เลือกตั้ง 2566: นักจิตวิทยาชี้คนใช้สิทธิเลือกตั้งล้นหลาม หากมีผู้สมัครที่เกลียดสุดขั้วอยู่ด้วย

Getty Images

ในที่สุดวันสำคัญที่พลเมืองไทยจะได้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็มาถึง หลายคนอาจหมายมั่นปั้นมือว่าจะลงคะแนนเลือกคนที่รักและพรรคที่ใช่ ซึ่งได้จากการกลั่นกรองและคิดไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้ว

แต่คุณมั่นใจหรือไม่ว่า ตัวเลือกของคุณนั้นมาจากเจตจำนงที่แน่วแน่ ซึ่งถูกกำกับด้วยเหตุและผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การตัดสินใจตามอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา หรือเลือกลงคะแนนแบบมีอคติ เพราะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางจิตวิทยาบางประการ

จอน ครอสนิก ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ บอกว่าปัจจัยทางจิตวิทยามีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองเป็นอย่างมาก “อันที่จริงแล้ว กระบวนการตัดสินใจทั้งหลายที่ดูเหมือนว่าจะใช้เหตุผลไตร่ตรองอย่างรอบคอบมาก่อน ล้วนเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึกที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้”

ผลการศึกษาหนึ่งของศ. ครอสนิก ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการเลือกตั้ง 24 ปี ในหน้าประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ชี้ว่าประชาชนจะไม่นอนหลับทับสิทธิ และมีความกระตือรือร้นอย่างสูงที่จะออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกันมากกว่าปกติ หากในหมู่ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมี “ดาวร้าย” หรือคนที่ประชาชนส่วนใหญ่เกลียดชังอย่างสุดขั้วรวมอยู่ด้วย

“แรงจูงใจที่กระตุ้นให้ผู้คนลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มาจากความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามหรือสิ่งเลวร้ายเป็นหลัก มากกว่าจะเกิดขึ้นจากโอกาสในการเลือกสรรสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง” ศ. ครอสนิกอธิบาย “ดังนั้นการมีผู้สมัครที่ประชาชนเกลียด จะทำให้คนออกไปใช้สิทธิกันมากกว่า เมื่อเทียบกับกรณีที่มีเพียงผู้สมัครยอดนิยม ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติอันดีงามโดดเด่นกว่าผู้อื่น”

ผลวิจัยของศ. ครอสนิกยังชี้ว่า ความต้องการในจิตใต้สำนึกของคนเราที่ปรารถนาจะมีความหวังและมองโลกในแง่ดี ทำให้คนส่วนมากมีทัศนคติต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหน้าใหม่ในเชิงบวกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับการใฝ่หาวีรบุรุษขี่ม้าขาวผู้มาช่วยให้รอดชีวิต หรือการไปพบคู่นัดบอดที่ตนเองเฝ้าหวังว่าจะมีเสน่ห์เป็นที่พึงพอใจของเรานั่นเอง

GETTY IMAGES

Getty Images

แต่หากในหมู่ผู้สมัครไม่มีทั้ง “พระเอก” และ “ดาวร้าย” ที่ชัดเจน จำนวนคนที่นอนหลับทับสิทธิไม่ไปลงคะแนนเสียงจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะประชาชนรู้สึกเฉื่อยชาขาดแรงจูงใจทางการเมืองทั้งในเชิงลบและเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม การสร้างภาพลักษณ์ที่ติดตาของผู้สมัคร ทั้งในตอนแรกเปิดตัวและในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง สามารถมีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เคยมีมาของประชาชนได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นบรรดานักการเมืองทุ่มงบโฆษณาไม่อั้น เพื่อเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ของคนเดิม ๆ ในช่วงเริ่มหาเสียงและช่วงใกล้วันลงคะแนน

ผลการศึกษาของศ. ครอสนิกพบว่า เทคนิคการสร้างภาพติดตาในนาทีสุดท้ายนี้ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยลืมเรื่องแย่ ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของนักการเมืองผู้นั้นได้ นอกจากนี้ การสาดโคลนหรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นผู้ร้ายในช่วงใกล้วันลงคะแนนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมทำกัน แต่ฝ่ายที่บ่อนทำลายภาพลักษณ์ของคู่แข่งจะต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตนเองดูแปดเปื้อนมากจนเกินไปด้วย

นอกจากปัจจัยทางจิตวิทยาอย่างเช่นความหวังและความกลัว ซึ่งเข้ามามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้ว เงื่อนไขบางอย่างเช่นสุขภาพและอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนในวันที่จะต้องไปใช้สิทธิ นับว่ามีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกและอยู่เหนือการใช้เหตุผลได้อย่างเหลือเชื่อ

GETTY IMAGES

Getty Images

โยเอล อินบาร์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโทรอนโตของแคนาดา ได้ทำการทดลองเพื่อตรวจสอบว่าความรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวเหมือนป่วยไข้ รวมทั้งความรู้สึกหวาดกลัว รังเกียจขยะแขยงต่อภาพที่เห็น กลิ่น หรือสิ่งนามธรรมบางอย่าง ส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่

ผลปรากฏว่าคนที่รู้สึกไม่สบายเหมือนกับป่วยในวันเลือกตั้ง มีแนวโน้มจะลงคะแนนให้ผู้สมัครที่รูปร่างหน้าตาดีและดูสดใสแข็งแรงมากกว่าคนอื่น ๆ ส่วนคนที่มักตื่นเต้นตกใจง่าย รวมทั้งคนที่อนามัยจัดและรู้สึกขยะแขยงต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย มีแนวโน้มที่จะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมทางการเมือง และได้รับอิทธิพลจากการปล่อยข่าวสาดโคลนฝ่ายเสรีนิยมหัวก้าวหน้าได้มากกว่า

ศ. อินบาร์ อธิบายว่า พฤติกรรมทางจิตวิทยาดังกล่าวเป็นผลมาจากวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ ซึ่งมุ่งสร้างนิสัยที่ส่งเสริม “ระบบภูมิคุ้มกันเชิงพฤติกรรม” (behavioral immune system) ทำให้มนุษย์คัดเลือกและเข้าหาคนที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วยจากมุมมองด้านสุขอนามัยโดยไม่รู้ตัว

มีรายงานว่าในช่วงต้นทศวรรษ 2010 นักการเมืองท้องถิ่นบางคนในสหรัฐฯ ถึงกับลงทุนวางแผนแอบป้ายกลิ่นเหม็นเหมือนขยะเปียกลงบนแผ่นพับและใบปลิวหาเสียงของคู่แข่ง เนื่องจากกลิ่นน่ารังเกียจจะส่งสัญญาณให้จิตใต้สำนึกของผู้ลงคะแนนเกิดการเชื่อมโยงว่า ผู้สมัครคนดังกล่าวเป็นสิ่งอันตรายที่ต้องหลีกให้ไกลห่าง

ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเมืองต่างลงความเห็นว่า นโยบายของพรรคที่โดดเด่นน่าสนใจ รวมทั้งความสามารถและสติปัญญาอันล้ำเลิศของผู้สมัคร ก็ยังไม่อาจจะสร้างการตัดสินใจลงคะแนนเสียงด้วยการไตร่ตรองใช้เหตุผลได้ทุกครั้ง เพราะในหลายกรณีมีอิทธิพลทางจิตวิทยาที่ซ่อนเร้นอยู่เข้ามาเป็นตัวแปรที่สำคัญด้วย


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว