ฝุ่นควันภาคเหนือ : ดินแดนที่เด็กและผู้ใหญ่ ไม่มีสิทธิเลือกอากาศบริสุทธิ์หายใจ

Narathon Netrakool / BBC Thai พวกเขาต้องสวมหน้ากากเกือบทั้งวัน เพื่อป้องกันฝุ่นพิษ

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กอายุ 3-5 ขวบ ทวีความเข้มข้นขึ้นในยามเช้า พร้อมกันกับคุณครูแห่งโรงเรียนอนุบาลสันทราย จ.เชียงใหม่ ที่เริ่มยืนประจำจุดที่ลานกิจกรรมของโรงเรียนตั้งแต่ 7.00 น. เพื่อตั้งแถวต้อนรับเด็กนักเรียนที่จะเข้ามาเรียนภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2566

ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ นอกเสียจากแสงประกายสีทองที่สาดเข้ามาตามร่มไม้อาคาร ที่ดูมีสีส้มแปลกตาเหมือนยามแรกรุ่งอรุณ แต่แสงอาทิตย์กลับขมุกขมัวไม่สดใสดังเคย พร้อมกับกลิ่นจาง ๆ คล้ายควันไฟเจือในอากาศอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ใบหน้าของนักเรียนแทบทุกคนมีหน้ากากหลากสีประดับอยู่

โรงเรียนอนุบาลสันทราย ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือเผชิญปัญหาหมอกควันปกคลุมมานานต่อเนื่องนับเดือน เฉลี่ยแล้วบางวันค่าฝุ่น PM 2.5 จะอยู่ที่ประมาณ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตัวเลขสีแดงปรากฏบนเครื่องฟอกอากาศ บ่งบอกว่า คุณภาพอากาศกำลังเข้าขั้นวิกฤต

“ผมชอบใส่หน้ากากครับ เพราะกลัวโควิด อีกอย่างคือฝุ่นเยอะ ควันไฟด้วยครับ ไม่งั้นเราจะไอจามแล้วก็มีน้ำมูกด้วย” น้องปังปอนด์ เด็กชายวัย 4 ขวบจากโรงเรียนอนุบาลสันทราย อธิบายถึงสาเหตุที่เขาต้องสวมหน้ากากแทบตลอดเวลาที่อยู่โรงเรียน อย่างไร้เดียงสา

Narathon Netrakool / BBC Thai

Narathon Netrakool / BBC Thai
หันไปทางไหน ก็พบแต่เด็กสวมหน้ากาก แต่ไม่ได้เน้นกันโควิด-19

โรงเรียนอนุบาลสันทราย เปิดการเรียนการสอนมากว่า 20 ปี สอนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล ไปจนถึงชั้นอนุบาล 3 บางคนเติบใหญ่เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และบางคนก็จบการศึกษาปริญญาตรีเป็นที่เรียบร้อย

Advertisment

แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากกระเป๋าบรรจุอุปกรณ์การเรียนการสอนแล้ว หน้ากากหลากหลายยี่ห้อกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่นักเรียนโรงเรียนอนุบาลสันทรายต้องพกติดตัว ด้วยผลพวงต่อเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 และคาบเกี่ยวมาถึงสถานการณ์หมอกควันที่ปกคลุมภาคเหนือในช่วงฤดูร้อนของทุกปี

ฝุ่นควันจะเริ่มปรากฎตั้งแต่เดือน ก.พ. ยาวไปจนถึงเดือน เม.ย. จนกระทั่งมีฝนแรกมาดับไฟ ฝุ่นควันจึงจะเบาบางลง

Advertisment

ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

พรพักตร์ จาตุพรประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสันทราย

Narathon Netrakool / BBC Thai
พรพักตร์ จาตุพรประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสันทราย

พรพักตร์ จาตุพรประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสันทราย เผยว่า ปัญหาฝุ่นควันเริ่มกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างหนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเจอปัญหา เธอพยายามหาวิธีบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน เพราะเป็นห่วงเด็กนักเรียนที่อยู่ในช่วงวัย 2-5 ขวบ ที่ร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ และระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง

ปัญหาหนึ่งที่ พรพักตร์ แก้ไม่ตก คือ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยที่ขาดช่วง เพราะการมาโรงเรียนของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นด้านวิชาการ แต่เป็นการฝึกเข้าสังคม และพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งหมายถึงการออกไปทำกิจกรรมนอกอาคาร

“แรกเริ่มเราก็ไปซื้อเครื่องฟอกอากาศมาติด จากหนึ่งเครื่องก็กลายเป็น 5 เครื่อง 10 เครื่อง ทุกวันนี้ที่โรงเรียนติดเครื่องฟอกอากาศกว่า 20 ตัวแล้ว ติดแทบทุกห้อง แต่ยังไงนักเรียนก็ต้องออกมาเดินไปทานข้าว หรือออกมาทำกิจกรรมหน้าเสาธงอยู่บ้าง ก็เลยมีการติดพัดลมไอน้ำเพื่อหวังให้อากาศชุ่มชื้นขึ้น”

ผู้ปกครองบางคนเล่าว่า มีความจำเป็นต้องพาบุตรหลานมาฝากไว้ที่โรงเรียน เพราะที่บ้านไม่มีคนเฝ้าดูแล และที่โรงเรียนมีเครื่องฟอกอากาศ รวมถึงพัดลมไอน้ำให้บริการ อย่างไรก็ตาม เด็กก็ยังคงต้องเจอฝุ่นควันจากการเดินทางไปโรงเรียน โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง

“ปีนี้คุณแม่รู้สึกว่ามันหนักมากจริง ๆ มองถนนแทบไม่เห็น หายใจลำบาก ออกกำลัง ไปข้างนอกก็ไม่ได้​” นิภาพร หน่อแก้ว แม่ของน้องปังปอนด์ นักเรียนชั้นอนุบาล 2 กล่าว

“ปกติน้องปังปอนด์ก็จะเป็นคนแข็งแรง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ว่าช่วงปีนี้รู้สึกว่าน้องจะไอมาก และมีผื่นนิดหน่อย เราก็ต้องหายาแก้ไอ หรือยาแก้แพ้มาทางเบื้องต้น”

ขณะที่ประหยัด เลี้ยงจรูญ คุณพ่อของน้องดีใจ เด็กหญิงวัย 4 ขวบเผยว่า ไม่เพียงแค่เด็ก แม้แต่ผู้ใหญ่ ช่วงโตเต็มวัยก็ยังรู้สึกเดือดร้อนกับสถานการณ์ฝุ่นควันที่รุนแรง

“อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ แค่เราขับรถมอเตอร์ไซค์ เรายังแสบตา พอเราส่งน้องเสร็จไปถึงที่ทำงาน ตรงข้างตาเรายังกลายเป็นสะเก็ด แล้วยิ่งถ้าเราไม่สวมแมสก็จะรู้สึกระคายคอ”

“ไปไหนมาไหนหมวกก็ต้องใส่ แมสก็ต้องใส่ปิดให้มิดชิด เรียกง่าย ๆ ว่าทุกวันนี้เราใช้ชีวิตเหมือนคนป่วยตลอดเวลา” เขากล่าว

ปัจจัยก่อให้เกิดฝุ่นควัน

ผศ.ดร. ว่าน วิริยา อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นควันของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือมีมานานแล้ว แต่ความเข้มข้นและรุนแรงไม่ได้หนักหนาเท่ากับสถานการณ์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

Narathon Netrakool / BBC Thai

Narathon Netrakool / BBC Thai
“เมื่อก่อนก็มีการเผา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ 10 ปีให้หลังที่เหตุการณ์หนักขึ้น เป็นเพราะมีประชากรเพิ่มขึ้น” ผศ.ดร. ว่าน

ผศ.ดร. ว่าน ชี้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดหมอกควันมีอยู่ 3 ประการ ส่วนแรกคือลักษณะภูมิประเทศที่กักขังการไหลเวียนของอากาศ เช่น ที่ราบแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา ดังเช่นลักษณะสัณฐานของแอ่งกระทะจังเชียงใหม่

ส่วนที่สอง คือ ภูมิอากาศ ซึ่งตามปกติอากาศร้อนจะลอยขึ้นสู่ที่สูงทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ แต่สถานการณ์ช่วงปัจจุบัน เกิดการผกผันของอุณหภูมิที่ชั้นบรรยากาศด้านบนมีอุณหภูมิสูง ทำให้อากาศไม่หมุนเวียน หรือปรากฎการณ์ฝาชีครอบต่ำ

ประการสุดท้ายนั้น ยังมีการเผาชีวมวล หรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ทำให้ฝุ่นควันถูกสะสมจนเกิดเป็นสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือช่วงปัจจุบัน สำหรับที่มาของฝุ่นควันจากการเผา มี 2 แหล่ง คือการเผาในประเทศ และฝุ่นข้ามพรมแดน

การเผาในประเทศและนอกประเทศ จะเป็นการเผาเศษวัสดุจากพืชหลัก 3 ชนิด คือ ข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีพืชอื่น ๆ ด้วย แต่ทั้ง 3 ชนิดนี้จะเกิดขึ้นมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเผาในพื้นที่ป่าไม้ผสมกัน

“เมื่อก่อนก็มีการเผา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ 10 ปีให้หลังที่เหตุการณ์หนักขึ้น เป็นเพราะมีประชากรเพิ่มขึ้น ตามพื้นที่สูงจึงเริ่มเผาตอข้าวโพดและวัสดุทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อให้ทันกับความต้องการ นอกจากนั้นก็เป็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”

“เมื่อปีสองปีที่แล้ว เกิดฝนตกช่วงหน้าร้อน ทำให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านถูกสะสมไว้ สุดท้ายพอปีนี้มันเกิดการเผาเต็มที่ โดยเฉพาะที่เมียนมาร์ และลาว สถานการณ์ฝุ่นควันจึงค่อนข้างสาหัส… ปีนี้ถือว่าความรุนแรงของหมอกควันที่ประชาชนภาคเหนือต้องเจอ ถือว่าสูงเป็นระดับต้น ๆ นับแต่มีการเก็บสถิติมา” ผศ.ดร. ว่านกล่าว

Chonsawat

Narathon Netrakool / BBC Thai
ผศ.ดร. ว่าน เปิดเครื่องวัดค่าฝุ่น Particle Counter AEROTRAK TSI พบว่า ค่าฝุ่นควันที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 PM ซึ่งในการตรวจวัดระยะเวลา 1 นาที มีค่าสูงถึง 4,153,419 อนุภาคต่อปริมาตรอากาศ 28 ลิตร ส่วน PM 1.0 มีค่าอยู่ที่ 93,908 อนุภาค

ความสูญเสียเผชิญซ้ำแล้วซ้ำอีก

เมือวันที่ 18 มี.ค. 2566 เป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่วงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมไทยต้องสูญเสีย รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านผึ้ง อาจารย์ประจำภาค วิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ และรุ่นพี่ที่ ผศ.ดร. ว่านเคารพรัก จากโรคมะเร็งปอด

รศ.ดร. ภาณุวรรณ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาชีววิทยา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2538 และสำเร็จการศึกษาระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา จาก Cardiff University สหราชอาณาจักร

“ถ้าพูดถึงเรื่องสุขภาพ อาจารย์ภานุวรรณเป็นคนที่รักษาและใส่ใจสุขภาพดีมากคนหนึ่ง และท่านเป็นคนที่เรียนจบด้านชีววิทยามาโดยตรง เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งจึงเริ่มมีการสืบสวนและค้นเบาะแสลักษณะทางพันธุกรรมไปถึงเครือญาติ แต่สุดท้ายก็ไม่พบความเกี่ยวข้อง” ผศ.ดร. ว่านเล่าย้อนถึงเหตุการณ์การสนทนากับ รศ.ดร. ภานุวรรณ ก่อนจะเสียชีวิต

“อาจารย์พูดกับผม โดยแทนตัวเองว่า นุ อาจารย์เล่าว่า ‘ว่าน… นุ (รศ.ดร. ภานุวรรณ) คิดว่า สาเหตุของมะเร็งเป็นเพราะฝุ่นควันจริง ๆ” ผศ. ดร. ว่านเอ่ยด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ก่อนนี้ ศ. นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์ จากหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยระบุว่า แนวโน้มการเสียชีวิตในช่วงที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงจากปี 2559-2562 เพิ่มขึ้นกว่า 200%

หลังจาก รศ.ดร. ภานุวรรณ ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอด ระยะที่ 3 โดยที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ หรือใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ แต่รศ.ดร.ภานุวรรณ มีประวัติความเสี่ยงเพียงปัจจัยเดียว คือเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่มีฝุ่นควัน PM 2.5 มาต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี

หลังจากตรวจพบโรคมะเร็ง รศ.ดร. ภานุวรรณ เริ่มพยายามรักษาตัวเอง พร้อมขับเคลื่อนด้านฝุ่นควันเคียงคู่กับ ผศ.ดร. ว่าน ไปด้วย แต่ในวันที่ 18 มี.ค. 2565 รศ.ดร. ภานุวรรณก็เสียชีวิตโดยสงบ

ศ.ดร.ภานุวรรณได้เริ่มพยายามรักษาตัวเอง พร้อมกับขับเคลื่อนด้านฝุ่นควัน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศ.ดร.ภานุวรรณได้เริ่มพยายามรักษาตัวเอง พร้อมกับขับเคลื่อนด้านฝุ่นควัน

“การสูญเสียอาจารย์ภานุวรรณ ถือเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของวงการวิชาการ ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นการสูญเสียผู้เชี่ยวชาญด้านผึ้งในระดับโลก”

“อาจารย์ท่านอยากให้ข้อมูลนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าใครจะเป็นคิวของมะเร็งคนต่อไป” ผศ.ดร. ว่าน กล่าว

ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ “ไม่ตลก”

สำหรับสถานการณ์ฝุ่นควันในภาคเหนือย้อนหลัง 7 วัน บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่วันที่ 24 จนถึง วันที่ 30 มีนาคม ค่าเฉลี่ยฝุ่นควัน (AQI) ของเมืองเชียงใหม่ ตามรายงานของเว็บไซต์ Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ รายงานว่า ค่าเฉลี่ยของฝุ่น 7 วัน อยู่ที่ 214 มคก./ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดเชียงราย ยิ่งมีความรุนแรงกว่าเชียงใหม่ โดยค่าเฉลี่ยของฝุ่น 7 วัน อยู่ที่ 341 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าค่าฝุ่นควันของเชียงใหม่ถึง 1.3 เท่า

Narathon Netrakool / BBC Thai

Narathon Netrakool / BBC Thai
“คนในพื้นที่เขาจะตายอยู่แล้ว” โกวิทย์ บุญธรรม

โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ศูนย์ภาคเหนือ ระบุว่า ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่มีคนบางกลุ่มนำไปโพสต์ข้อความเชิงตลกขบขันนั้น “ไม่ตลกเลย”​ ทั้งยังชี้ว่าคนในพื้นที่กำลังทุกข์ทรมานอย่างหนัก

“คนในพื้นที่เขาจะตายอยู่แล้ว แทบจะหายใจไม่ออก คนหาเช้ากินค่ำไม่ได้มีเงินซื้อหน้ากาก N95 แต่กลับต้องมาตากแดด และน้ำหูน้ำตาไหลเพราะแพ้อากาศ มันไม่ตลกเลย”

โกวิทย์ระบุว่า ค่าฝุ่นเฉลี่ยของวันที่ 24 ก.พ. นั้นสูงที่สุดในระดับประวัติการณ์เท่าที่กรมควบคุมมลพิษเคยตรวจวัดมา สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากลักษณะพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่ตั้งของอ.แม่สาย จะเป็นที่ราบแอ่งกระทะ ที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถรับลมจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งเมียนมา และลาว

โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

Facebook / โกวิทย์ บุญธรรม
โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

ทุนข้ามแดน : ที่มาของฝุ่นควัน

ทั้งนี้ ผศ.ดร. ว่านมองว่า รัฐบาลควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาฝุ่นควันมากกว่านี้ โดยส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหา คือการบริหารจัดการงบประมาณอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน

“งบประมาณที่รัฐบาลแบ่งมาเพื่อป้องกันไฟป่า ปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนว่าตอนนี้มันไปอยู่ที่ไหน ใช้ดับจริงไฟไหมหรือยังไง… แม้แต่การประกาศเป็นเขตภัยพิบัติก็ไม่ประกาศเพราะรัฐบาลบอกว่าอะไรหลายอย่างยังไม่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่เราต้องสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 มาเกือบเดือนแล้ว”

ทั้งนี้ ผศ.ดร. ว่าน มองว่า การจะแก้ไขปัญหาให้ได้ในระยะยาว คือกลไกการควบคุมบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกำหนดและบังคับใช้กฎหมายควบคู่กัน

“ทั้งบริษัทรายใหญ่ หรือบริษัทเล็ก หรือใครที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ต้องถูกจำกัดเพื่อไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ปลดปล่อยโดยตรง หรือเป็นการส่งเสริมทางอ้อม” ผศ.ดร. ว่าน สรุป

จากรายงานข้อมูลเรื่อง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์: การลงทุนข้ามพรมแดนและมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน” จากองค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย ที่เผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค. 2566 ระบุว่า “ในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย รัฐฉานของเมียนมา ภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ได้กลายเป็นศูนย์กลางของประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน”

กรีนพีซ ระบุว่า นี่เป็นผลพวงจากการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อขยายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งบ่อยครั้งมีการใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป

ผลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในรายงานดังกล่าวข้างต้น ยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่า จุดความร้อน (hot spot) ที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“กล่าวอีกนัยหนึ่ง การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแถบภาคเหนือของ สปป.ลาว และรัฐฉาน (เมียนมา) มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM 2.5”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว