รัฐประหารเมียนมา : การประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว เพื่อปชต. คือ ผลงานล่าสุดของ มิน อ่อง หล่าย

หลังผู้นำทหารเมียนมาสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการ “ก่อการร้าย” สหประชาชาติก็ประณามการประหารชีวิตครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ “เลวทรามต่ำช้า”

การลงโทษด้วยการประหารเป็นมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลมหารของเมียนมาใช้ดำเนินการเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างนับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อ ก.พ. 2021

ใครบริหารประเทศ

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ เป็นผู้กุมอำนาจบริหารประเทศ

เขาและคณะทหารของเขา เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ หลังจากขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

เขาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ได้ให้คำมั่นว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งที่ “เสรีและยุติธรรม” ในอนาคต

Min Aung Hlaing, pictured in 2018

ที่มาของภาพ, Getty Images

ตั้งแต่นั้นมา พล.อ.มิน ออง หล่าย ได้ถูกประณามและคว่ำบาตรจากนานาประเทศต่อบทบาทของทหารในการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน และการโจมตีชนกลุ่มน้อย

สมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง (The Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) กล่าวว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงของระบอบการปกครองนี้ได้สังหารผู้คนไปแล้วกว่า 2,100 คนนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร

รัฐบาลทหารและศาลยังได้กำหนดโทษจำคุกหลายคดีกับนางออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำพลเรือนของประเทศ

ผู้ถูกประหารทั้ง 4 มีใครบ้าง

นักเคลื่อนไหวชาย 4 คนถูกประหารชีวิตหลังการพิจารณาลับ พวกเขาถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือผู้ก่อความไม่สงบในการต่อสู้กับกองทัพเมียนมา

หนึ่งในนั้นได้แก่ ก่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ก่อ จิมมี และ นายเพียว เซยาร์ ตอ อดีตสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)

Kyaw Min Yu, one of the leaders of the 88 Generation Students Group, talks to reporters during the group's press conference in Yangon, Myanmar January 21, 2012.

ที่มาของภาพ, Reuters

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “อีกหนึ่งตัวอย่างของความโหดร้ายทางด้านสิทธิมนุษยชนของเมียนมาที่ต้องถูกบันทึกไว้” นอกจากชายทั้ง 4 ที่ถูกประหารไปแล้ว ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่ามีผู้ต้องขังอีกร่วม 100 คน ที่รอการประหารชีวิต หลังถูกตัดสินในความผิดที่คล้ายคลึงกันไปก่อนหน้านี้

รัฐบาลทหารมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อฝ่ายต่อต้าน

หลังการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว นักเคลื่อนไหวฝ่ายเห็นต่างได้ก่อตั้งขบวนการอารยขัดขืนเพื่อต่อต้านรัฐประหาร (Campaign for Civil Disobedience) หรือ CDM และได้จัดการนัดหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศและมีประท้วงจำนวนมาก

ทหารได้ตอบโต้ผู้ประท้วงด้วยการยิงด้วยกระสุนปืนจริง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง

กองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่นที่เรียกตัวเองว่ากองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defence Forces) หรือ PDF ได้โจมตีขบวนรถทหารและลอบสังหารเจ้าหน้าที่

รัฐบาลได้ดำเนินการตอบโต้อย่างรุนแรง รวมถึงการทรมานและการสังหารพลเรือน 40 คนในจังหวัดสะกาย ของเมียนมา

ทำไมรัฐบาลทหารถึงจองจำออง ซาน ซู จี

ออง ซาน ซู จี กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในทศวรรษ 1990 จากการรณรงค์เพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991

ในปี 2015 เธอนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งที่มีผู้แข่งขันอย่างเปิดเผยครั้งแรกของเมียนมาในรอบ 25 ปี

อย่างไรก็ตาม ทหารขับไล่เธอออกจากอำนาจการปกครองด้วยการทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก. พ. 2021 และกุมขังเธอไว้ที่บ้าน

Myanmar's State Counsellor Aung San Suu Kyi attends the joint news conference of the Japan-Mekong Summit Meeting at the Akasaka Palace State Guest House in Tokyo, Japan 9 October 2018.

ที่มาของภาพ, Reuters

มิน อ่อง หล่าย สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านซึ่งเรียกร้องให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยอ้างว่าเกิดการโกงเลือกตั้งขึ้นทั่วเมียนมา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งกล่าวว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหานี้

ในเดือน เม.ย. 2022 นางออง ซาน ซู จี วัย 76 ปี ถูกตัดสินจำคุก 5 ปีในข้อหาทุจริต จากการพิจารณาคดีอย่างลับ ๆ

ก่อนหน้านี้ เธอถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการของประเทศ ครอบครองเครื่องส่งรับวิทยุที่ผิดกฎหมาย และเผยแพร่ข้อมูลที่อาจ “ก่อให้เกิดความหวาดกลัวหรือตื่นตระหนก”

เธอยังคงถูกตั้งข้อหาทุจริตอีก 10 กระทง โดยแต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

Reuters

นานาประเทศตอบสนองอย่างไรต่อรัฐบาลทหาร

องค์การสหประชาชาติได้เตือนถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมา ซึ่งก่อให้เกิด “ความรุนแรงที่ทวีคูณขึ้นและความยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารของเมียนมา

เกร็ดความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเมียนมา

เมียนมา เดิมชื่อว่าพม่า ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรหมแดนประเทศติดกับกับไทย ลาว บังคลาเทศ จีน และอินเดีย

มีประชากรประมาณ 54 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือย่างกุ้ง แต่เมืองหลวงอยู่ที่กรุงเนปิดอว์

Short presentational transparent line

เมียนมาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948 หลังจากนั้นถูกปกครองโดยกองทัพมาตั้งแต่ปี 1962-2011 ต่อจากรัฐบาลชุดใหม่เริ่มนำประเทศกลับไปสู่การปกครองโดยพลเรือน

กองทัพผู้ปกครองประเทศเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่าเป็นเมียนมาในปี 1989 และมีการใช้ชื่อ “เมียนมา” มากขึ้นตั้งแต่นั้นมา

ศาสนาหลักคือพุทธศาสนา มีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมอาศัยมากมายในประเทศ รวมทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญา

ชาวโรฮิงญาหลายพันคนถูกสังหาร และมากกว่า 700,000 คน หนีไปบังกลาเทศ หลังจากการปราบปรามโดยกองทัพในปี 2017

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว