ทำไมศรีลังกาขาดแคลนน้ำมันหนัก จนต้องหันไปพึ่งรัสเซีย-กาตาร์

Getty Images

ศรีลังกากำลังตกอยู่ในภาวะวุ่นวายจากปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษ ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องเดินทางไปขอซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียและกาตาร์

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้น หลังจากรัฐบาลศรีลังการะบุว่า น้ำมันสำรองในประเทศกำลังจะหมดลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และมีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก โดยรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลด้านพลังงานของศรีลังกาตั้งเป้าจะเจรจาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากทั้งสองประเทศในลักษณะของสัญญาสัมปทาน

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ศรีลังกาได้ซื้อน้ำมันดิบไซบีเรียโดยการเจรจาผ่านคนกลาง แต่รัฐบาลหวังว่าพวกเขาจะได้เจรจาเรื่องนี้กับรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน โดยตรง

เกิดอะไรขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งหลายฝ่ายชี้ว่าเลวร้ายที่สุดนับแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 นั้น มีสาเหตุมาจากปัญหาขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ศรีลังกาไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากต่างประเทศ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาไฟฟ้าดับต่อเนื่องครึ่งค่อนวัน ปัญหาขาดแคลนอาหาร และยารักษาโรค

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และออกมาประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศตั้งแต่เดือน เม..ที่ผ่านมา

 

แม้รัฐบาลศรีลังกาจะอ้างว่า การขาดแคลนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 คือสาเหตุที่ทำให้ประเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ แต่ประชาชนกลับมองว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นผลมาจากการการบริหารประเทศที่ผิดพลาดและการทำงานแบบระบบเครือญาติของพี่น้องตระกูลราชปักษาคือ ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษา ที่เพิ่งจะลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือน ..ที่ผ่านมาหลังจากเผชิญกระแสกดดันอย่างหนักจากประชาชน

ปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้รัฐบาลประกาศให้ลูกจ้างของรัฐทำงานจากบ้านอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่โรงเรียนและสถานศึกษาหลายแห่งในกรุงโคลัมโบและพื้นที่โดยรอบก็ปิดทำการมาร่วมหนึ่งสัปดาห์แล้ว

ตามปั๊มน้ำมันก็มีทหารคอยแจกคิวให้ประชาชนที่ไปต่อแถวรอเติมน้ำมันเชื้อเพลิงกันยาวเหยียดตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

Vehicles queue for diesel and petrol as they wait for a bowser, in Colombo

ที่มาของภาพ, Reuters

ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของศรีลังกาก็กำลังจะไม่มีเชื้อเพลิงสำหรับการเดินเครื่องจักรในการผลิตสินค้า

ด้านบริการขนส่งมวลชน ผู้ผลิตไฟฟ้า และผู้ให้บริการด้านการแพทย์ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มแรก ๆ ของผู้ที่จะได้รับน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ รัฐบาลศรีลังกายังมีการปันส่วนน้ำมันให้ท่าเรือและท่าอากาศยานด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ได้มากน้อยเพียงใด

ปัญหาขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศยังทำให้ศรีลังกาประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยศรีลังกามีหนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่สามารถชำระคืนได้ จึงขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetery Fund หรือ IMF) มาชำระหนี้เหล่านี้

ขณะนี้คณะเจ้าหน้าที่ของ IMF อยู่ระหว่างการเยือนศรีลังกาเพื่อหารือเรื่องแผนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้ศรีลังกาจะตั้งความหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนที่การเยือนของเจ้าหน้าที่ IMF จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ แต่ก็คาดว่าพวกเขาจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในทันที

……

ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว