ทินเดอร์: แอปหาคู่ออนไลน์ยกความปลอดภัยของผู้หญิงคือเรื่องสำคัญที่สุด

_126013702_gettyimages-1232289950-594x594.jpg
ที่มาของภาพ, Getty Images

ทินเดอร์ แอปหาคู่ออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกชี้ความปลอดภัยของผู้หญิงคือ “หัวใจ” ของบริษัท

ล่าสุดทินเดอร์เพิ่งจับมือกับกลุ่มรณรงค์ “โนมอว์” (No More) เพื่อหวังยุติความรุนแรงในครอบครัว

“งานเรื่องความปลอดภัยของเราไม่มีวันจบ” เรเนตา ไนบอร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงคนแรกของทินเดอร์กล่าว

ทว่ามูลนิธิยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงกล่าวว่านี่เป็นเพียง “ก้าวเล็ก ๆ” ในการพูดถึงปัญหาที่ผู้หญิงโดนข่มเหงบนโลกออนไลน์

ช่วงที่ผ่านมามีการตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ที่ส่อถึงความรุนแรงบนแพลตฟอร์มหาคู่นี้ โดยหลายฝ่ายกังวลว่าทินเดอร์ได้กลายเป็นแหล่งรวมเหล่านักล่าทางเพศ

ไนบอร์กวัย 36 ปี กล่าวว่า วิธีที่เธอใช้สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวคือการเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานผู้หญิงขึ้น 30% ในทีมพัฒนาสินค้า นับตั้งแต่เข้ามานั่งเก้าอี้ซีอีโอ ในเดือน ก.ย.2021

“ฉันคิดว่ามันมีความแตกต่างระหว่างการรับรู้ว่าอะไรสำคัญ กับการรู้สึกมันจริง ๆ” เธอบอกกับบีบีซี

“ในฐานะผู้หญิง ฉันนับประสบการณ์ที่ตัวเองไม่ต้องการพบเจอแทบไม่หมด ตั้งแต่วิธีที่คนเรียกคุณ ไปจนถึงวิธีที่คนในที่ทำงานปฏิบัติกับคุณ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่คุณกำลังเดตกับใครบางคน”

“ฉันคิดว่าผู้หญิงที่ฉันเคยพูดคุยด้วยมีประสบการณ์เหล่านี้ และฉันคิดว่ามันเป็นประโยชน์ที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงมากขึ้น”

เรเนตา ไนบอร์ก

ข่มขู่ ข่มขืน

แอนเดรีย ไซมอน ผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์ พันธมิตรยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่แอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์อย่างทินเดอร์ต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกในการพูดถึงการเอาเปรียบเหล่านี้

“แอปหาคู่เป็นวิธียอดนิยมที่ผู้คนใช้ในการพบเจอคนใหม่ ๆ” เธอกล่าว “แต่มันมีด้านที่น่าเป็นกังวลเมื่อเหล่านักล่าทางเพศใช้ช่องทางตรงนี้ในการหลอกล่อเหยื่อ จนนำไปสู่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของคดีข่มขืนที่เกิดจากการใช้แอป”

“ฟีเจอร์ใหม่ด้านความปลอดภัยบนทินเดอร์เป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ในการส่งเสริมให้มีการรายงานการล่วงละเมิดต่าง ๆ ทว่านี่ยังไม่เพียงพอในการพูดถึงการคุกคามที่จะข่มขืน”

“บริษัทเทคโนโลยีอย่างทินเดอร์ได้กำไรจากรูปแบบธุรกิจที่มองข้ามจุดบอดที่แพลตฟอร์มเอื้อให้เกิดการเอาเปรียบเหล่านี้”

“เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของผู้ใช้งาน”

รักแรกปัด

หลายฝ่ายหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างทินเดอร์และโนมอว์จะช่วยเพิ่มความสนใจให้เรื่องน่ากังวลเหล่านี้ได้มากขึ้น

เป้าหมายของความร่วมมือคือการพัฒนาโครงการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการเดตสำหรับผู้ใช้งานแอป

นอกจากนี้กลุ่มโนมอว์ยังจะให้การฝึกพนักงานของทินเดอร์เช่นเดียวกัน

นางไนบอร์กกล่าวว่า “เราเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การปัดครั้งแรก”

“วิธีที่คุณมีปฏิสัมพันธ์กับใครคนหนึ่ง ตั้งแต่ข้อความแรก อาจเป็นการตั้งแนวโน้มความสัมพันธ์ของคุณได้เลย”

การเดตออนไลน์

น.ส.พาเมลา ซาบัลลา ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มโนมอว์ โกลบอล กล่าวกับบีบีซีว่า “ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่ทินเดอร์ต้องทำให้มั่นใจว่าพวกเขาให้ความรู้กับผู้ใช้งาน ไม่ใช่แค่ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงต่อพฤติกรรมแย่ ๆ”

“เรากำลังเจอกับความขัดแย้งในโลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่าคนที่เดตออนไลน์ได้รับความปลอดภัย และนั้นเริ่มต้นจากการให้การศึกษา”

“เราเข้าใจความยากลำบากที่ผู้หญิงต้องเจอ นั่นเป็นปัญหาที่เราจัดการอยู่ แต่ฉันคิดว่าความปลอดภัยต้องเป็นประเด็นที่ทินเดอร์ให้ความสำคัญมากที่สุด ไม่ใช่แค่กับผู้หญิงแต่กับทุกคนที่ใช้แอป”

แอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์ไม่ถูกบังคับทางกฎหมายให้ต้องดูแลผู้ใช้งาน

กลุ่มรณรงค์จำนวนมากออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงประเด็นความรุนแรงที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญผ่านการใช้ พ.ร.บ.ควารมปลอดภัยออนไลน์ [กฎหมายในสหราชอาณาจักร]

ข้อความอันตราย

ทินเดอร์ออกหลายฟีเจอร์ความปลอดภัยในช่วงปีที่ผ่านมา

ข้อความที่มีความรุนแรงหรืออันตรายจะถูกลบโดยอัตโนมัติ โดยจะมีคำถามแจ้งไปที่ผู้ส่งข้อความว่า “คุณแน่ใจนะ” ขณะที่ผู้รับจะได้คำถามว่า “นี่ทำให้คุณลำบากใจหรือเปล่า”

“เราเห็นตัวเลขของผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 50% ที่รายงานสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบ” ไนบอร์กกล่าวกับบีบีซี

“คุณแน่ใจนะ” ช่วยลดข้อความที่ไม่เหมาะสมลงได้ราว 10% ตามข้อมูลจาก แมช กรุ๊ป บริษัทซึ่งเป็นเจ้าของทินเดอร์, เว็บไซต์ match.com, มีทิก, โอเคคิวปิด, ฮินจ์ และ เพลนตีออฟฟิช

“เราลงทุนกับความเชื่อใจของผู้ใช้งาน เครื่องมือที่ช่วยเรื่องความปลอดภัย และเทคโนโลยีมาเสมอ” ไนบอร์ก กล่าว

“ทว่านับตั้งแต่ฉันเป็นซีอีโอ ความทำให้ความเชื่อใจและความปลอดภัยเป็นหัวใจในการทำการตลาดหลายอย่างของเรา”

ปุ่มตระหนก

ในสหรัฐอเมริกา แอปพลิเคชันทินเดอร์มีฟีเจอร์ตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่คุณกำลังจะไปเดตด้วย ผ่านความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร การ์โบ (Garbo)

เครือข่ายระดับชาติที่ต่อต้านการร่วมประเวณีในเครือญาติ การข่มเหง และการข่มขืน ได้พัฒนาวิธีการแจ้งว่าพบบุคคลที่เคยเป็นผู้ล่วงละเมิดระหว่างกระบวนการจับคู่กัน

ผู้ใช้งานยังสามารถใช้ปุ่มตระหนกและมีการเปิดให้ยืนยันตัวตนในประเทศที่กฎหมายอนุญาต

“เราประทับใจอย่างมากกับการใช้งานฟีเจอร์ยันยันตัวตน”

“ในเดือนที่มีการเปิดใช้งานระบบดังกล่าว เราเห็นว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใช้งานเลือกยืนยันตัวตนพวกเขาเอง มันเป็นเรื่องวิเศษมาก มันคือฟีเจอร์แห่งความปลอดภัย”

ทว่าสำหรับ ดาร์เรียน ดักลาส วัย 24 ปี ผู้พบแฟนหนุ่มของเธอจากแอปทินเดอร์ กล่าวว่าควรมีการบอกถึงฟีเจอร์ความปลอดภัยเหล่านี้ให้เด่นชัดกว่านี้

“การบอกว่า ‘เราจะทำให้พวกคุณได้รับความปลอดภัยจริง ๆ’ อาจทำให้ผู้ใช้งานใช้บริการแอป ดังกล่าวนานขึ้น และพวกเขาอาจรู้สึกสบายใจที่จะออกไปพบปะผู้คนอย่างที่ปกติแล้วพวกเขาจะไม่ทำ” เธอบอก

“ฉันบอกครอบครัวหรือเพื่อนเสมอว่าฉันกำลังจะไปที่ไหน”

“ฉันจะพูดว่า ‘ถ้าฉันไม่ติดต่อกลับไปภายในสองสามชั่วโมง ตามหาฉันนะ’ เพราะฉันคิดว่า ยังไงก็ตาม ฉันได้ยินเรื่องทำนองว่าเดตไปไม่สวยแล้วนำไปสู่เรื่องน่ากลัว ๆ จำนวนมาก”

“ปกป้องตัวเอง”

ลิซซี แอตคินสัน วัย 27 ปี สาวอังกฤษ เจอคู่ของเธอจากทินเดอร์

“ฉันไม่เคยคิดถึงฟีเจอร์ความปลอดภัยในทินเดอร์เลย เพราะฉันคิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง” เธอกล่าว

“ฉันจะมีขั้นตอนความปลอดภัยของตัวเองเสมอ สิ่งที่จะช่วยปกป้องฉันได้ เช่นการบอกเพื่อนว่า ‘ฉันกำลังจะไปเดต นี่คือสถานที่นะ'”

ดิมโฟ เทปา วัย 24 ปี ผู้เคยมีประสบการถูกข่มขู่ทางคำพูดขณะที่ใช้แอป ทินเดอร์ ในบ้านเกิดในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เห็นด้วยกับ น.ส.แอตคินสัน

“ในฐานะผู้หญิง คุณพยายามที่จะปกป้องตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ” เธอกล่าวกับบีบีซี

“ก่อนฉันจะไปเดต ฉันต้องบอกเพื่อนอย่างน้อยสองคน และฉันจะมีรหัสเสมอ”

“ฉันยังต้องมีการระบุที่อยู่ตามเวลาจริงบนวอตส์แอปป์ มีอะไรให้ต้องจัดเตรียมเต็มไปหมด”

พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ข้อมูลจากหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักรพบการเพิ่มขึ้นของเหยื่อเพศหญิงจากการเดตออนไลน์ มีรายงานถึงการล่วงละเมิดทางเพศในผู้หญิงที่อายุ 19 ปีลงมา

งานวิจัยจากสารคดีของบีบีซีทรีเรื่อง “ความลับอันตรายจากการเดต” เผยว่า

  • 37% ของผู้ใช้งานแอปพลิเคชันหาคู่รายงานว่าพวกเขาเจอกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • 63% รู้สึกไม่สบายใจกับการไปเดตที่เริ่มต้นมาจากแอปพลิเคชันหาคู่
  • 33% มีประสบการณ์ถูกละเมิดและข่มเหงจากเดตเหล่านั้น

ผู้หญิงวัยสาวจำนวนมากกังวลกับการพบเจอผู้คนในชีวิตจริง น.ส.อเล็กซี เยอรมนี ผู้ฝึกสอนด้านการเดตและผู้จัดหาคู่กล่าวว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาได้รับคำเชิญให้ไป ‘ดูเน็ตฟลิกซ์ชิว ๆ กัน’ และอะไรทำนองนั้น”

เธอให้คำแนะนำว่า

  • เดตแรกให้เจอในที่สาธารณะ
  • อย่าให้ใครมารับคุณ
  • อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ของคุณ
  • บอกให้คนใกล้ตัวคุณรู้ว่าคุณกำลังไปที่ไหน
  • เปิดระบบระบุที่อยู่ตามเวลาจริงเอาไว้ในโทรศัพท์ของคุณ

ในเวลาเดียวกัน นางไนบอร์กย้ำว่าความปลอดภัยดังกล่าวจะทำให้ทินเดอร์สามารถแข่งกับคู่แข่งรายอื่น ๆ และทำให้ผู้ใช้งานเลือกใช้แอป

“มันจะให้ความรู้สึกพิเศษหรือเป็นโครงการเสริมไม่ได้ มันต้องเป็นหัวใจของพันธกิจขององค์กร”

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว