูของนาซาจะต้องเป็นสิ่งที่ผ่านการแปรรูปและจัดเตรียมมาให้เหมาะสมกับภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเท่านั้น ส่วนอาหารจำพวกขนมปังหรือขนมอบไม่สามารถจะรับประทานได้ เพราะจะทำให้เกิดเศษขนมปังชิ้นเล็ก ๆ ลอยกระจัดกระจายไปทั่ว ดังนั้นหากอยากกินอาหารจำพวกนี้ ก็จะต้องใช้แผ่นแป้งตอร์ตีญาแทน

“คุณสามารถกินไข่คนเป็นอาหารเช้าได้ หรือแม้กระทั่งเลือกกินไข่ออมเล็ตต์ชิ้นเล็ก ๆ ก็ยังได้” สต็อตต์กล่าวเสริม

Advertisment

ผู้ที่ขึ้นไปปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศนานาชาติในแต่ละครั้งนั้น มักมาจากหลากถิ่นในหลายประเทศ พวกเขาจึงมักจะสนุกสนานกับการแลกเปลี่ยนอาหารกันทาน ไม่ต่างไปจากเด็กนักเรียนเลย

“อาหารกลางวันมักจะเป็นซุปหลากชนิดผสมกัน คุณอาจจะเอาแผ่นแป้งตอร์ตีญาห่ออะไรก็ตามที่คุณอยากกินได้ ส่วนของโปรดสำหรับอาหารมื้อค่ำของฉันคือแกงกะหรี่ญี่ปุ่น มันอร่อยมาก ๆ”

คำข้าวที่ล่องลอยกลางอวกาศ

Astronaut Loren Shriver, pursues several floating chocolate candies on the flight deck of the Space Shuttle Atlantis in 1992

Getty Images

สถานีอวกาศนานาชาติไม่มีจานหรือถ้วยชาม เพราะของทุกสิ่งจะล่องลอยไปมาในภาวะไร้น้ำหนัก อาหารที่กินกันบนนั้นจึงต้องผ่านการแปรรูปมาอย่างหนักจากพื้นโลก โดยต้องดึงน้ำออกจนแห้งเพื่อให้เบาลง ต่อเมื่อต้องการรับประทานจึงเติมน้ำร้อนหรือน้ำเย็นจากเครื่องจ่ายน้ำลงไปเพื่อให้คืนสภาพ

อาหารของนักบินอวกาศจะถูกบรรจุมาในห่อ ซึ่งพวกเขาจะใช้มันเป็นจานชามแทนภาชนะปกติ และจะใช้ช้อนมีด้ามจับยาวที่ออกแบบมาเป็นพิเศษตักอาหารกิน

สต็อตต์อธิบายวิธีกินอาหารของนักบินอวกาศว่า “ฉันใช้ช้อนด้ามจับยาวตักข้าวออกมาจากห่อ แล้วค่อย ๆ ลากมันไปหาแกงกะหรี่ พยายามวางข้าวก้อนนี้ลงบนแกงกะหรี่คำเล็ก ๆ ที่ล่องลอยอยู่เช่นกัน แล้วในที่สุดคุณก็จะได้กินของอร่อย”

ถึงแม้การไล่กินอาหารที่ล่องลอยไปมาจะฟังดูแสนยากเย็น แต่สต็อตต์กลับบอกว่ามันสนุกมาก “บางทีเราแกล้งโยนอาหารใส่กัน หรือไล่งับอาหารที่ลอยหนีไป ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างความเพลิดเพลินอยู่ไม่น้อย”

ดื่มน้ำที่ผ่านการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

Food tray with different items for the astronauts

Getty Images
อาหารทุกชนิดต้องถูกดึงน้ำออกเพื่อลดน้ำหนักก่อนถูกส่งไปสถานีอวกาศ

การรักษาสุขภาพโดยคอยระวังไม่ให้ตนเองขาดน้ำอยู่ตลอดเวลานั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในห้วงอวกาศ แต่พวกเขาจะเอาน้ำดื่มน้ำใช้มากมายมาจากที่ไหน

สต็อตต์บอกว่าน้ำบนสถานีอวกาศนานาชาติบางส่วนถูกนำมาจากโลก แต่ที่เหลือนั้นได้จากการบำบัดน้ำที่ใช้แล้ว ตัวอย่างเช่นน้ำที่มาจากเซลล์เชื้อเพลิงของกระสวยอวกาศและน้ำปัสสาวะ ซึ่งจะมีการหมุนเวียนนำกลับมาอุปโภคบริโภคใหม่อีกครั้ง

อาจฟังดูน่าขยะแขยง แต่ทางองค์การนาซายืนยันว่า น้ำรีไซเคิลบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้นสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งกว่าน้ำดื่มที่คนส่วนใหญ่บนโลกดื่มกันเสียอีก

ความท้าทายเรื่องปัญหาสุขภาพ

NASA astronaut Scott Kelly gathers the supply of fresh fruit in space

Getty Images

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเรื่องที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการกินของนักบินอวกาศ นั่นก็คือเรื่องของโภชนาการและสารอาหาร ซึ่งจะต้องจัดให้ทุกมื้อมีความสมดุลและได้สารอาหารครบทุกหมู่ เพื่อช่วยต้านทานผลกระทบจากการเดินทางและการใช้ชีวิตในอวกาศ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรงต่อร่างกายมนุษย์

สกอต สมิธ หัวหน้านักโภชนาการขององค์การนาซาบอกว่า “ร่างกายของเราจะถูกเร่งให้แก่ชราลงอย่างรวดเร็ว น้ำหนักจะลด รวมทั้งต้องสูญเสียมวลกระดูกไปไม่น้อยด้วย”

“เราสันนิษฐานว่า การที่น้ำหนักของนักบินอวกาศลดลงอาจเป็นเพราะภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ซึ่งทำให้อาหารที่กินเข้าไปไม่สามารถลงไปอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้ดีนัก กระเพาะและลำไส้จึงส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อบอกว่าคุณอิ่มแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงคุณกินไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราจึงต้องใช้แอปพลิเคชันบนไอแพดให้นักบินอวกาศได้บันทึกข้อมูลการกินเอาไว้เสมอ”

สมิธยังกล่าวเสริมว่า “ความน่ากลัวอีกอย่างของการบินอวกาศ นั่นก็คือการสูญเสียมวลกระดูก ซึ่งร่างกายของมนุษย์อวกาศจะเกิดภาวะนี้ได้อย่างรุนแรง โดยอาจเสียมวลกระดูกในอัตราที่เร็วกว่าหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนถึง 10 เท่า”

ด้วยเหตุนี้การดูแลเรื่องโภชนาการของนักบินอวกาศจึงมีความสำคัญมาก ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้พวกเขามีสุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย สมิธบอกกับบีบีซีว่า “ทุกครั้งที่กระสวยอวกาศขึ้นไปเติมเสบียงที่สถานีอวกาศนานาชาติ เราจะส่งผักและผลไม้สดถุงเล็ก ๆ อย่างเช่นส้ม แอปเปิล พริกหวาน หรือลูกเบอร์รีชนิดต่าง ๆ ไปด้วย ของสดพวกนี้อยู่ได้ไม่นาน แต่ส่งผลบวกในทางจิตวิทยาอย่างมาก”

ช็อกโกแลต แตงเมลอน และไวน์

Russian cosmonaut Alexey Ovchinin, holding a watermelon

Getty Images
อเล็กซี ออฟชินิน นักบินอวกาศรัสเซียได้รับแตงโมเป็นของขวัญกลับสู่โลกเมื่อปี 2016

โดยรวมแล้วสมิธยืนยันว่า อาหารของนักบินอวกาศไม่ได้แย่หรือเลวร้ายมากอย่างที่ใครหลายคนคิดเอาไว้ อดีตนักบินอวกาศหญิงอย่างสต็อตต์ยังกล่าวสนับสนุนด้วยว่า “ฉันจำไม่ได้ว่าเคยรู้สึกเบื่ออาหารที่กินประจำบนสถานีอวกาศนะ”

บ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวของนักบินอวกาศ จะฝากอาหารของโปรดของพวกเขาขึ้นไปกับกระสวยอวกาศที่เดินทางไปเติมเสบียงด้วย ครั้งหนึ่งสามีของสต็อตต์เคยส่งลูกกวาดเคลือบดาร์กช็อกโกแลตที่ซื้อจากลอนดอนไปให้ เพื่อนนักบินอวกาศของเธอบางคนเคยได้รับไวน์และปลาแซลมอน ซึ่งพวกเขาก็แบ่งปันให้เพื่อนร่วมภารกิจคนอื่น ๆ ได้ชิมทั่วกันด้วย

แม้จะมีอาหารบางอย่างที่เหล่านักบินอวกาศได้แต่ฝันถึง พวกเขาก็สามารถอดใจรอเพื่อกินชดเชยให้หนำใจเมื่อกลับถึงโลกได้ เหมือนกับที่อเล็กซี ออฟชินิน นักบินอวกาศชาวรัสเซีย ได้แตงโมเป็นของขวัญต้อนรับกลับบ้าน ในทันทีที่สิ้นสุดภารกิจในอวกาศเมื่อปี 2016

ปัจจุบันนาซาและองค์การสำรวจอวกาศแคนาดา (CSA) กำลังเร่งวิจัยเพื่อคิดค้นและพัฒนาอาหารนักบินอวกาศแห่งอนาคต ซึ่งจะสามารถเก็บรักษาและใช้บริโภคได้ยาวนานสำหรับการเดินทางไกลสู่ห้วงอวกาศลึก

“ฉันคิดว่าน่าจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาให้เราได้ดูกัน อาหารของมนุษย์อวกาศในอนาคตอาจเป็นเหมือนยาเม็ดหรือฟองน้ำแห้งชิ้นเล็ก ๆ ที่จะขยายตัวจนกินได้เมื่อเติมน้ำเพียงเล็กน้อย” สต็อตต์กล่าว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว