โลกได้บริวารใหม่ “หินกึ่งดวงจันทร์” อยู่คู่กันมาตั้งแต่ 2,100 ปีก่อน

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2023 FW13 หินอวกาศที่อาจเป็นชิ้นส่วนของดวงจันทร์ และมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์แทบจะเหมือนกับโลก ทำให้มันมีสถานะเป็นวัตถุกึ่งดวงจันทร์ (quasi-moon) หรือหินที่มีสถานะกึ่งบริวารของโลก (quasi-satellite) ไปโดยปริยาย

ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร หรือมีขนาดเท่ากับรถยนต์เอสยูวีคันใหญ่จอดติดกัน 3 คัน โดยในขณะที่มันโคจรรอบดวงอาทิตย์เคียงคู่ไปกับโลกนั้น ดาวเคราะห์น้อยกึ่งดวงจันทร์บริวารยังโคจรรอบโลกด้วย โดยเคลื่อนตัวอยู่ห่างออกไปจากโลก 14 ล้านกิโลเมตร

ระยะห่างดังกล่าว ทำให้ดาวเคราะห์น้อย 2023 FW13 ได้รับอิทธิพลจากแรงดึงดูดของโลกน้อยมาก เมื่อเทียบกับดวงจันทร์ซึ่งมีความเป็นดาวบริวารอย่างเต็มตัว เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดโลกมากกว่าที่ระยะห่างเพียง 364,000 กิโลเมตร

มีการตรวจพบหินกึ่งดวงจันทร์บริวารนี้ครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ Pan-STARRS บนเขาสูงของหมู่เกาะฮาวาย จากนั้นมีการตรวจสอบและยืนยันการค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อีก 2 แห่งในสหรัฐฯ จนสหภาพดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ (IAU) ให้การรับรองและขึ้นทะเบียนดาวเคราะห์น้อย 2023 FW13 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา

ดร.เอเดรียน คอฟฟิเนต นักดาราศาสตร์คนแรกที่จัดประเภทให้ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีสถานะกึ่งบริวารของโลก ระบุว่า 2023 FW13 เป็นหินกึ่งดวงจันทร์บริวารที่อยู่ห่างไกลจากโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา ทั้งยังสันนิษฐานว่ามันอยู่คู่โลกมาตั้งแต่ 2,100 ปีก่อน และจะอยู่ในวงโคจรปัจจุบันไปจนถึงปีค.ศ. 3700 เป็นอย่างน้อย

Getty Images
Getty Images

อย่างไรก็ตาม ชาวโลกไม่ต้องกังวลว่าดาวเคราะห์น้อยนี้จะเกิดชนปะทะเข้ากับดาวเคราะห์ของเราในวันหนึ่ง โดย ดร.อลัน แฮร์ริส นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศ (SSI) ของสหรัฐฯ บอกว่าความเสี่ยงที่วงโคจรลักษณะนี้จะทำให้เกิดการชนปะทะอย่างกะทันหันนั้นแทบจะไม่มี

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2016 เคยมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่มีสถานะกึ่งบริวารของโลกมาแล้ว โดยได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาพื้นเมืองฮาวายว่า “คาโมโออาเลวา” (Kamo’oalewa) ซึ่งนักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่ามันอาจเป็นชิ้นส่วนของดวงจันทร์ที่หลุดออกมาเช่นกัน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว